สอนให้ลูกรู้เท่าทันการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย
อินเทอร์เน็ตเหมือนดั่งโลกที่ไร้พรมแดน เราสื่อสารกันได้โดยที่ไม่ต้องเห็นหน้า ทำให้คนที่อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้กัน และสามารถค้นคว้าทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้ว จึงไม่แปลกเลยที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากกับคนทุกเพศ ทุกวัย ในสังคมไทยปัจจุบันซึ่งกำลังมุ่งสู่สังคมแบบดิจิทัลกล่าวคือ เราสามารถติดต่อสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยี ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน และผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่สังคมดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พร้อมใช้เล่นโซเชียลมีเดียด้วยแล้ว ย่อมทำให้พฤติกรรมของเยาวชนในยุคนี้เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่เล่นของเล่น ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ข้างนอกซะส่วนใหญ่ ตอนนี้เด็ก ๆ อาจจะอยากจับไอแพด เล่นโทรศัพท์เพื่อคุยกับเล่นกับเพื่อนในไลน์ หรือเฟซบุ๊กมากกว่าแต่ก่อน
ขอบคุณภาพจาก tirachardz
แม้ว่าบางทีเด็ก ๆ สมัยนี้อาจจะใช้เทคโนโลยีหรือเล่นอินเทอร์เน็ตเก่งกว่าผู้ใหญ่ แต่ในแง่ประสบการณ์นั้นยังถือว่าน้อยกว่า ทำให้บางครั้งอาจมีความเสี่ยงจากการเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การชอปปิ้งออนไลน์มากจนเกินไป การติดเกมออนไลน์ การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น จนก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งมีงานวิจัยของ The University of Leeds มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ที่ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,319 คน ที่มีช่วงอายุระหว่าง 16 - 51 ปี พบว่าโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์อย่างมากกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ ติดอินเทอร์เน็ตมากจนเกินไป วันนี้เราเลยนำวิธีการสอนให้ลูกรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ตมาฝากคุณพ่อ คุณแม่เพื่อนำไปปรับใช้ในการปลูกฝังให้ลูกรู้เท่าทันวิธีการใช้โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ว่าเล่นอย่างไรให้ปลอดภัย และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก tirachardz
1.จำกัดเวลาที่ใช้ในการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม ในเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่ควรจำกัดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตของลูก โดยควรทำข้อตกลงกับลูกว่าให้เล่นวันละกี่ชั่วโมง พร้อมอธิบายเหตุผลกับลูกว่าที่จำกัดชั่วโมงการเล่นเพราะอะไร เช่น เล่นนานจะสายตาเสีย หรือทำการบ้านไม่เสร็จ เป็นต้น ตรงจุดนี้ถ้าลูกทำได้จะช่วยปลูกฝังให้เขามีระเบียบวินัย และรักษาสมดุลระหว่างชีวิตจริง และโลกออนไลน์ได้
2.ระวังการแชร์ข้อมูลส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้มีมิจฉาชีพอยู่บนอินเทอร์เน็ตมากมาย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรสอนให้ลูกระวังการอัพข้อมูลส่วนตัวลงในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บัตรประชาชน การเช็คอินว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ที่อยู่ เบอร์โทรต่าง ๆ หรือการใช้ Wi-Fi สาธารณะกรอกข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจทำให้มิจฉาชีพเข้ามาแฮ็กข้อมูลไปหาประโยชน์ได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษา และให้ความรู้กับลูกในเรื่องนี้เพื่อเตรียมพร้อม และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
3. ก่อนโพสต์ และแชร์ควรไตร่ตรองให้ดีก่อน พ่อแม่ควรแนะนำถึงการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น ให้ระวังคำหยาบ การกลั่นแกล้งผู้อื่นผ่านอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) รวมถึงควรแนะนำให้ลูกระมัดระวังการแชร์ข้อมูลบนโซเชียล เนื่องจาก ถ้าแชร์ข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ข้อมูลลามก อนาจาร อาจมีความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ความรู้เรื่องพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือลักษณะของข้อความที่เข้าข่าย Cyberbullying กับลูกคร่าว ๆ ด้วย
4.สอนลูกว่าไม่ควรบอก Username และ Password แก่ผู้อื่น เนื่องจาก Username และ Password จะสามารถเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวของเราได้ พ่อแม่จึงควรย้ำกับลูกว่าไม่ควรบอกข้อมูลเหล่านี้กับผู้อื่น และไม่ควรล็อกบัญชีโซเชียลมีเดียทิ้งไว้ในคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน และคอมที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจมีคนนำข้อมูลของเราไปทำเรื่องเสียหาย หรือใช้หลอกลวงผู้อื่นได้
5.สอนลูกเกี่ยวกับภัยบนอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่าเมื่อเข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้วลูกจะเจอกับเนื้อหาแบบไหนบ้าง พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักภัยอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เช่น การโดนโกงเงินจากการชอปปิงออนไลน์ การโดนกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) การโดนล่อลวงไปกระทำมิดีมิร้าย และโดยเฉพาะเว็บพนันออนไลน์ที่มักเด้งขึ้นมาให้เรากดเข้าไปเล่น พ่อแม่ต้องระวังให้มากเนื่องจากเด็กเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง อาจจะกดเข้าไปเล่นจนติดได้
6.ตรวจเช็คค่าใช้จ่ายในการเล่นอินเทอร์เน็ต พ่อแม่ควรหมั่นเช็คค่าใช้จ่ายในการเล่นอินเทอร์เน็ตของลูกอยู่เสมอ เพราะลูกอาจจะเอาไปซื้อของออนไลน์ หรือเติมเกมโดยไม่ได้บอกทำให้เสียทรัพย์สินไปมากมาย ตรงจุดนี้พ่อแม่ต้องระมัดระวัง และคอยตรวจสอบการผูกบัตรเครดิตทิ้งไว้ หรือบัญชี Internet Banking ไว้ในโทรศัพท์ลูกด้วย เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ติดเป็นนิสัยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริการจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของตัวเองในอนาคต
การใช้อินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบันเข้ามามีอิทธิพลต่อเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรู้วิธีที่จะรับมือกับลูก และสอนให้ลูกรู้เท่าทันการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ เพื่อแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดกับเด็กจากการใช้อินเทอร์อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในอนาคตต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://prosoftfamily.softbankthai.com/Article/Detail/25693
https://www.istrong.co/single-post/too-much-internet-is-at-risk-of-depression
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...