รับมืออย่างไรเมื่อลูกเข้าสังคมไม่ได้
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะการดำรงอยู่ของมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ถึงแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีอยู่ในฝ่ามือ เพียงกดสมาร์ทโฟนไม่กี่ที ก็สั่งอาหาร ทำธุรกรรมทางการเงิน หรือรับรู้ข่าวสารได้ทั่วโลก แต่กระนั้น การพบปะผู้คน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงในแง่ของการพึ่งพาอาศัยกันเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเติมเต็มความสุขภายในจิตใจด้วย
แต่ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์สังคม ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความสามารถในการเข้าสังคมได้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเด็กบางกลุ่ม ที่อาจรู้สึกอึดอัด แปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม พ่อแม่จะสามารถช่วยเด็กๆ รับมือได้อย่างไรบ้าง เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ
ทักษะสังคม เมื่อเรื่องง่ายกลายเป็นยาก
ทักษะสังคม คือ การใช้ภาษาพูด ภาษากาย สีหน้าท่าทาง เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราต้องการออกไปให้อีกฝ่ายรับทราบ ผู้ที่มีทักษะทางสังคม มักรู้ว่าในสถานการณ์ใดควรวางตัวอย่างไร เลือกใช้น้ำเสียง สีหน้าท่าทางได้เหมาะสม ทักษะสังคม มีความสำคัญ เนื่องจาก ช่วยให้บุคคลมีสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน นำไปสู่การช่วยเหลือในด้านต่างๆ สายสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิด ยังเติมเต็มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทักษะการเข้าสังคม อาจไม่ราบรื่นเสมอไป อาจมีความเข้าใจผิด หรืออุปสรรคต่างๆ ซึ่งความเห็นอกเห็นใจ โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งถือเป็นทักษะทางสังคมอีกประการ ก็จะช่วยแก้ปัญต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้
การมีทักษะทางสังคมที่ดี จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม เด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีภาวะอาการออทิสซึ่ม (Autism Spectrum Disorder) มีภาวะวิตกกังวล หรือเป็นโรคซึมเศร้า อาจประสบปัญหาการเข้าสังคม และจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ พ่อแม่อาจสังเกตอาการเบื้องต้น ว่าลูกของเรามีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมหรือไม่ ดังนี้
- ไม่สบตา หรือสายตาวอกแวกขณะสนทนา
- ไม่สามารถรอให้คู่สนทนาพูดจบได้ มักพูดแทรกเป็นประจำ
- มีปัญหากับการใช้ภาษากาย เช่น ยืนใกล้เกินไป หรือยืนห่างเกินไป
- ไม่เข้าใจการใช้คำสุภาพ เช่น ขอบคุณครับ/ค่ะ สวัสดีครับ/ค่ะ
- เริ่มหรือจบบทสนทนาอย่างเหมาะสมไม่ได้
- ไม่สนใจสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูด
- ไม่เข้าใจมุกตลกต่างๆ
- พูดด้วยระดับความเร็ว ความถี่ โทนเสียงที่ผิดปกติ เช่น พูดเร็วไม่เว้นวรรค หรือพูดช้ามากๆ
- ไม่เข้าใจโทนเสียงที่แตกต่าง ไม่สามารถอ่านความรู้สึกจากสีหน้าของคนอื่นได้
- ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และตอบสนองอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบ
- ขาดความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- ไม่เข้าใจผลที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
Anti-Social เรื่องธรรมดาหรือน่ากังวล
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่มักสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากที่เคยคลุกคลีใกล้ชิด ก็เริ่มเก็บตัว โลกส่วนตัวลูกอยู่แต่ในห้อง จากที่เคยตื่นเต้นเวลาไปพบญาติๆ ปู่ย่าตายาย ก็กลายเป็นหงุดหงิด ต่อต้าน ไม่อยากไป จนพ่อแม่อาจเริ่มกังวลว่าลูกมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม จะว่าไปแล้ว เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กๆ ส่วนใหญ่ มักเริ่มมีความเป็นส่วนตัว ทำให้พ่อแม่อาจรู้สึกว่าลูกเริ่มตีตัวออกห่าง จากเคยนั่งล้อมวงคุยกัน ก็ดูเหมือนว่าลูกจะเก็บตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ตราบเท่าที่เด็กๆ ยังสดใสร่าเริง และพฤติกรรมโดยรวมอื่นๆ ไม่เปลี่ยนจากเดิมจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีความก้าวร้าวรุนแรง ก็ไม่ถือว่าลูกมีอาการต่อต้านสังคมแต่อย่างใดค่ะ
พฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือ Anti-social จริงๆ ไม่ใช่แค่การปลีกตัวออกจากสังคม แต่หมายถึงผู้ที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ฉุนเฉียว โกรธง่าย ใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาต่างๆ รวมถึงมีพฤติกรรมเชิงลบ เช่น โกหก ทำลายข้าวของ และมีพฤติกรรมบูลลี่ โดยพฤติกรรมเหล่านี้ อาจพบได้ตั้งแต่วัยอนุบาลและรุนแรงตามวัยที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น พ่อแม่ติดยา ดื่มเหล้า ความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเป็นโรคซึมเศร้า ความสัมพันธ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ปัญหาความยากจนที่ทำให้เกิดความเครียดตั้งแต่เด็ก
ผู้ที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ควรได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ทั้งนี้มีการศึกษาที่พบว่า ความรักความอบอุ่น การสร้างระเบียบวินัยที่สมเหตุสมผล ส่งผลเชิงบวกต่อเด็กๆ ทำให้พวกเขาสามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีและพัฒนาทักษะทางสังคมที่เหมาะสมได้
ช่วยอย่างไรดี ถ้าลูกไม่มีเพื่อน
กลุ่มเพื่อน คือสังคมเล็กๆ กลุ่มแรกของลูก นอกเหนือไปจากครอบครัว การมีเพื่อนไม่เพียงทำให้เด็กๆ รู้สึกมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับ แต่ยังเป็นการฝึกพื้นฐานการเข้าสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม เด็กบางคน อาจมีปัญหาในการสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อน ส่วนใหญ่พบว่าเด็กที่ไม่มีเพื่อน มีสาเหตุมาจากความกลัวที่ฝังใจตั้งแต่เด็ก เช่น ถูกเพื่อนรังแก เป็นเหยื่อของการบูลลี่ ถูกล้อเลียนภาพลักษณ์ของตนเองจากเพื่อนหรือคนรอบตัว เช่น สูงเกินไป ตัวเล็กเกินไป สีผิว ฯลฯ
การถูกรังแกหรือล้อเลียน มักกลายเป็นสิ่งฝังใจ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง
ไปจนถึงรู้สึกไร้ค่า ไม่คู่ควรกับการมีเพื่อน บางกรณี เด็กที่มีเพื่อนสนิท แต่เกิดการผิดใจกัน และรู้สึกว่าถูกหักหลัง ถูกเพื่อนทำร้ายความรู้สึก ก็อาจปิดใจ ไม่อยากสร้างสายสัมพันธ์กับใครอีก
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้เด็กๆ พัฒนาความเชื่อมั่นและสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนได้ เช่น
- หากิจกรรมที่จุดประกายความสุขของลูก ชวนลูกทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาว่าสิ่งใดที่ทำแล้วมีความสุข เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองให้กับลูก
- เป็นอาสาสมัคร ไม่ว่าจะอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอด ช่วยคัดแยกของบริจาค ฯลฯ การทำงานเพื่อคนอื่น ช่วยสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองให้เกิดขึ้นได้
- เมื่อรู้สึกว่าลูกมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น เริ่มเห็นคุณค่าในตนเอง ลองชวนลูกเข้ากลุ่มหรือชมรมที่ลูกสนใจ ไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านี้อาจสร้างเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเหมือนกันให้ลูกได้
- ในฐานะพ่อแม่ มอบความอบอุ่นและทำให้ลูกรับรู้ถึงความห่วงใยอย่างสม่ำเสมอ เชื่อมั่นใจตัวลูก และคอยเป็นแรงสนับสนุนเรื่องต่างๆ
ทักษะการเข้าสังคมที่ดี เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กๆ มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตนเอง ทำให้พวกเขากล้าที่จะสร้างสายสัมพันธ์ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบกายอย่างเหมาะสม ซึ่งความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเอง ต้องมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเริ่มตั้งแต่ที่บ้านในครอบครัวของเรานั่นเอง
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ