5 วิธีสานสัมพันธ์กับลูกวัยทีน

Starfish Academy
Starfish Academy 6381 views • 4 ปีที่แล้ว
5 วิธีสานสัมพันธ์กับลูกวัยทีน

พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกหลานวัยทีน คงมีเรื่องให้กลุ้มใจ ปวดหัวกับพฤติกรรม ความคิดที่เปลี่ยนไปของลูกบ่อยๆ ใช่ไหมคะ? หนูน้อยที่เคยน่ารัก พูดอะไรก็เชื่อฟัง หรืออย่างน้อยๆ หลอกล่อเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจบ้างก็ได้ผล แต่มาตอนนี้เด็กๆ เหล่านั้น เติบโตเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดและเหตุผลจนบางทีก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ อึ้งได้เหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงตามวัยของวัยรุ่นนี่เอง ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกไม่ใกล้ชิดเหมือนเดิม จนเกิดความรู้สึกว่ายิ่งโตก็ยิ่งห่าง ช่องว่างค่อยๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ เอาล่ะค่ะ! ก่อนที่จะสายเกินไป เรามาหาวิธีสานสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่น ให้กลับมาใกล้ชิด อบอุ่นเหมือนเดิมกันดีกว่า

1. ปรับวิธีให้คำแนะนำ

สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อเห็นว่าลูกกำลังมีปัญหา เชื่อว่าคุณมีคำแนะนำที่อยากแบ่งปันและบอกกล่าวมากมาย แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี บางทีเริ่มบอกไปก็กลายเป็นสอน จนลูกวัยรุ่นเมินหน้าหนี สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำก็คือ มองสถานการณ์ในมุมมองของลูกวัยรุ่น ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าสิ่งที่ลูกกำลังเผชิญ คุณอาจเคยผ่านมาก่อนแล้วและรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เด็กๆ ที่เพิ่งเผชิญปัญหาเหล่านี้เป็นครั้งแรก สำหรับพวกเขานี่อาจเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นก่อนให้คำแนะนำลองมองปัญหาในมุมของลูก แล้วถามพวกเขาว่ามีอะไรที่คุณพอจะช่วยได้ไหม หากเด็กๆ เปิดใจเล่าปัญหาให้ฟัง ควรตั้งใจฟังโดยไม่ตัดสิน ก่อนจะแสดงความเข้าอกเข้าใจ แล้วจึงแนะนำวิธีแก้ปัญหาโดยบอกวิธีปฏิบัติที่ทำได้จริง เช่นกล่าวว่า “แม่เข้าใจว่าลูกคงกลัวเพื่อนเข้าใจผิด ถ้างั้นลองคุยกับเพื่อนดีไหมว่าเขาคิดว่าอย่างไร หากเขาเข้าใจผิดลูกจะได้อธิบายให้เพื่อนฟัง” สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือ แสดงความเห็นใจและเลือกคำแนะนำที่ชัดเจน ใช้ได้จริง แม้ว่าคุณอาจมีคำแนะนำมากมาย แต่เชื่อเถอะค่ะว่าสำหรับวัยรุ่น ยิ่งเราพูดสั้น กระชับ ได้ใจความเท่าไรก็ยิ่งดี ไม่อย่างนั้นเด็กๆ อาจคิดว่ากำลังถูกเทศนา จนทำให้ความสัมพันธ์ห่างไกลขึ้นไปอีก

2. ทำให้รู้สึกว่าพวกเขาสำคัญ

วัยรุ่นชอบที่จะรู้สึกว่าพวกเขาทำประโยชน์ให้กับพ่อแม่หรือสังคมได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่มั่นใจในตัวเองมากพอที่จะทำสิ่งเหล่านั้น หรือพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเอง เพราะคิดว่าพวกเขายังเป็นเด็กที่ต้องการการดูแล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ พวกเขาโตพอที่จะทำหลายๆ อย่างได้เอง แต่ก็ยังเด็กเกินไปที่จะควบคุมอารมณ์ หรือรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง หลายครั้งวัยรุ่นจึงจมอยู่กับความรู้สึกสับสนกับบทบาทของตัวเอง ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณอาจใช้โอกาสนี้ สร้างความมั่นใจให้ลูกไปพร้อมกับสานสายสัมพันธ์อันดี ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือคุณในเรื่องที่พวกเขาชำนาญ เช่น ให้ลูกสอนใช้โซเชียล มีเดีย ถามลูกถึงความหมายคำศัพท์วัยรุ่นต่างๆ เช่น ว่าซั่น ปังปุริเย่ ไอ้ต้าว ฯลฯ ไม่แน่ว่าคุณกับลูกอาจมีบทสนทนาสนุกๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนจากคำถามเหล่านี้ก็ได้ ที่สำคัญไม่เพียงคุณจะได้รับความรู้ มุมมองใหม่ๆ จากลูกวัยรุ่น แต่คุณยังได้เข้าใจความคิดและการมองโลกของลูกวัยรุ่น ช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของลูกมาขึ้นด้วย

3. ผิดพลาดต่อหน้าลูกบ้างก็ได้ 

บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ไม่ต้องการให้เด็กๆ เห็นเราในด้านที่อ่อนแอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความผิดพลาดล้มเหลว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตค่ะ และการให้ลูกได้เห็นความผิดพลาด หรืออารมณ์อ่อนไหวของเราบ้างในบางครั้ง ก็อาจทำให้คุณกับลูกเข้าใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูกมีปัญหา และคุณบอกว่าคุณเข้าใจความโศกเศร้าของพวกเขา คำพูดของคุณก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะพวกเขาเคยเห็นมุมที่อ่อนไหวของคุณมาแล้ว นอกจากนี้ ขณะที่คุณเปิดโอกาสให้ลูกเห็นว่าคุณผิดพลาด เสียใจ ก็ต้องทำให้ลูกเห็นด้วยว่าคุณรับมือกับอารมณ์ เหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมตัวเองเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบด้วย เช่น เมื่อคุณมีปัญหาที่ทำงาน อาจเล่าให้ลูกฟังคร่าวๆ บอกลูกว่าคุณผิดหวัง แต่คุณจะพยายามใหม่ ขอบคุณที่ลูกเป็นผู้ฟังที่ดี เชื่อเถอะค่ะว่า เมื่อคุณแบ่งปันเรื่องต่างๆ ในชีวิตกับลูก พวกเขาจะเข้าใจคุณในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีอารมณ์สุข เศร้า ผิดหวัง ไม่ได้เป็นเพียงแม่ที่เอาแต่บ่น หรือพ่อที่วันๆ เอาแต่กราดเกรี้ยว การเปิดใจแบ่งปันปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้ทุกคนในครอบครัวเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

4. เลิกหงุดหงิดพฤติกรรมวัยรุ่น

ถามคำตอบคำ วันๆ เอาแต่เล่นโทรศัพท์ บอกอะไรก็เถียงตลอด พ่อแม่ผู้ปกครองอาจมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่น่ารักเอาเสียเลย แล้วคุณจะสานสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นได้อย่างไร วิธีการก็คือมองข้ามพฤติกรรมเหล่านี้ ให้เห็นถึงปัญหาที่ “แท้จริง” การที่ลูกเอาแต่เล่นโทรศัพท์ เป็นเพราะเมื่อเขาต้องการคุยกับคุณ คุณก็จดจ่ออยู่กับหน้าจอหรือเปล่า หรือการที่ลูกไม่สนใจตอบคำถามของคุณ เป็นเพราะพวกเขากลัวทำให้คุณผิดหวังหรือไม่พอใจหรือเปล่า ครั้งต่อไปที่ลูกเริ่มเล่าเรื่องราวของพวกเขา ลองตั้งใจฟังอย่างจริงใจ หยุดสิ่งที่คุณกำลังทำ และสบตาขณะที่ลูกกำลังพูด เมื่อเด็กๆ รับรู้ได้ว่าคุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูด ครั้งต่อไปที่คุณชวนพูดคุย คุณจะเริ่มสังเกตเห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของวัยรุ่นค่อยๆ เปลี่ยนไป เขาจะเริ่มฟังคุณมากขึ้น เพราะพวกเขารับรู้ว่าคุณก็ฟังพวกเขา ว่าแล้วแทนที่จะหงุดหงิดกับพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก ลองมาหาสาเหตุว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากอะไร หากรู้สึกว่าคุณเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมไม่น่ารักเหล่านั้น อาจลองปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน แล้วสิ่งต่างๆ น่าจะดีขึ้นค่ะ

5. เลิกกังวลมากเกินไป

ความเป็นห่วงของคนเป็นพ่อแม่ไม่มีวันสิ้นสุดค่ะ แต่บางทีความห่วงใยนี่เอง อาจกลายเป็นกำแพงที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก ลองจินตนาการว่า ทุกครั้งที่ลูกเริ่มเล่าอะไรให้ฟัง คุณก็จะมีสีหน้าท่าทางกังวล ลูกยังเล่าไม่ทันจบ ก็รีบแทรกด้วยการเตือนให้ระวัง หรือห้ามลูกทันที เช่น เมื่อลูกกลับถึงบ้านพร้อมแววตาตื่นเต้นแล้วเล่าให้คุณฟังว่าการได้ลองเล่นสเกตบอร์ดสนุกแค่ไหน แทนที่คุณจะสนุกกับเรื่องราวของลูก คำแรกที่คุณบอกลูกกลับเป็นคำว่า “ดีนะที่คอไม่หัก” หรือ “ระวังนะ มันอันตราย” แน่นอนว่าคุณเตือนด้วยความหวังดี แต่ขณะเดียวกันคุณกำลังแสดงความไม่มั่นใจในตัวลูกออกมาโดยไม่รู้ตัว การบอกลูกให้ระวัง ในแง่หนึ่งก็แสดงว่าคุณไม่มั่นใจว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ดีพอ ซึ่งไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็กวัยรุ่นคงไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้แน่ๆ และหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้บ่อยๆ ลูกวัยรุ่นก็จะเลิกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตให้คุณฟังไปโดยปริยาย เพราะพวกเขาไม่อยากให้คุณเป็นห่วง ว่าแล้ว เมื่อลูกเล่าอะไรให้ฟัง ลองฟังอย่างตั้งใจ จับอารมณ์ของลูก หากลูกแค่แบ่งปันเรื่องราวไม่ได้ขอคำปรึกษา ก็ควรฟังและสนุกไปกับลูก แต่ถ้าสิ่งที่เล่าทำให้คุณกังวลจริงๆ อาจทิ้งท้ายบทสนทนาว่า “แม่ดีใจจังที่ลูกได้ทำสิ่งที่ชอบ ถึงแม่จะเป็นห่วงแต่แม่เชื่อว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ดีใช่ไหมจ๊ะ” เพียงเท่านี้ก็ทำให้ลูกรับรู้ว่าคุณห่วงแต่ขณะเดียวกันคุณก็ยังไว้ใจให้เขาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

Related Courses

การเลี้ยงลูกที่มีความต้องการพิเศษ
การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง
basic
2:00 ชั่วโมง

การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก

เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้

Starfish Academy
Starfish Academy
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
Starfish Academy

การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก

Starfish Academy
1394 ผู้เรียน
การเลี้ยงลูกที่มีความต้องการพิเศษ
ด้านความสัมพันธ์ การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง การรู้จักสังคม
basic
2:00 ชั่วโมง

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
Starfish Academy

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

Starfish Academy
3082 ผู้เรียน
เครืองมือครู
ด้านความร่วมมือการ ทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
basic
2:00 ชั่วโมง

Collaborative classroom design

เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
Collaborative classroom design
Starfish Academy

Collaborative classroom design

Starfish Academy
การศึกษาในอนาคต
ด้านความร่วมมือการ ทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา ด้านความสัมพันธ์ การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง การรู้จักสังคม
basic
2:00 ชั่วโมง

เจาะลึกสอบ TCAS

การสอบ TCAS ที่ควรรู้ในแต่ละปีเริ่มเตรียมตัวสอบกันด้วยประเด็นอะไร และสอบอะไร ลองมาดูกันว่ามีประเด็นไหนเกี่ยวกับการสอบ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
เจาะลึกสอบ TCAS
Starfish Academy

เจาะลึกสอบ TCAS

Starfish Academy

Related Videos

สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
08:32
Starfish Academy

สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง

Starfish Academy
365 views • 2 ปีที่แล้ว
สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
โต้ตอบอย่างไรดี (Still Face Experiment)
04:30
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

โต้ตอบอย่างไรดี (Still Face Experiment)

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
48 views • 3 ปีที่แล้ว
โต้ตอบอย่างไรดี (Still Face Experiment)
ตอนที่ 2 ก้าวแรก   เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ
16:40
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนที่ 2 ก้าวแรก เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
605 views • 4 ปีที่แล้ว
ตอนที่ 2 ก้าวแรก เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก
41:00
Starfish Academy

Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก

Starfish Academy
175 views • 2 ปีที่แล้ว
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก