เลี้ยงลูกให้เป็นแชมป์ด้วยวิธีของโค้ชระดับโลก
คุณคิดว่าชัยชนะกับความสำเร็จเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ?
วันนี้ เราจะพาไปหาคำตอบกับวิธีสร้างแชมป์ของโค้ชวอโลรี่ คอนดอส ฟิวด์ (Valorie Kondos Field) อดีตหัวหน้าโค้ชทีมยิมนาสติกของมหาวิทยาลัย ULCA ซึ่งตลอด 29 ปี ของการเป็นโค้ช เธอพาทีมไปคว้าแชมป์ได้หลายรายการ และได้รับการโหวตให้เป็นโค้ชของศตวรรษในที่ประชุม Pac-12 ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาผู้นำรุ่นต่อไปโดยการสนับสนุนความเป็นเลิศในด้านวิชาการ กีฬา และชีวิตความเป็นอยู่
ขอบคุณภาพจาก UCLA
คงเซอร์ไพรซ์น่าดู หากโค้ชที่มีหน้าที่นำทีมให้ชนะ กลับบอกกับคุณว่า “ชัยชนะไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป” ใช่แล้ว นี่สิ่งที่เธอพูดจริง ๆ บนเวที TED talks ซึ่งโค้ชวอโลรี่กล่าวว่า หลายครั้งที่สังคมให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพื่อเอาชนะ เราเชิดชูคนที่เป็นแชมป์เป็นที่หนึึ่ง หรือคนที่ได้รับรางวัล จนทำให้เรายอมเสียสละทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวเองเพื่อแลกมากับชัยชนะแต่จริง ๆ แล้ว ความสำเร็จ คือ การเป็นแชมป์ในชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้คนอื่นก็ตาม
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการโค้ช คือการให้แรงบันดาลใจ และการผลักดันให้ลูกทีมอยากจะเป็นแชมป์ในชีวิตของตัวเองมากกว่าการเป็นแชมป์บนเวที หรือสนามแข่ง อีกนัยหนึ่ง คือการสร้างความมั่นใจ ความภูมิใจ และการเคารพตัวเองให้กับลูกทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการเชื่อมั่นในศักยภาพ และเคารพตัวตนที่แท้จริงของเขา
ขอบคุณภาพจาก Irina Murza
เมื่อมองย้อนกลับมาที่พ่อแม่ซึ่งนับว่าเป็นเหมือนโค้ชของลูก ๆ ก็สามารถใช้หลักการเดียวกันกับโค้ชวอโลรี่ได้ นั่นคือ การสร้างแรงผลักดันจากภายใน ให้ลูก ๆ เขาอยากจะเอาชนะตัวเอง มากกว่าการเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พ่อแม่เข้าใจ และเคารพตัวตนของลูก รวมทั้งเชื่อมั่นในตัวเขาอย่างที่โค้ชเชื่อมั่น และไว้วางใจลูกทีม
คอนเซปต์นี้เลยนำไปสู่ไอเดียการเลี้ยงลูกให้เป็นแชมป์ (ที่แข่งกับตัวเอง) โดยมี 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
- สนใจชัยชนะจากแข่งขันให้น้อยลง เช่น การได้เกรดสูง ๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ แต่หันมาสนใจตัวตนของเขาให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจว่าลูกเป็นคนแบบไหน มีความชอบ ความถนัด และศักยภาพด้านไหน เพื่อให้เราสามารถสนับสนุนเขาได้ถูกทาง และเชื่อมั่นในตัวตนที่เขาเป็นจริง ๆ
- ตั้งคำถาม และรับฟังลูกให้มากขึ้น ซึ่งไม่ควรเป็นคำถามเชิงผลลัพธ์ อย่างวันนี้สอบได้กี่คะแนน ? หรือเล่นดนตรีเก่งขึ้นหรือยัง ? แต่ให้ถามเชิงประสบการณ์ หรือกระบวนการแทน เช่น วันนี้เรียนอะไรมาบ้าง ? รู้สึกสนุกมั้ย ? ซ้อมเป็นยังไงบ้าง ? และเมื่อเราได้รับคำตอบจากลูก อาจจะยังไม่ต้องรีบตอบกลับไปโดยทันที แต่ใช้จังหวะที่ลูกได้เริ่มเล่าเรื่องราวนั้น เงียบ ฟัง และถามต่อไป เรียกง่าย ๆ ว่าใช้คำถามเหล่านี้เปิดบทสนทนาให้เรารู้จักลูก ๆ มากขึ้นว่าเขาคิด รู้สึก หรือเจอประสบการณ์อะไรอยู่
- สนใจเขาในทุก ๆ เรื่องไม่ใช่แค่เรื่องเรียน พ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อเจอลูกกลับจากโรงเรียน ก็มักจะถามเพียงเรื่องเรียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่ต้องไม่ลืมว่าชีวิตของเขายังมีอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อน อาหารการกิน งานอดิเรก และอีกหลากหลายเรื่องราว การพูดคุยถึงสิ่งเหล่านี้ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้พ่อแม่รู้จัก และเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือ Comfort zone ที่เขาสามารถเล่าได้มากกว่าเรื่องเรียน
ทั้งสามข้อนี้มีจุดร่วมที่สำคัญ คือ การทำความรู้จัก และเข้าใจตัวตนของลูกอย่างแท้จริง พร้อมกับยอมรับในตัวตนนั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกของลูกว่ามีคนคอยอยู่เคียงข้าง และเชื่อมั่นในตัวเขาเสมอ ถ้าวันหนึ่งที่ลูกมีปัญหาหรือไม่สบายใจ เขาจะรับรู้ว่ายังมีเราที่คอยอยู่ข้างหลัง คอยช่วยเหลือ และรับฟังเขาอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่เขาจะยังคงรู้สึกเคารพ ภูมิใจในตัวเอง และกลายเป็นแชมป์ในโลกของเขาเองได้ในที่สุด
ขอบคุณวิธีการดี ๆ จาก
TED talks : Valorie Kondos Field: Why winning doesn't always equal success
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...