สาเหตุใดบ้าง ที่ทำให้ลูกมีความลับต่อพ่อแม่
สาเหตุใดบ้าง ที่ทำให้ลูกมีความลับต่อพ่อแม่
คุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกตัวเองไหมคะว่า เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นก็เริ่มที่จะพูดกับเราน้อยลง หรือบางครั้งเราเองก็พยายามที่จะเข้าไปคุยกับเขา แต่เขาก็จะพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเล่าสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้เราฟังทั้งๆ ที่เราเป็นคนที่ใกล้ชิดที่สุด
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าเพราะอะไร ลูกถึงเก็บเรื่องที่ไม่สบายใจไว้อยู่คนเดียวโดยไม่บอกพ่อแม่ วันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุที่ลูกมีความลับต่อพ่อแม่ จะมีอะไรกันบ้าง และเหตุผลอะไรที่ลูกไม่ยอมเปิดใจกับเรา ไปดูกันเลย
สาเหตุที่ลูกมีความลับต่อพ่อแม่
1.เพราะลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว คิดว่าจัดการเองได้
เด็กๆ มักจะคิดว่าเขาโตแล้ว และพอที่จะจัดการปัญหาต่างๆ เองได้มากกว่าการที่ให้พ่อแม่ทำให้ และเขาก็อยากจะแสดงให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเขาโตแล้ว แต่บางครั้งเองเขาก็มักจะไม่ทราบหรอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มันอาจจะเกินตัวเกินที่เขาจะรับไหว
2.พ่อแม่มักใช้ความน่ากลัวมาสอนลูก
ซึ่งก็มักจะเป็นหลายครอบครัวเลยค่ะ เช่น เราเห็นเพื่อนข้างบ้านมีลูก แล้วลูกเขาท้อง และเราก็นำเรื่องราวเหล่านี้ไปสอนลูก แต่เล่าถึงแต่สิ่งที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น “ เห็นไหมแกดูลูกข้างบ้านนั้นสิ เขาท้องอายุยังน้อยๆ อยู่เลย แถมยังต้องลาออกจากโรงเรียนด้วยนะ แกอย่าเพิ่งไปมีแฟนล่ะ ไม่อย่างงั้นท้องขึ้นมา ฉันไล่แกออกจากบ้านแน่คอยดู!! ” เป็นต้น ซึ่งคำพูดเหล่านี้พอเด็กๆ ได้รับฟัง ก็จะเกิดความกลัว และเมื่อเขามีแฟนหรือมีเรื่องอะไรขึ้นมา อย่าหวังเลยนะคะว่าเขาจะมาปรึกษาพ่อแม่แบบนี้ เขาไม่ยอมบอกความลับอย่างแน่นอน
3.เพราะลูกกลัวว่าพ่อแม่จะไม่สบายใจหากบอกความลับออกไป
ก็มีลูกบางคนที่มักจะคิดแทนเราอย่างงั้นบ้างอย่างงี้บ้าง กลัวคุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจและเครียดปัญหาที่ลูกกำลังบอกบ้าง ทำให้ลูกไม่ยอมเปิดใจ หากพ่อแม่เห็นท่าทีหรือสีหน้า อาการของลูก บางครั้งเราเองก็อาจจะไม่ต้องรอให้ลูกเล่าก่อนเสมอไป ลองเป็นฝ่ายถามไถ่ เพื่อให้เขาสบายใจ เดี๋ยวสักพักเขาก็จะเล่าปัญหาต่างๆ เหล่านั้นออกมาเองค่ะ อาจจะเริ่มด้วยประโยคง่ายๆ เช่น เป็นยังไงลูกวันนี้ไปโรงเรียนสนุกไหม ทักทายเป็นปกติแบบที่เราคุยกับลูกก็ได้ค่ะ แล้วค่อยถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกนั้นเอง
4.เพราะพ่อแม่มักจะไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นของลูก
ถือว่าเป็นอะไรที่เศร้ามากสำหรับลูกเลยนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบนี้ เพราะทุกครั้งที่เล่าไป คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่เคยสนใจ และถามถึงความสบายใจของลูกแม้แต่นิดเลย หากเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ลูกไม่ยอมเปิดใจกับเราอย่างแน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะใส่ใจและตั้งใจทุกครั้งเมื่อลูกมาปรึกษา อาจจะสังเกตท่าที และสีหน้าของลูก เพราะมันจะบ่งบอกถึงความไม่สบายใจบางอย่าง เมื่อสังเกตได้แล้วก็ควรที่จะแสดงท่าทีที่เป็นห่วง หรือไถ่ถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก แบบนี้จะทำให้ลูกเปิดใจและเชื่อว่าพ่อแม่ยังสนใจเขาอยู่นั้นเองค่ะ
5.เพราะพ่อแม่ตั้งความหวังกับลูกไว้เสมอ
พ่อแม่บางคนมักจะตั้งความหวังกับลูกไว้ จนทำให้เขาต้องรับความกดดันไว้เพียงผู้เดียว จนวันหนึ่งเมื่อเขามีปัญหา หรือเกิดเรื่องที่คิดว่าพ่อแม่จะต้องผิดหวังกับเขาแน่ๆ เขาก็จะไม่ยอมพูดเปิดใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ซึ่งพ่อแม่ก็มักจจะเป็นแบบนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อยกับลูกแค่ไหน แต่สิ่งที่ถูกต้องพ่อแม่ควรที่จะสอนให้เขารู้ว่า ทุกคนเกิดมาไม่ได้สมบูรณ์ได้ในทุกๆ เรื่องเสมอไป ทุกคนต้องมีความผิดพลาดกันเป็นธรรมดา ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่า พ่อแม่ภูมิใจและพร้อมที่จะช่วยเขาแก้ปัญหาทุกครั้งเมื่อเขาทำผิดพลาดนั้นเอง
6.เพราะพ่อแม่มักใช้คำพูดที่รุนแรงเกินไป
ในครอบครัวแต่ละครอบครัวการใช้คำพูดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะสื่อถือว่า เรารู้สึกยังไงกับคนที่สนทนาด้วย การสร้างบรรยากาศดีๆ ในบ้านก็เช่นกัน หากพ่อแม่ใช้คำพูดที่ไม่เคยถนอมน้ำใจกันเลยกับลูก ลูกผิดนิดผิดหน่อยก็คอยแต่ซ้ำเติม เรื่องซ้ำๆ ซากๆ จนทำให้ลูกเกิดเป็นแผลในใจ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่ยอมเชื่อใจที่จะเปิดความลับของเขาออกมาได้เช่นกันค่ะ
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนก็เป็นห่วงลูกันทั้งนั้นจริงไหมคะ หากวันนี้ลูกที่บ้านของเรายังไม่ยอมที่จะเปิดใจเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟัง หากรู้สาเหตุข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ปรับเปลี่ยนวิธีและหันมาใส่ใจลูกสักนิด เชื่อว่าอีกไม่นานลูกก็จะยอมเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟังในที่สุดค่ะ จงสร้างความมั่นใจให้ลูก และพร้อมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้เขานะคะคุณพ่อคุณแม่
Related Courses
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...