ดึงความสนใจให้อยู่ เมื่อทำโฮมสคูลกับลูก ADHD
โรคสมาธิสั้น Attention-deficit hyperactivity disorder หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ADHD เป็นภาวะความบกพร่องของสมอง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก 3 ด้านหลักๆ คือ
- ขาดสมาธิต่อเนื่อง
- ซนมากกว่าปกติ หรืออยู่ไม่นิ่ง
- ขาดการยั้งคิด หรือหุนหันพลันแล่น
เด็กๆ ที่มีภาวะสมาธิสั้น มักมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อไปโรงเรียน กฏระเบียบต่างๆในโรงเรียนที่ไม่ยืดหยุ่น อาจทำให้เด็ก ADHD ปรับตัวได้ยาก ถูกเพื่อนล้อ เสียความมั่นใจ ไม่มีความสุขในการเรียน โฮมสคูลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กๆ ที่มีภาวะ ADHA กลับมาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ อย่างไรก็ตามการดึงดูดความสนใจเด็ก ADHD อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสมาธิที่มีจำกัด และธรรมชาติของเด็กที่มักอยู่ไม่นิ่ง พ่อแม่จะรับมือลูกที่มีภาวะ ADHD อย่างไรให้การทำโฮมสคูลประสบความสำเร็จ เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
เข้าใจธรรมชาติ ADHD
โรคสมาธิสั้นหรือ ADHD เป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด ในประเทศไทยได้มีการสำรวจเด็กชั้นประถมในเขตกรุงเทพฯ พบว่ากลุ่มเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีถึงร้อยละ 5.01 จึงประมาณได้ว่าหากในห้องเรียนที่มีนักเรียน 40-50 คน จะมีเด็กสมาธิสั้นอยู่ 2 คน ส่วนใหญ่พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม สภาพแวดล้อมขณะตั้งครรภ์ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สำหรับการเลี้ยงดู เช่น ให้ดูหน้าจอมากเกินไป แม้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักแต่ทำให้อาการสมาธิสั้นเป็นมากขึ้นได้
ลักษณะอาการที่สำคัญของเด็กที่มีภาวะ ADHD ประกอบด้วย
- ขาดสมาธิ (Inattention) มักมีอาการเหม่อ วอกแวกตามสิ่งเร้าต่างๆ ได้ง่าย หลงๆ ลืมๆ ทำงานไม่เรียบร้อย ทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ
- อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ซน ชอบปีนป่าย เล่นแรง เสียงดัง นั่งนิ่งๆ ไม่ได้นาน ชอบชวนเพื่อนคุยในห้องเรียน เมื่อเป็นวัยรุ่นอาการอาจลดลงเหลือเพียง อาการยุกยิก ขยับแขนขยับขาบ่อยๆ
- หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ใจร้อน วู่วาม ขาดสติ อดทนรอคอยไม่ได้ ในห้องเรียนอาจโพล่งตอบคำถามทั้งที่ยังฟังคำถามไม่จบ ชอบพูดแทรก หรือแย่งเพื่อนเล่นเพราะรอคอยไม่เป็น
การเข้าใจลักษณะอาการสำคัญของเด็ก ADHD จะช่วยให้พ่อแม่ เข้าใจธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้ และเข้าใจว่า เพราะอะไรลูกถึงมีปัญหาที่โรงเรียน และการทำโฮมสคูลจะช่วยลูกได้อย่างไร
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เด็ก ADHD มักขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น แต่กฏระเบียบต่างๆ ในโรงเรียน การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนจำนวนมากๆ อาจยิ่งเป็นการกระตุ้นอาการของลูกให้กำเริบ การเรียนรู้ท่ามกลางสิ่งเร้าที่ไม่อาจควบคุมได้ นอกจากทำให้เด็ก ADHD ไม่ได้รับความรู้อย่างที่ควรแล้ว เด็ก ADHD ยังอาจรู้สึกแปลกแยกกับสังคมในโรงเรียน กลายเป็นปมปัญหาที่ส่งผลให้เด็กต่อต้านการเรียนรู้ เพราะอาการ ADHD จะเป็นมากขึ้นเมื่อเด็กต้องทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ หรือมีสิ่งเร้ามากเกินไป ซึ่งการทำโฮมสคูล พ่อแม่สามารถจำกัดสิ่งเร้าและจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับลูกได้
รับมือให้อยู่ เมื่อทำโฮมสคูลกับลูก ADHD
การทำโฮมสคูลเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหลายๆ ครอบครัว ยิ่งเป็นการทำโฮมสคูลสำหรับลูกที่มีภาวะ ADHD พ่อแม่อาจต้องเตรียมตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะยากเกินไป เพราะคงมีใครรู้จักลูกได้ดีกว่าตัวเราอีกแล้ว เพื่อให้การทำโฮมสคูลกับลูก ADHD ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น เรามีเคล็ด(ไม่)ลับ ดึงดูดความสนใจลูก ADHD ให้อยู่หมัดมาฝากค่ะ
- เรียบง่ายไม่ซับซ้อน : สั่งงานลูกครั้งละ 1 อย่าง ใช้คำสั่งที่เรียบง่าย ชัดเจน ลองปรับแผนการสอนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูก
- ทวนคำสั่ง : ให้ลูกทวนคำสั่งให้ฟังทุกครั้ง เพื่อช่วยให้จดจำได้ดีขึ้น อาจให้ลูกจดคำสั่งหรืออัดเสียงคำสั่งไว้เปิดฟังด้วยก็ได้
- เริ่มจากสิ่งที่ไม่ชอบ : วิชาที่ลูกไม่ชอบ จำเป็นต้องใช้พลังแรงใจอย่างมากในการเรียนรู้ จึงควรเรียนเป็นสิ่งแรกของวัน วิธีนี้ช่วยลดความวิตกกังวล และทำให้ลูกมีสมาธิสำหรับการเรียนรู้อื่นๆ ต่อไปได้ดีกว่า
- เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสหลากหลาย : ให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ แทนที่จะนั่งเก้าอี้ อาจให้เด็กๆ นั่งบนลูกบอลออกกำลังกาย หรือมี Squishy นุ่มนิ่มไว้ให้ลูกบีบเล่น ขณะเรียนหนังสือ หากเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ อาจให้ลูกออกท่าทางประกอบคำศัพท์เหล่านัั้น
- พักเบรคบ่อยๆ : ช่วงแรก พ่อแม่อาจต้องสังเกตว่าลูกมีสมาธิจดจ่อได้นานแค่ไหน วิชาที่ชอบอาจตั้งใจได้นานเกือบชั่วโมง แต่วิชาที่ไม่ชอบ 15 นาทีอาจนานเกินไป ค่อยๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูก
- เลือกวิธีจับเวลา : บางครั้งการใช้นาฬิกาที่มีเข็มนาฬิกาเดินส่งเสียง ติ๊กๆๆ อาจรบกวนสมาธิลูก ลองเปลี่ยนเป็นนาฬิกาดิจิตอล หรือนาฬิกาทราย ที่ไม่มีเสียง ไม่มีตัวเลข ก็อาจช่วยให้ลูกมีสมาธิได้นานขึ้น
- ดูแลเรื่องอาหาร : จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รักษากิจวัตรประจำวัน : พยายามรักษากิจวัตรประจำวัน ไม่สลับกิจกรรมไปมา เพราะการที่ได้รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ช่วยให้เด็กๆ ลดความหงุดหงิด สับสน ทำให้จัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
- สภาพแวดล้อมสะอาดสงบ : ดูแลสภาพแวดล้อมบริเวณที่ลูกใช้เรียนหนังสือให้สะอาด สงบ ปราศจากเสียงและสิ่งรบกวนต่างๆ ไม่วางข้าวของรกรุงรัง อาจเปิดเสียงเพลงบรรเลงเบาๆ ขณะทำการเรียนการสอน เพื่อกลบเสียงจากภายนอก ช่วยให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ครอบครัวโฮมสคูลจำเป็นต้องค่อยๆ ทดลอง เรียนรู้ ไปพร้อมๆ กับลูก คำแนะนำข้างต้น อาจใช้เป็นแนวทาง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูกได้ เพราะเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เข้าใจและยอมรับธรรมชาติของลูก ก็จะทำให้การทำโฮมสคูลประสบความสำเร็จได้ค่ะ
Related Courses
ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่ามีอาการของโรคหรือไม่ หากส ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ