วิธีเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเด็ก Home School
หลังจากผ่านขั้นตอนรวบรวมข้อมูล วางแผน และเข้าสู่ขั้นลงมือจริงที่จะนำไปสู่การเป็นครอบครัว Homeschool อย่างเต็มตัว ถึงแม้ว่าคุณจะผ่านช่วงเวลาที่ยากที่สุดมาแล้ว นั่นคือ การตัดสินใจทำบ้านเรียน แต่ใช่ว่าหนทางข้างหน้าจะปราศจากอุปสรรค ยิ่งสำหรับครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเด็ก Homeschool ของเด็กๆ อาจไม่ราบรื่นนัก ลองมาดูคำแนะนำเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกันค่ะ
ให้ลูกมีส่วนร่วมวางแผน
เพราะนี่คือการเรียนรู้ของเด็กๆ พวกเขาจึงจำเป็นต้องได้รู้ว่าแผนการต่อจากนี้คืออะไร การออกจากโรงเรียนถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ที่ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของเด็กๆ โดยตรง พ่อแม่ควรพูดคุยเรื่องเป้าหมายของการทำ Homeschool กับเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมา และรับฟังความคิดเห็นของลูก ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเด็กๆ หากรู้สึกว่าลูกมีความกังวลใจ ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ บอกให้ลูกรับรู้ว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด แต่เราจะผ่านไปได้ด้วยกัน พ่อแม่พร้อมรับฟังและให้คำแนะนำเสมอ เพราะการทำ Homeschool คือการลงเรือลำเดียวกัน การทำงานเป็นทีมคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้
วางแผนและทำให้ถูกหลักเกณฑ์
ไม่ว่าคุณจะเลือกจดทะเบียนกับเขตการศึกษา ฝากชื่อกับศูนย์การเรียนฯ หรือลงทะเบียนเรียนออนไลน์ พ่อแม่ในฐานะผู้จัดการเรียนการสอน ควรศึกษาข้อมูล หลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ครบถ้วน เพราะในแต่ละขั้นตอน หน่วยงานต่างๆ จะมีข้อกำหนดและระยะเวลาที่ต้องยื่นเอกสารระบุไว้ หากพลาดไป อาจทำให้ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับวุฒิฯ หรือการประเมินในปีนั้นๆ
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรมองล่วงหน้าถึงการเรียนในระดับต่อไป ว่าจะยังทำ Homeschool หรือมีแผนจัดการศึกษาให้ลูกอย่างไรบ้าง เช่น หากยังไม่แน่ใจว่าจะส่งลูกเรียนต่างประเทศ หรือเรียนต่อในเมืองไทย การลงทะเบียนเรียนกับหลักสูตรต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ก็อาจทำให้ลูกไม่ได้รับวุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อในประเทศไทย ดังนั้น จึงอาจจดทะเบียนกับเขตการศึกษาไว้อีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น
อย่ายกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน
การสร้างบรรยากาศโรงเรียนไว้ในบ้าน เป็นกับดักหนึ่งที่มือใหม่ Homeschool มักเข้าใจผิด คุณอาจจัดโต๊ะให้ลูกนั่งเรียนอย่างดี มีกระดานไวท์บอร์ด จัดตารางเรียน 7 คาบวิชา ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ช้าก่อนค่ะ! หยุดถามตัวเองสักนิดว่าที่เราหันมาทำ Homeschool เพราะอะไร? เพราะเราไม่อยากให้ลูกเคร่งเครียดกับการเรียน 7 วิชาในหนึ่งวันหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้านเล่า?
Homeschool คือการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นที่สุด และพ่อแม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของครอบครัวได้ เช่น ช่วงเช้า หากแม่ต้องทำงาน เวลานี้ อาจให้เด็กๆ อ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียน ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พอตกบ่ายจึงเริ่มบทเรียนใหม่กับพ่อแม่ ซึ่งอาจใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือลองให้ลูกวางแผนเองว่าจะทำอะไรบ้าง คุณอาจพบว่ามีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอีกมากมาย
สนุกกับการใช้เวลาร่วมกัน
Homeschool จะประสบความสำเร็จได้ดี หากครอบครัวมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หลังจากพาเด็กๆ ออกจากโรงเรียนแล้ว อย่าเพิ่งรีบร้อน เข้าสู่กระบวนการ Homeschool ทันที แต่ลองใช้เวลาช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้เป็นเวลาที่น่าจดจำ เช่น อาจชวนกันจัดบ้านสำหรับการเรียนรูปแบบใหม่ ปิดท้ายด้วยการทำอาหารด้วยกัน ออกไปเที่ยวหาประสบการณ์ หรือพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศ ระหว่างนั้นอาจค่อยๆ พูดคุยกันในครอบครัว หาวิธีที่ลงตัวสำหรับทุกคน ค่อยๆ ทดลองปรับเปลี่ยนไปทีละนิด โดยตั้งเป้าหมายระยะแรกเพียงว่า ให้ครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกันอย่างมีความสุข
เริ่มจากวิชาที่สนใจ
เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดีในวิชาที่พวกเขาชื่นชอบ ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจเลือกวิชาที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ มาทำการเรียนการสอนก่อนสัก 1-2 วิชา แล้วประเมินว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร พ่อแม่สามารถถ่ายทอดให้ลูกเข้าใจได้ไหม เด็กๆ คิดเห็นอย่างไรกับการเรียนแบบนี้ เวลามากหรือน้อยเกินไป และจากนี้จะต่อยอดได้อย่างไรบ้าง หัวใจสำคัญคือการรับฟังซึ่งกันและกัน ในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้เสมอ ให้เวลาทั้งกับตัวเองและเด็กๆ เมื่อผ่านไปสักระยะ ทุกอย่างจะลงตัวได้เอง จนอาจทำให้คุณประหลาดใจ
อย่าตัดลูกจากวิถีชีวิตเดิม
ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะไม่ได้ไปโรงเรียนอีกต่อไป แต่หากพวกเขามีสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดลูกออกจากวิถีชีวิตแบบเดิม ในช่วงแรกของการทำบ้านเรียน อาจเปิดโอกาสให้ลูกได้กลับไปพบเจอพื่อนๆ หรือคุณครูที่คุ้นเคย หากหลังเลิกเรียน ลูกเคยแวะกินขนมกับเพื่อนที่ร้านประจำ อาจเสนอว่าให้ลูกทำเช่นเดิมได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือเมื่อมีปัญหาเรื่องบทเรียน อาจให้ลูกเกริ่นกับคุณครูเพื่อขออนุญาตโทรปรึกษาในภายหลัง การทำเช่นนี้ช่วยให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าพวกเขาถูกตัดขาดจากสภาพแวดล้อที่เขาคุ้นเคย ช่วยให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น
สุดท้ายแล้ว บทเรียนสำคัญที่ทั้งครอบครัวจะได้เรียนรู้ร่วมกันคือ การเปลี่ยนผ่านไม่เคยเป็นเรื่องง่าย การบอกลาวิถีชีวิตที่คุ้นเคย สู่การใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน อาจเป็นเรื่องน่ากังวล แต่อย่างน้อย คุณก็ไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง ทุกคนต่างต้องปรับเปลี่ยน อาจจะมากน้อยต่างกัน แต่เมื่อมีเป้าหมายเดียวกันแล้ว การเดินทางก็คงไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป
Related Courses
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
สอนศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยอย่างไรดี
ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย จะได้เรียนรู้ความสำคัญ พัฒนาการทางศิลปะ กิจกรรมศิลปะและหลักการจัดประสบการณ์ศิลปะให้แก่เด็กปฐมวัย
Micro Learning - เทคนิคการช่วยเหลือผู้เรียน
การช่วยเหลือผู้เรียนสำคัญต่อการลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครอง
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...