ให้ลูกเรียนรู้และเติบโตด้วย ‘Constructive Feedback’
เมื่อลูกทำผิด ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะลืมตัว มักจะชอบเข้าไปต่อว่า ติเตียน ทำให้ลูกกลัวและไม่กล้าทำสิ่งเหล่านี้อีก ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้เป็นการทำร้ายจิตใจ และทำลายความมั่นใจเด็กโดยตรง แต่ถ้าเราไม่ให้ฟีดแบคลูกเลย ก็จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาด วิธีการแก้ไข หรือการรับมือ ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดเดิมได้ในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก pexel
การให้ฟีดแบคมีหลายรูปแบบ ทั้งการให้ฟีดแบคเชิงบวก (Positive Feedback) ที่จะช่วยทำให้ลูกมีกำลังใจ และเสริมแรงให้ลูกทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการให้ฟีดแบคในเชิงบวกนี้ก็สามารถส่งผลกระทบทางลบต่อลูกได้ด้วย เช่น การขาดความเข้าใจในจุดอ่อน หรือข้อผิดพลาดของตนเองโดยไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ส่วนการให้ฟีดแบคในเชิงลบ (Negative Feedback) นั้น มักจะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่า เพราะเป็นการบั่นทอนกำลังใจ และทำลายความมั่นใจของลูกด้วย
แล้วฟีดแบคแบบไหนที่ดีสำหรับลูก ?
คำตอบคือ ฟีดแบคที่ทำให้ลูกได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Constructive Feedback” คือ การให้ฟีดแบคที่มีทั้งการติในสิ่งที่ผิดพลาด ไปพร้อมกับการชี้แนะแนวทางให้สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขได้ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์นั่นเอง โดย Constructive Feedback นี้มีหลักการง่ายๆ คือ
- แก้ไขในจุดที่ผิด และเสนอทางออก หรือทางช่วยเหลืออื่น ๆ เพราะการมองในจุดที่พลาดและบอกกล่าวเตือนลูกไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่ต้องบอกด้วยว่า ผิดอย่างไร มีทางออกแบบไหนได้บ้าง เพื่อให้เขาไม่รู้สึกว่าความผิดพลาด คือความล้มเหลว แต่เป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้
- โฟกัสที่พฤติกรรม ไม่โฟกัสไปที่ตัวลูกด้วยการซ้ำเติม หรือใช้คำพูดว่าเพราะลูกเป็นคนแบบนี้ ถึงทำแบบนี้ ซึ่งทำให้เขาเริ่มมองตัวเองลบ และคิดว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ควรโฟกัสไปที่พฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นหลัก เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร และมีความหวังที่จะทำให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อไป
- ไม่ใช้คำพูดเชิงตัดสิน การกล่าวโทษลูกไปก่อน หรือตัดสินว่าลูกไม่ดี ไม่เก่ง ทำผิดพลาด ยิ่งจะทำให้ลูกรู้สึกแย่ และไม่อยากทำสิ่งที่นี้อีก
- ควบคุมอารมณ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพูดคุยกับลูก โดยผู้ปกครองต้องพยายามใจเย็นและไม่ตักเตือนขณะที่กำลังโกรธ เพราะแน่นอนว่าความโกรธจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์และคำพูดของตัวเองได้ จึงแสดงออกไปโดยที่ไม่มีการกลั่นกรองก่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ฟัง และกลายเป็นเรื่องฝังใจของลูกโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว
จากหลักการข้างต้น เราขอยกตัวอย่างวิธีการให้ฟีดแบคลูก เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นอีกนิด เช่น การที่ลูกติดแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ วิธีการตักเตือนที่ดีคือการชี้ให้เห็นถึงปัญหา และผลกระทบที่ตามมา ไม่ใช่การดุลูก ห้ามลูกเล่น หรือยึดโทรศัพท์ทันทีโดยไม่อธิบายเหตุผล หรือการที่ลูกสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่ง อาจไม่ได้เป็นเพราะลูกไม่ฉลาด แต่เกิดจากการเรียนที่ขาดประสิทธิภาพ หรือไม่ใช่วิชาที่ลูกถนัด ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีการพูดคุยกับลูก เสนอทางออก และให้กำลังใจลูกสำหรับการสอบครั้งถัดไป เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก pixabay
การให้ฟีดแบคเพื่อการพัฒนา หรือ Constructive Feedback นี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัยและพัฒนาการของเด็ก โดยผู้ปกครองสามารถเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยเด็กเล็ก (อายุ 2-3 ปี) ซึ่งเด็กวัยนี้จะเข้าใจ และสามารถแยกแยะสีหน้า อารมณ์ น้ำเสียงของผู้ปกครองได้แล้ว ดังนั้น เราไม่ควรใช้คำพูดหรือน้ำเสียงในเชิงข่มขู่ให้เด็กกลัว แต่อาจใช้น้ำเสียงที่ใจเย็น และเน้นการแสดงออกทางสีหน้าให้เด็กเข้าใจ จากนั้นเมื่อขึ้นวัยประถม เด็ก ๆ จะเริ่มเข้าใจการให้ฟีดแบคผ่านคำพูดมากขึ้น แต่จะยังไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งผู้ปกครองอาจจะต้องอธิบายให้เด็กเห็นภาพ หรือเสนอทางที่ชัดเจนที่สุด แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหน ก็ควรอยู่บนแกนหลักเดียวกันคือการใช้เหตุผล รับฟังสิ่งที่ลูกคิด ตำหนิในสิ่งที่ผิด ควบคู่ไปกับการให้กำลังใจว่าเขาจะสามารถก้าวผ่านปัญหาและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
Related Courses
DIY กระถางต้นไม้ทำมือ
การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น อีกทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย กระถางต้นไม้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกต้นไม้ มาฝึกทำกระ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้