5 วิธี สร้างสมาธิให้ลูกแบบไม่เครียด
สมาธิเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตประจำวันมากค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กๆ การมีสมาธิย่อมทำให้เข้าใจการเรียนได้มากขึ้น ทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายได้ดีมากขึ้น อันนี้เราคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านน่าจะทราบดี แต่ด้วยยุคนี้ที่มีสิ่งน่าสนใจรอบตัวมากมายเหลือเกิน ทำให้บางครั้งสมาธิของลูกก็หดหายไปง่ายๆ
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ลูกต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านมากขึ้น “สมาธิ” ยิ่งต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะสามารถจดจ่อ กับการเรียนการสอนตรงหน้าให้ได้ วันนี้เราจึงมี 4 วิธีง่ายๆ มาช่วยเพิ่มสมาธิให้ลูกๆ กันค่ะ
1.ฟังนิทาน อ่านหนังสือ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงบอกว่าแหม...น่าเบื่อจริง ใครๆก็เสนอวิธีนี้กันทั้งนั้น นั่นก็เพราะการอ่านหนังสือในเด็กโต และการฟังนิทานในเด็กเล็กนั้น ช่วยเสริมสร้างสมาธิได้จริงๆ นอกจากจะช่วยเรื่องสมาธิเพราะเด็กจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือ หรือตัวละครแล้ว ยังช่วยส่งเสริมจินตนาการ และพัฒนาการทางภาษาอีกด้วย วิธีการที่แสนจะคลาสสิกนี้จึงเป็นวิธีสร้างสมาธิที่เรียบง่าย แต่ได้ผลจริงเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอค่ะ
2.ศิลปะสร้างสมาธิ
การทำงานศิลปะเป็นช่วงที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นกันค่ะ นอกจากจะสร้างสมาธิแล้วการทำงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นการวาด ปั้นดิน ลงสีด้วยวิธีต่างๆ พับกระดาษ ปักผ้า เย็บผ้า ถักทอไหมหรือเชือก ฯลฯ ยังเสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ไปในตัว ที่สำคัญ การทำงานศิลปะการฝึกทักษะการใช้มือ และสายตาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบอีกด้วย
3.เล่นเกมและกีฬา นำพาสมาธิ
ใครว่าต้องอยู่นิ่งๆ เท่านั้นจึงจะมีสมาธิได้? เพราะแท้จริงแล้วสมาธิเป็นเรื่องของจิตใจที่จดจ่อ ดังนั้นแม้จะขยับตัวไปด้วยก็สามารถมีสมาธิได้ การจะเล่นกีฬาหรือเล่นเกม จึงมีส่วนช่วยสร้างสมาธิได้เช่นกันค่ะ เราขอแนะนำสำหรับกีฬาที่เสริมสร้างสมาธิได้ดี เช่น ยิงธนู, เปตอง, ปิงปอง, หมากรุก หรือหมากกระดานอื่นๆ เป็นต้น
เกมที่สร้างสมาธิเราแนะนำเกมในรูปแบบ Puzzle ต่างๆ จะเป็นเกมจิ๊กซอว์หรือตัวต่ออื่นๆ ก็ได้ หรือถ้าอยากฝึกภาษาลองเป็น Crossword หรือถ้าอยากจะฝึกคิดแบบมีตรรกะ สร้างความถนัดเรื่องตัวเลข ลอง Sudoku ก็สนุกไปอีกแบบ เกมทั้งหมดนี้มีในรูปแบบออนไลน์มากมาย แต่หากไม่อยากให้ลูกติดหน้าจอ ลองหาแบบหนังสือ Activity book ดูก็ได้
4.ฟังเพลง/ ดนตรี จังหวะอัลฟา
ก่อนอื่นเรามารู้จักคลื่นอัลฟา กันก่อน Alpha Brainwave หรือคลื่นสมองระดับอัลฟา เป็นคลื่นที่มีความถี่ระหว่าง 8 – 13.9 Hz จะเกิดขึ้นเมื่อเราพักผ่อน และมีความสงบ (relaxation) แต่อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว หรือในขณะร่างกาย และจิตใจผ่อนคลาย สภาวะก่อนหลับนั่นเอง สภาวะนี้จะทำให้รับข้อมูลได้ดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้ดี คลื่นระดับนี้สมองจะสามารถเปิดรับข้อมูลได้อย่างเต็มที่ และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
จึงมีเพลง หรือดนตรีที่จับจังหวะของคลื่นสมองนี้ออกมามากมาย คุณพ่อคุณแม่สามารถค้นหาโดยใช้ Keyword “Alpha brainwave music” “Study Music” “Relaxing Music” “Brainwave music” เป็นต้น
5.ฝึกลมหายใจ ไม่ใช่เรื่องยาก
การนั่งสมาธิ จะทำให้เด็กเกิดความสงบ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเรียน หรือการเล่นกีฬา แต่หลายบ้านบอกว่าจะให้นั่งนิ่งๆ ยังยาก แล้วจะนั่งสมาธิได้อย่างไร? เอาจริงๆแล้วการนั่งสมาธิก็เหมาะกับเด็กที่ค่อนข้างโตขึ้นมาหน่อยค่ะ สัก 6-7 ขวบ เด็กจะมีความสามารถในการอยู่นิ่งได้นานขึ้นตามพัฒนาการของเขาอยู่แล้ว ดังนั้นการสอนให้นั่งสมาธิในช่วงนี้น่าจะเหมาะสม แต่ในเด็กที่เล็กกว่านี้ก็สามารถสอนได้ค่ะ แต่ต้องเชื่อมโยงเรื่องลมหายใจเข้า-ออกกับสิ่งที่ใกล้ตัวเขาเช่น ให้ลูกนอนลง วางตุ๊กตาไว้บนพุง แล้วลองให้ลูกลองหายใจเข้า - ออก ช้าๆ สังเกตุการขึ้นลงของตุ๊กตา แล้วค่อยให้เด็กๆ กำหนดลมหายใจเข้า - ออก ด้วยคำที่เขาถนัด อาจจะเป็น 1-2 หรือคำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพุทธ-โธ หรือยุบหนอ-พองหนอ ซึ่งเป็นคำที่ไกลตัวเด็ก เขาอาจจะไม่เข้าใจ ทำไปสู่ความรู้สึกอึดอัด กลายเป็นว่าการนั่งสมาธินั้นเป็นการถูกบังคับไป
นี่ล่ะค่ะ 5 วิธีง่ายๆที่จะช่วยให้ลูกของคุณมีสมาธิมากขึ้น ลองเลือกสิ่งที่น่าจะเข้ากับลูกคุณไปลองทำดู ได้ผลอย่างไรอย่าลืมมา Feedback กันบ้างนะคะ
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
How to Play : กลเม็ดพิชิตใจเด็ก
“เล่นให้เด็กติดใจ”จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าหากเรารู้เคล็ดลับบทเรียนนี้จะช่วยให้คุณ “เป็นคนที่ เล่นอย่างสนุก”“เข้าใจวิธีการเ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...