จัดการอย่างไร เมื่อลูกร้ายจนกลายเป็นดาวเด่นในโซเชียล
เราได้เห็นได้ฟังมาก็มาก กับเคสแรงๆ ของวัยรุ่นในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ Bully ในโรงเรียน การแสดงออกด้วยความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย เราได้ยินเรื่องของเหยื่อมาก็มาก เราเคยนำเสนอไปแล้วว่าทำอย่างไรลูกจะไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงแบบนี้ แต่ถ้าลูกเราเป็นผู้กระทำบ้างล่ะ? เมื่อลูกคุณกลายเป็นตัวร้ายในคลิปทั่วทั้งโซเชียล คุณจะตั้งสติ ตั้งตัว และรับมือกับปัญหานี้อย่างไร เรามีวิธีจัดการมาบอกค่ะ
ตั้งสติให้ได้ก่อน
การมีลูกเป็นดาวร้ายในโซเชียลยังไม่ร้ายเท่าที่คุณไม่รู้สึกว่านั่นเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นตั้งสติก่อนเลยค่ะ! ยอมรับก่อนว่านี่เป็นปัญหา และปัญหาของลูกนี้ก็เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ส่วนหนึ่งแน่นอน วางความคิดที่ว่า “ลูกฉันไม่ทำอะไรแบบนั้นหรอก” หรือ “ลูกฉันเป็นคนดี” ลงก่อน เพราะหลายๆ ครั้งผู้ปกครองก็ไม่เคยรู้เลยว่า พฤติกรรมของลูกเมื่ออยู่ที่โรงเรียนนั้น มีความแตกต่างจากตอนที่อยู่บ้านมากน้อยแค่ไหน การให้ท้ายแบบผิด ๆ หรือการเข้าข้างแบบเกินพอดี สามารถส่งผลให้เด็กมีนิสัยที่ไม่ดีได้
หากลูกไม่เข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนว่านี่เป็นเรื่องที่ผิด ถ้าเขาสำนึกผิดแล้ว เราต้องลองมาหาทางในการแก้ปัญหากันต่อไป แน่นอนว่าต้องยอมรับผิด และจัดการพูดคุยกับคู่กรณีให้เรียบร้อย หากเรื่องอยู่ในแค่โรงเรียน ไม่ถึงฝ่ายกฎหมาย ก็ควรพูดคุย และชดใช้ตามเหมาะสม
ในฐานะที่ลูกเราเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่เหยื่อ ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมใจไว้ก่อนได้เลยค่ะ เพราะในฐานะผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่จะต้องตั้งรับกับความรุนแรงทั้งทางวาจา และใน social รวมถึงกระแสสังคมแรงๆแน่นอน จุดนี้เราได้แต่เอาใจช่วยให้ผ่านไปให้ได้ค่ะ
ยอมรับความผิดพลาด
การถูกลงโทษไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ ในฐานะผู้กระทำย่อมต้องรับบทลงโทษนั้นอยู่แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายลูกด้วยว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาต้องเจอเพราะเขาไปแกล้งเพื่อน และการลงโทษนั้นจะรุนแรงขึ้นเรื่องๆ หากเขาทำอีก
หากลูกยังสงสัยว่าทำไมแค่ขอโทษเพื่อนถึงไม่เพียงพอ ลองอธิบายด้วยการยกกระดาษขึ้นมา 1 ใบ จากนั้นให้ลูกด่าว่าใส่กระดาษมาเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เขาด่าให้ขยำกระดาษ 1 ครั้ง จนกระดาษนั้นยับจนไม่ไม่สามารถขยำได้อีก จากนั้นให้เขาขอโทษกระดาษ และคุณก็คลี่กระดาษออก ให้ลูกเห็นรอยยับที่มีอยู่บนกระดาษ แล้วอธิบายเขาว่า นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจและร่างกายของเพื่อนคนที่ลูกแกล้ง เขายังคงเป็นเพื่อนคนนั้น เหมือนที่กระดาษมันยังคงเป็นกระดาษ แต่รอยยับบนนั้นจะทำให้กระดาษแผ่นนั้นไม่มีวันเหมือนเดิม
กลับมามองที่บ้าน
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกันก่อนว่า เมื่อเกิดปัญหาเรื่องพฤติกรรมของลูก จะไม่โทษเรื่องการเลี้ยงดูเลยก็คงจะไม่ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่สุดว่าครอบครัวของตัวเองมีปัญหาอะไร ความรุนแรงในครอบครัว? เวลาที่ไม่มีให้ลูก? การไม่ได้ใกล้ชิดกับลูก? ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ โดยเพราะกับการเลี้ยงลูกวัยรุ่นหรือเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ที่บางครั้งเหตุผลก็อาจจะใช้ไม่ได้ทุกครั้ง
บางทีนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะกลับมาทบทวนกันใหม่ค่ะ ว่าบทบาทของทั้งลูก และคุณพ่อคุณแม่นั้นห่างเหินกันเกินไปหรือเปล่า เป็นช่วงเวลาที่เราจะลองมาตั้งต้นใหม่กันอีกสักตั้ง ก่อนที่ปัญหามันจะแย่ลง เราแนะนำว่าหาช่วงเวลาสบายๆ แล้วจับเข่าคุยกันเลยค่ะ ลดการทะเลาะ เอาชนะกันลงก่อน ที่สำคัญอย่าเอาแต่ตั้งคำถามกับลูก เพราะนั่นจะทำให้เขาอึดอัด และรู้สึกเหมือนถูกรุม ถูกรังแก และไม่ให้ความร่วมมือได้
แก้ปัญหา จากต้นตอของปัญหา
กลับมาถามคำถามใหญ่กันอีกครั้งค่ะว่า “ทำไมลูกถึงต้องแกล้งเพื่อน?” ในทางจิตวิทยามีการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจค่ะ
- การมองไม่เห็นคุณค่าตัวเอง (Self Esteem) ที่โรงเรียนนั้นคุณค่าในตัวเองของเด็กไทยมักถูกผูกกับการศึกษา เด็กที่เรียนเก่งมักจะถูกชมเชยชื่นชม เด็กที่เรียนไม่เก่งมักจะถูกตำหนิ พบว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียน หรือมีปัญหาพฤติกรรมจนถูกต่อว่า ทำให้เขาไม่เห็นคุณค่าของตนเอง และจะมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตนเองไม่ดี และพยายามหาคุณค่า หรือตัวตนจากวิธีการที่ผิด เช่น ตั้งตัวเป็นหัวหน้ากลุ่ม หรือไปร่วมกับเพื่อนเพื่อรังแกคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน
- อยากได้รับความสนใจ เด็กบางคนอยากเป็นที่สนใจรู้สึกว่าทำแบบนี้ได้รับความสนใจดี และไม่รู้ว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจในวิธีที่ผิด
- ความผิดปกติทางร่างกาย เด็กบางคนมีปัญหาซน หรือมีภาวะสมาธิสั้นทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้เด็กกลุ่มนี้อาจจะเล่นสนุกมากจนเกินไป จนแกล้งเพื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ทำตามเพื่อน เด็กในวัยเรียน เขาก็อยากได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน จึงไม่แปลกที่เด็กบางคนอาจจะไม่ได้อยากเริ่มต้นแกล้งคนอื่น แต่อาจจะทำเพราะทำตามเพื่อน หรือ โดนกดดันให้ทำ
เราชี้ให้เห็นว่าเด็กที่แกล้งเพื่อน ที่สังคมมองว่าเป็นเด็กร้ายๆนั้น ก็มีที่มา และเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้ เพราะถึงจะร้ายแค่ไหน เขาก็เป็นลูกของเรา จริงไหมคะ?
Related Courses
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...