Homeschool Struggles รับมือปัญหาชวนปวดหัวของครอบครัวบ้านเรียน
ครอบครัวที่เริ่มทำ Homeschool มักมีภาพอุดมคติว่า ครอบครัวจะมีชีวิตแบบ slow life มีเวลาคุณภาพ เด็กๆไม่ต้องผจญรถติดเช้าเย็นทุกวันในการเดินทางไปโรงเรียน ลูกๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ปลูกผัก ทำอาหาร เล่นดินเล่นทราย พ่อแม่จัดการเรียนการสอนเข้าแฟ้มเรียบร้อย มีมุมเรียนหนังสือสวยงาม แต่! ช้าก่อนค่ะ แม้ว่าภาพในอุดมคตินั้นอาจเป็นจริงได้ แต่ชีวิตก็ยังมีอีกด้านหนึ่งเสมอ ในขณะที่คุณจัดสรรเวลาคุณภาพในลูกได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าพ่อแม่ ก็มีภาระหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องดูแล บางครั้งความยุ่งเหยิงก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่คุณไม่อาจปฏิเสธ ไหนจะเสียงจากคนรอบข้างที่ยังไม่เข้าใจ Homeschool ดีพอ เอาเป็นว่า ถึงแม้ Homeschool จะมีข้อดี แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่องในชีวิต นั่นก็ อาจมีเวลาที่คุณเผชิญกับความยากลำบาก และเมื่อถึงเวลานั้น เราก็อยากให้คุณรู้ว่า ครอบครัวของคุณไม่ได้เผชิญปัญหาเหล่านี้เพียงลำพัง
เวลาไม่ช่วยอะไร เมื่อเวลาเท่าไรก็ไม่เคยพอ
ปัญหาเรื่องจัดสรรเวลาสำหรับครอบครัว Homeschool หลักๆ เกิดขึ้นจากว่าเราตีความคำว่า Homeschool อย่างไร หากเราคิดว่า Homeschool ต้องเรียน 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น เหมือนระบบโรงเรียน แน่นอนว่าเวลาเท่าไรก็คงไม่พอ เพราะพ่อแม่นอกจากจัดการเรียนการสอนแล้ว ก็ยังมีหน้าที่อื่นๆ ต้องรับผิดชอบ หรือหากตั้งเป้าหมายว่าการทำ Homeschool คือ การพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ หลากหลายไม่เว้นวัน คุณก็อาจต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง ไม่ต่างจากการรับส่งลูกไปโรงเรียนเช้าเย็น ดังนั้นลองลดความคาดหวังในการจัดกิจรรมต่างๆ ลง ในแต่ละวันอาจไม่ต้อง “จัดเต็ม” แต่จัดตารางให้เหมาะสมตามวัยและรูปแบบการใช้ชีวิตของครอบครัว
ข้อมูลจาก Illinois State Board of Education’s Remote Learning ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอน Homeschool ในแต่ละวัย คือ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ลองปรับตารางเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม อาจช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาได้
ตารางเวลา ที่ไม่เคยทำตาม
ครอบครัวบ้านเรียนส่วนใหญ่ มีแผนการเรียนและตารางเวลาที่ดี แต่ปัญหาคือ บ่อยครั้งมักทำไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ เพราะนอกจากกิจกรรม และการเรียนรู้ต่างๆ ของลูกแล้ว ในชีวิตจริง ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่พ่อแม่ ต้องรับผิดชอบ ทำให้การยึดตามแผนที่วางไว้ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น จู่ๆ คุณแม่ฟรีแลนซ์ก็ต้องประชุมออนไลน์ด่วนๆ ขณะที่พ่อก็ลาหยุดงานไม่ได้ ทำให้ต้องเลื่อนกิจกรรม S.T.E.M ประจำสัปดาห์ของลูกออกไป ส่งผลกระทบต่อตารางอื่นๆ ของลูก หากไม่รีบสะสางบ่อยเข้า สิ่งที่คั่งค้างก็จะสะสม รู้ตัวอีกที คุณก็อาจเหนื่อยเกินกว่าจะแก้ไขอะไรเสียแล้ววิธีแก้ปัญหาคือ แทนที่จะตั้งเป้าหมายตายตัวในแต่ละวัน อาจเปลี่ยนเป็นเป้าหมายกว้างๆ ประจำสัปดาห์ เปิดโอกาสให้กับความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิต อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้อย่างอิสระมากขึ้น เช่น ตั้งเป้าหมายว่าสัปดาห์นี้ลูกควรรู้คำศัพท์ใหม่ 20 คำ เข้าใจวิธีหาพื้นที่รูปสามเหลี่ยม และเขียนเรียงความ 1 หัวข้อ อาจกำหนดเวลาเรียนรู้คร่าวๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ลองจัดการตัวเองว่าจะเรียนเรื่องไหนเมื่อไร แก้ปัญหาตารางเวลาที่ fix เกินไปที่ทำให้รู้สึกกดดัน
สับสนบทบาท พ่อแม่หรือครู
บ่อยครั้งในฐานะพ่อแม่ เราอาจรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจกับบางพฤติกรรมของลูก แต่เมื่อคุณเป็นผู้จัดการศึกษา และผู้สอนแก่เด็ก Homeschool คุณก็อาจต้องแยกแยะความรู้สึกส่วนตัวของความเป็นพ่อแม่ออกไปค่ะ เมื่อเด็กๆ มีทีท่าไม่ตั้งใจฟังบทเรียนที่คุณอธิบาย อาจไม่ใช่เพราะ ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แต่อาจเป็นเพราะวิธีการสอนที่ทำให้ลูกไม่เข้าใจ ยืดเยื้อเกินไป แทนที่จะโกรธและตำหนิลูกว่าไม่ตั้งใจฟัง ลองถอยออกมาตั้งหลัก ประเมินสถานการณ์โดยรวม ว่าคุณอธิบายเยิ่นเย้อหรือเปล่า หรือวิชานี้เป็นวิชาที่ลูกไม่ชอบ หรือเพราะบรรยากาศมีสิ่งที่ทำให้ลูกวอกแวกได้ง่าย อาจถามลูกตรงๆ ว่า อะไรทำให้ลูกไม่มีสมาธิ แทนที่จะคาดหวังว่าลูกต้องฟังเพราะฉันเป็นพ่อแม่ ลองวางความคาดหวังลง แล้วเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูนให้ตรงกัน อย่าลืมว่า Homeschool คือการทำงานเป็นทีมเวิร์คที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวเข้าหากันค่ะ
ผลงานมากมาย ตัดใจไม่ลง
ลองนึกถึงตอนลูกเล็กๆ ขีดเส้นยึกยือเต็มกระดาษ หรือเขียนชื่อตัวเองได้ครั้งแรก พ่อแม่หลายคนเก็บผลงานของลูกเหล่านั้นไว้ราวกับลายแทงล้ำค่า เมื่อลูกโตขึ้นกลายเป็นเด็ก Homeschool ในแต่ภาคการศึกษามีผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้มากมาย ยิ่งหากพ่อแม่เป็นผู้สอน หรือช่วยลูกอยู่ข้างๆ ระหว่างทำผลงานเหล่านั้น เมื่อถึงสิ้นปี ที่ผ่านการประเมินผลแล้ว การทิ้งผลงานของลูกอาจเป็นเรื่องทำใจลำบาก แต่หากเก็บไว้ ก็คงล้นบ้าน เพราะลูกจะมีผลงานเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน เรื่องนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆ แต่หากได้เห็นความทุ่มเทของลูกที่มีให้แต่ละชิ้นงาน การทิ้งผลงานของลูก ก็อาจเป็นเรื่องร้าวรานใจ วิธีแก้ไข หากไม่มีที่เก็บจริงๆ ลองถ่ายรูปผลงานของลูก แล้วสร้าง Folder เก็บภาพถ่ายผลงานแต่ละชิ้น ที่สามารถกลับมาดูได้ทุกเมื่อ นอกจากไม่ต้องเก็บของให้เป็นที่สะสมฝุ่น ก็ยังรักษาความทรงจำไว้ได้อีกด้วย
ความรู้สึกเชิงลบจากความคาดหวัง
พ่อแม่หรือกระทั่งเด็กๆ เอง ล้วนมีช่วงเวลาที่รู้สึกเครียด กังวล โกรธ เหนื่อยล้า แต่บางครั้งการยอมรับความรู้สึกเชิงลบของตัวเองก็อาจเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อยอมรับความรู้สึกเหล่านี้ เท่ากับเรากำลังยอมรับว่าเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ ส่งผลต่อความไม่มั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะพ่อแม่ Homeschool หากเกิดความรู้สึกดังกล่าว ก็อาจทำให้คิดว่าตนเองไม่ดีพอที่จะจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้ ดังนั้น ก่อนที่จะรับมือปัญหาชวนปวดหัวต่างๆ เราอาจต้องเริ่มจากยอมรับความรู้สึกเชิงลบของตัวเองก่อน พ่อแม่ Homeschool อาจมีความกดดันสูง เพราะต้องรับผิดชอบเรื่องเรียนของลูก และมักคาดหวังให้การทำ Homeschool เป็นเส้นทางที่ราบเรียบ ไร้อุปสรรค ซึ่งเป็นการคาดหวังที่ทำร้ายตนเองได้ง่าย
เบื้องต้นควรเริ่มจากยอมรับว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่ทำผิดพลาดได้ ลดความคาดหวังลง หากรู้สึกว่ามีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลา ก็อาจค่อยแก้ไขปรับเปลี่ยน จนพบจุดที่สมดุล หากรู้สึกเหนื่อยล้า เปิดโอกาสให้ตนเองได้พักบ้าง และทบทวนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการทำ Homeschool ความสุขที่ได้ใช้เวลากับลูก หรือ เป้าหมายที่ต้องสมบูรณ์เต็ม 100 เมื่อได้คำตอบ ก็อาจทำให้คุณพร้อมที่จะเผชิญทุกปัญหาที่ตามมาได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
Related Courses
จะทำอย่างไร ถ้าลูกโกหก
การโกหกของเด็กเกิดจากการไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจริงกับความฝัน และการโกหกในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน คุณพ่อ ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...