สร้าง Self-worth ภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ลูกรู้จักรักตัวเอง(มากพอ)
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในครอบครัว เช่น การมีภรรยาน้อย หรือลูกสาววัยรุ่น ไปเป็นภรรยาน้อยคนอื่น ไปจนถึงปัญหาสังคมอย่าง การยกพวกตีกันตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาล วัดหรือโรงเรียน หากมองลงไปลึก ๆ ถึงต้นตอที่แท้จริงแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่คน ๆ หนึ่งรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่ามากพอ จนนำไปสู่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้
ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถช่วยกันลดปัญหาในสังคมเหล่านี้ได้ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาอย่างเห็นคุณค่าในตัวเอง รักตัวเองมากพอที่จะไม่ทำเรื่องเสื่อมเสียต่าง ๆ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ต้องเริ่มจากครอบครัว
เพราะรัก...จึงไม่ทำร้าย(ตัวเอง)
ขณะที่อ่านข่าวสารบ้านเมือง เคยสงสัยไหมคะว่า เพราะอะไรคน ๆ หนึ่งถึงยอมทนเป็นภรรยาน้อย เพราะอะไรคน ๆ หนึ่งถึงยอมทนกับความสัมพันธ์แย่ ๆ เพราะอะไรแก๊งวัยรุ่นจึงเที่ยวไปทำร้ายฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ยั้งคิด เพราะพวกเขารักตัวเองมากไป หรือเพราะพวกเขารักตัวเองไม่มากพอ?
วัยรุ่นที่มีปัญหาส่วนหนึ่งอาจมาจากภาวะบางประการที่ติดตัวแต่กำเนิด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ แต่ก็มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ที่มีปัญหาพฤติกรรมเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกเปรียบเทียบ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูต่อว่าด้วยคำพูดรุนแรงเป็นประจำ เมื่อสะสมนานวันเข้าอาจบั่นทอนคุณค่า และตัวตนของเด็ก ๆ ได้
เมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู รู้สึกถูกทอดทิ้ง ไร้ค่า พวกเขาจึงไม่รู้จัก “ความรักที่แท้จริง” และไม่สามารถรักตัวเองได้ เพราะพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูทำให้พวกเขาเชื่อไปแล้วว่าไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก เมื่อโตขึ้นจึงมักยอมทนกับความสัมพันธ์แย่ ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า หรือเข้าร่วมกลุ่มแก๊งเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ในทางกลับกันคนที่รัก และเห็นคุณค่าของตัวเองมากพอจะเลือกเดินออกมาจากสถานการณ์แย่ ๆ เหล่านั้น เพราะรู้ว่าตนเองมีคุณค่าโดยไม่ต้องอาศัยความรัก และการยอมรับจากคนอื่น
รักตัวเอง หรือ หลงตัวเอง
ขณะที่เด็กบางคนไม่อาจรักตัวเองได้ เพราะถูกทอดทิ้ง ในทางกลับกันเด็กบางคนอาจรักตัวเองมากไปจนกลายเป็นหลงตัวเอง และนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลังได้เช่นกัน โดยเด็กกลุ่มนี้ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูมักตามใจ ชมและให้ท้ายแม้ว่าบุตรหลานทำผิดอาจให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ เด็กจึงเติบโตมาพร้อมความรู้สึกชอบแข่งขัน เปรียบเทียบ และยอมไม่ได้หากตนเองไม่เป็นที่หนึ่ง
ความแตกต่างของเด็กที่รักตัวเอง และหลงตัวเอง จึงอยู่ที่การแสดงออก เด็กที่รักตัวเองอย่างเหมาะสม จะแบ่งปันความรัก และมีเมตตาต่อคนอื่น ๆ สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอก และขณะที่มีความหลงตัวเองนั้น มักชอบควบคุม และภายนอกอาจดูเหมือนมีความมั่นใจแต่ลึก ๆ ในใจแล้วกลับเต็มไปด้วยความกังวล และกลัวไม่ได้รับการยอมรับ
เลี้ยงลูกให้รู้คุณค่า และรักตัวเอง
- เชื่อในความสามารถของลูก เด็ก ๆ เติบโตขึ้นทุกวัน จนพ่อแม่อาจตามไม่ทันลูก ขณะที่คุณคิดว่าลูกเด็กเกินกว่าจะช่วยตากผ้า แต่เมื่อไปรับลูกที่โรงเรียน คุณกลับเห็นลูกปีนขึ้นไปติดป้ายกีฬาสีผืนใหญ่อย่างคล่องแคล่ว วินาทีนั้นคุณจึงเพิ่งรู้ว่าลูกไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไปแล้ว ลองเชื่อมั่นในตัวลูก ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง อย่ารีบเข้าไป “ช่วย” เร็วเกินไป เพราะยิ่งเด็ก ๆ ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความมั่นใจ และภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
- สังเกตความสนใจของลูก คอยสังเกตว่าช่วงนี้ลูกชอบอะไร เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่เขาสนใจ
- บ่อย ๆ ฟัง และให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการ การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกสนใจ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับจากพ่อแม่
- ให้ลูกได้เลือก เด็ก ๆ เป็นเจ้าของชีวิตของพวกเขาเอง ดังนั้นเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือก และตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองบ้าง ตั้งแต่เล็ก ๆ อาจให้ลูกเลือกเสื้อผ้าที่ใส่เอง เมื่อลูกโตขึ้น อาจให้ลูกเลือกว่าจะกลับบ้านเองหรือให้พ่อแม่ไปรับ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามวัยด้วย
- สื่อสารเชิงบวก การเป็นพ่อแม่บางทีก็จำเป็นต้องขัดใจ และปฏิเสธลูกในเรื่องที่เห็นว่าไม่เหมาะสมบ้าง แต่การปฏิเสธลูก ควรทำบนพื้นฐานของการสื่อสารเชิงบวก นั่นคือ อธิบายด้วยเหตุผล นุ่มนวลแต่หนักแน่น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของลูก และชี้แจงเหตุผลของคุณ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ช่วยคิดหาทางที่เหมาะสม ไม่ตัดสินหรือวิจารณ์ด้วยการใช้คำพูดเชิงลบ เช่น ขออะไรไม่เข้าท่า หาเรื่องให้แม่อีกแล้ว ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ห้ามเถียง คำพูดเหล่านี้นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังบั่นทอนจิตใจเด็ก ๆ ด้วย
- ให้เวลา เคยได้ยินไหมคะว่า รักสิ่งไหน เราจะหาเวลาให้สิ่งนั้น ถึงแม้จะมีภาระมากมาย งานต้องทำ เงินต้องหา แต่หากรักลูกจริง ๆ แล้ว เราย่อมจัดสรรเวลาที่จะอยู่กับลูกได้ค่ะ ในแต่ละวันอาจเป็นเวลาไม่นานนัก แต่เป็นเวลาคุณภาพ ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาคือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่หน้าจอโทรศัพท์ เด็ก ๆ ย่อมรับรู้ และรู้สึกได้ค่ะ
- แสดงความรัก วัฒนธรรมบ้านเราอาจไม่คุ้นกับการกอด หรือบอกรักเท่าไร พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูอาจใช้วิธีแสดงความห่วงใย คอยดูแลไม่ห่าง เพื่อแสดงความรักแทนการบอกรักตรง ๆ จนบางครั้งเด็ก ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นอาจมองว่าผู้ใหญ่จ้ำจี้จ้ำไชเกินไป ไม่ปล่อยให้เขาเติบโต ดังนั้น การกอด และบอกรักลูกเป็นประจำเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้เด็ก ๆ รับรู้ได้ว่าพวกเขาเป็นที่รักค่ะ หากไม่เคยทำ ไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองเริ่มจากส่งสติ๊กเกอร์ไลน์บอกรักลูก ก็น่ารักดีนะคะ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...