FOMO ความกังวลในโลกยุคใหม่ของเด็กวัยดิจิตอล
เด็กน้อยที่บ้านมีอาการอย่างนี้หรือเปล่าค่ะ ตื่นเช้ามา ต้องกดโทรศัพท์ดูเป็นอย่างแรก ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ระหว่างวัน ถ้าไม่ได้กดหน้าจอก็กังวลใจกลัวพลาดข่าวสาร ไม่ทันเหตุการณ์ หากสังเกตว่าเด็ก ๆ ใกล้ตัว กำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขากำลังเผชิญกับอาการที่เรียกว่า FOMO เข้าให้แล้วค่ะ
FOMO หรือ Fear of missing out การกลัวพลาดสิ่งสำคัญ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคดิจิตอลจำนวนมาก แม้จะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นอาการป่วยทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษา แต่ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เพราะผู้ที่มีอาการ FOMO มักจะกระวนกระวายใจเมื่อไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต
คำว่า Fear of missing out ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1996 ในงานวิจัยเกี่ยวกับการตลาด โดย Dr. Dan Herman ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Brand Management ต่อมาจึงถูกนำมาย่อเป็นคำว่า FOMO โดย นักเขียนชาวอเมริกัน Patrick J. McGinnis ในบทความตีพิมพ์ลงนิตยสาร Harbus ของ Harvard Business School เมื่อปี 2004 จนกลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
FOMO เมื่อเด็กกลัวตกเทรนด์
เมื่อเพื่อนไม่ชวนไปงานวันเกิด จนทำให้เรารู้สึกกระวนกระวายใจ เพราะกลัวพลาดเรื่องเด็ด ๆ หรือ เมื่อเราไม่ได้ไปทัศนศึกษากับเพื่อนเพราะป่วย แต่ก็นอนไม่หลับ เพราะเสียดายที่พลาดประสบการณ์ดี ๆ เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นตัวอย่างของอาการ FOMO ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันค่ะ ในขณะเดียวกัน FOMO ยังอาจทำให้เราตัดสินใจทำบางสิ่ง ทั้งที่ไม่อยากทำ เช่น เราอยากรีบกลับบ้าน แต่เพื่อนชวนไปกินไอศกรีม เราก็ตามเพื่อนไป เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เป็นต้น
ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล โซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้ทุกคนสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้อย่าง Real-time ก็ยิ่งพบคนที่มีอาการ FOMO ได้บ่อยขึ้น เพราะเรามัวแต่ใช้เวลาส่วนใหญ่กังวลว่าคนอื่น ๆ กำลังทำอะไร หากเราไม่ได้ทำแบบเขา จะตกเทรนด์หรือเปล่า จนทำให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าลดลง และอาจพลาดสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง
ผู้ที่มีอาการ FOMO มักรู้สึกว่าตนเองอยู่ในระดับสังคมที่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ เมื่อไม่ได้ทำกิจกรรมเหมือนสังคมรอบตัว ความรู้สึกเช่นนี้อาจทำให้เกิดปมด้อย และกลายเป็นความเครียด โดยเฉพาะวัยรุ่นที่กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก และมักจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ ทั้งอัพเดทสถานะตัวเอง เช็คสถานะของเพื่อน ๆ รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคม หากพวกเขาเห็นว่าเพื่อน ๆ ไปเที่ยว โพสต์ท่าถ่ายรูปชิค ๆ ทุกสุดสัปดาห์ ในขณะที่ตัวเองต้องนอนดูทีวีอยู่บ้าน ก็อาจเกิดความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองนั้นช่างน่าเบื่อเมื่อเทียบกับผู้คนในโลกออนไลน์
ผลกระทบของการกลัวตกเทรนด์
รู้หรือไม่ค่ะว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะมีอาการ FOMO มากขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงเฉพาะเด็กวัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็เช่นกันค่ะ ปัญหาที่ตามมาก็คือ FOMO ทำให้คนเราให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าแก่นสารภายใน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวตน อาจสูญเสียความเป็นตัวเอง ละเลยที่จะตรวจสอบจิตใจว่าลึก ๆ แล้วตนเองต้องการอะไรกันแน่ เพราะมัวแต่ตามเทรนด์มากเกินไป บ่อยเข้า ความพยายามที่จะเหมือนคนอื่น อาจทำให้กลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเองได้
งานวิจัยเรื่อง Facebook Use Predicts Declines in Subjective Well-Being in Young Adults ที่เผยแพร่เมื่อปี2003 ระบุว่า ยิ่งเยาวชนใช้เฟซบุ๊กมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีอาการ FOMO มากขึ้นเท่านั้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า 1 ส่วน 3 ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก มักมีความรู้สึกแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นภาพคนอื่น ๆ ไปเที่ยวพักร้อน นอกจากนี้การสำรวจโดย The National Stress and Wellbeing ของประเทศออสเตรเลีย ยังพบว่า 51% ของวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดีย เกิดความกังวลที่เห็นภาพเพื่อน ๆ มีความสุขสนุกสนานโดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย นักวิจัยระบุว่า ยิ่งระยะเวลาที่เยาวชนใช้สื่อออนไลน์นานเท่าไร ระดับความเครียดก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น
ผลกระทบของ FOMO ต่อเยาวชนอีกประการคือ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง เนื่องจากขาดสมาธิ เพราะสื่อออนไลน์มักทำให้ผู้ใช้วอกแวกได้ง่าย เด็ก ๆ ที่มีอาการ FOMO มาก ๆ มักเช็คโซเชียลมีเดีย ในคาบเรียน อีกทั้งยังอาจเช็คโซเชียลมีเดีย หรือส่งข้อความระหว่างเดินทางซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ชวนวัยทีนรับมือ FOMO
หากคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเริ่มรู้สึกว่าเด็กน้อยในครอบครัวกำลังมีอาการ FOMO ว่างเป็นไม่ได้ต้องรีบเช็คโทรศัพท์ เมื่อไม่ได้เข้าถึงโลกออนไลน์ ก็มีอาการกระวนกระวายใจอย่างเห็นได้ชัด ควรชวนลูกมานั่งคุย ถามความรู้สึกของเด็ก ๆ ว่ากังวลเรื่องอะไร และมีสิ่งใดที่พ่อแม่จะช่วยได้บ้าง หากเด็กๆ บอกว่าพวกเขากลัวว่าจะพลาดเทรนด์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจช่วยให้ลูกทำความเข้าใจกับอาการ FOMO ที่ลูกประสบอยู่ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
- เขียนบันทึก โดยเฉพาะหากเด็ก ๆ เริ่มมีอารมณ์เชิงลบ เช่น กระวนกระวายใจ หงุดหงิดที่ไม่ได้ทำกิจกรรมเหมือนเพื่อน ๆ หรือเมื่อไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต การเขียนบันทึกจะทำให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนอารมณ์ของตนเองและระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา อีกทั้งยังได้สำรวจตัวเองด้วยว่าอารมณ์เชิงลบเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนในแต่ละวัน สิ่งใด คือสาเหตุเพื่อจะได้หาทางแก้ไขต่อไป
- จัดเวลาปิดหน้าจอ เพื่อชีวิตจริง พ่อแม่ผู้ปกครองอาจแนะนำว่าในแต่ละวันเด็ก ๆ ควรมีเวลาที่วางโทรศัพท์ ปิดหน้าจอทุกชนิด และทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง ซึ่งจะให้ได้ผลดีผู้ใหญ่ควรปิดหน้าจอพร้อมเด็ก ๆ ด้วยค่ะ แรก ๆ อาจเริ่มจากเวลากินอาหารเย็นให้ทุกคนวางโทรศัพท์สัก 1 ชั่วโมง เมื่อทำได้ ก็อาจเพิ่มเวลาให้ยาวขึ้น โดยช่วงเวลาปิดหน้าจอ ควรหากิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ใช้สมาธิจดจ่อ เช่น ออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ ช่วยงานบ้าน ทำขนม วาดภาพระบายสี ให้เด็ก ๆ ได้เลือกกิจกรรมที่ชอบเอง ก็อาจจะทำให้ประสบผลสำเร็จมากขึ้นค่ะ
- สอนลูกคาดหวังตามความเป็นจริง ในชีวิตจริงไม่มีใครที่สนุกสนาน มีความสุขได้ตลอดเวลาค่ะ หากมีโอกาสอาจคุยกับลูกว่า ภาพถ่ายในโลกโซเชียล ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของแต่ละคนเท่านั้น ภาพที่เห็นก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ลูกคิด เพื่อนสาวที่โพสรูปกระโปรงบานกลางทุ่งดอกไม้ เบื้องหลังแล้วเขาอาจต้องฝ่ารถติด ทนแดดร้อนเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อจะได้ภาพถ่ายแค่ 1 ใบ ในขณะที่เวลาเท่ากันนั้นสามารถทำอย่างอื่นได้อีกหลายอย่าง ลองพูดให้ลูกเข้าใจว่าในแต่ละสัปดาห์ก็อาจมีวันที่รู้สึกว่าชีวิตหน้าเบื่อ แต่ขณะเดียวกันก็มีโมงยามที่สนุกสนาน ให้ลูกลองโฟกัสสิ่งดี ๆ ในชีวิตของตัวเอง แทนการโฟกัสภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ก็อาจทำให้เด็ก ๆ เข้าใจชีวิตตามจริงได้ดีขึ้นค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว เด็ก ๆ จะไม่มองหาสิ่งภายนอก หากภายในบ้าน พวกเขารู้สึกมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับค่ะ การช่วยป้องกันลูกจากอาการ FOMO จึงต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย หาเวลาอยู่กับลูก ปิดหน้าจอโทรศัพท์ของตนเอง แล้วชวนลูกทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นเพื่อนคุย และรับฟังเรื่องราวในชีวิตของพวกเขา หากเด็ก ๆ สัมผัสได้ว่าครอบครัวเป็นที่ที่มีความสุข พวกเขาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดสิ่งดี ๆ ในชีวิตจากทีอื่น ๆ ค่ะ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...