เติมไฟการเรียนรู้ ชวนลูกเข้าสู่เปิดเทอมใหม่แบบไฟแรง
ระหว่างปิดเทอม มักเป็นช่วงเวลาที่กิจวัตรประจำวันของเด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแล้ว เด็กๆ ก็ยังมีเวลาว่างมากขึ้น ที่จะพักผ่อน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามใจ ความผ่อนคลายและกิจวัตรที่เปลี่ยนไปในช่วงปิดเทอมนี่เอง อาจเป็นอุปสรรคของเด็กๆ เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมและต้องกลับไปเรียน เพราะความสะดวกสบายของการพักผ่อน อาจทำให้เด็กๆหมดไฟหรือบางรายอาจถึงขั้นการเรียนรู้ถดถอย บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่มาปลุกไฟในตัวลูก ให้พร้อมเรียนรู้เมื่อวันเปิดเทอมมาถึง
Learning Loss เรียนรู้ถดถอย เรื่องใหญ่หรือเปล่า?
ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พ่อแม่ผู้ปกครองอาจเคยได้ยินคำว่า Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอย ที่เกิดขึ้นเพราะในช่วงการระบาดใหญ่ เด็กๆ ต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน ซึ่งจะว่าไปแล้วภาวะการเรียนรู้ถดถอยนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ แต่พบได้เสมอ แม้กระทั่งในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม การหยุดเรียน 2-3 เดือน ย่อมไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าการหยุดเรียนเป็นปีๆ การศึกษาในต่างประเทศหลายชิ้น ให้ผลที่แตกต่างกัน เช่น การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sociological Science ปี 2023 ระบุว่าผลการทำแบบทดสอบว่าเด็กๆ หลงลืมความรู้ที่เรียนก่อนปิดเทอมมากเพียงใด พบว่าในช่วงปิดเทอมเด็กๆ ลืมสิ่งที่ได้เรียนมาย้อนไปได้ถึง 3 เดือน ขณะที่การศึกษาโดยใช้แบบประเมิน Renaissance Learning assessment พบว่าเด็กมีการเรียนรู้ถดถอยเพียงเล็กน้อยในด้านการอ่าน แต่ถดถอยมากในวิชาคณิตศาสตร์ การศึกษาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าพื้นฐานครอบครัว สภาพแวดล้อม ก็มีอิทธิพลต่อภาวะการเรียนรู้ถดถอย กล่าวคือ ครอบครัวที่พ่อแม่ใช้เวลากับลูก ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ช่วงปิดเทอม หรือสอนให้เด็กๆ นำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ถดถอยย่อมเกิดขึ้นน้อยกว่า นักวิจัยยังแนะนำเพิ่มเติมว่า การเรียนคอร์สซัมเมอร์ อาจช่วยได้ในเด็กที่เรียนช้า หรือมีปัญหาด้านการเรียนมาก่อน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ทักษะชีวิตอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน และช่วงปิดเทอมก็เป็นโอกาสอันดีที่เด็กๆ จะได้ฝึกทักษะชีวิตเหล่านั้น
จะเป็นการดีกว่า หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู สอนให้เด็กๆ นำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ ให้ช่วงเวลาปิดเทอม เป็นช่วงนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้กับชีวิตจริง หากทำได้เช่นนี้ ภาวะเรียนรู้ถดถอยอาจไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
พ่อแม่ช่วยเติมไฟให้ลูกอย่างไรดี
หลังจากปิดเทอมหลายเดือน คงดีหากเด็กๆ มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจก่อนเปิดเทอม พ่อแม่สามารถช่วยลูกๆ ให้พร้อมและเติมไฟการเรียนรู้สำหรับปีการศึกษาใหม่ได้ดังนี้
1. คุยกับลูกเรื่องเปิดเทอม
การคุยเรื่องเปิดเทอม อาจฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่จริงๆ แล้วการคุยนี้ควรเป็นการพูดคุยที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ไม่ใช่แค่บอกว่าลูกว่าใกล้เปิดเทอมแล้ว หรือเตือนให้ลูกเตรียมตัว แต่ควรเป็นเหมือนการวางแผนระยะยาวสำหรับปีการศึกษาหน้าร่วมกัน พ่อแม่อาจถามลูกว่าเปิดเทอมที่จะถึงนี้มีสิ่งใดที่ลูกตั้งตารอ มีสิ่งใดที่ลูกกังวล สองคำถามนี้จะช่วยให้ลูกคลายความกังวลใจ ขณะเดียวกันก็ช่วยย้ำเตือนถึงสิ่งที่พวกเขาชอบเกี่ยวกับการไปเรียน หากลูกๆ ได้หนังสือเรียนสำหรับปีการศึกษาใหม่มาแล้ว อาจเปิดดูคร่าวๆ ร่วมกัน ปรับเพิ่มเวลาอ่านหนังสือ ลดเวลาใช้หน้าจอ เพื่อให้ลูกพร้อมสำหรับปีการศึกษาใหม่
2. ปรับการนอน
การนอนหลับให้เพียงพอมีความสำคัญกับเด็กทุกวัยไม่ว่าจะอายุ 5 ปี หรือ 15 ปี การนอนไม่พอย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ ในช่วงปิดเทอมเด็กๆ อาจเข้านอนดึกขึ้นเพราะไม่ต้องตื่นเช้า เมื่อใกล้เปิดเทอมประมาณ 1 สัปดาห์ พ่อแม่ควรดูแลการนอนหลับของลูกให้กลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนปิดเทอม จำกัดการใช้หน้าจอก่อนนอน และให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวันจะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพกายใจดีพร้อมเรียนรู้และทำกิจกรรมในแต่ละวัน
3. อัปเดตเรื่องเพื่อน
เพื่อนเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัยรุ่น ระหว่างปิดเทอม อาจทำให้ขาดการติดต่อ หรือไม่ได้พบหน้ากัน หากเป็นไปได้ อาจจัดงานปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านให้ลูกชวนเพื่อนๆ มาอัปเดตชีวิตช่วงปิดเทอม แม้ว่ายุคนี้จะมีโซเชียล มีเดีย ให้เด็กๆ ได้ติดต่อกัน แต่การได้พูดคุยต่อหน้าย่อมดีกว่าการพูดคุยผ่านหน้าจอ หรือพ่อแม่ อาจอนุญาตให้ลูกได้ไปเที่ยวสุดสัปดาห์กับเพื่อนก่อนเปิดเทอม เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่ากลับไปเรียนครั้งนี้มิตรภาพยังคงอยู่เหมือนเดิม
4. ตั้งเป้าหมายวิชาการ
พ่อแม่อาจนั่งคุยกับลูกๆ ถึงสิ่งที่พวกเขาตั้งตารอที่จะได้เรียนรู้ในแต่ละวิชา เช่น ตั้งตารอที่จะได้เรียนการแทนค่าสมการ หรือ รอที่จะได้อ่านวรรณกรรมเรื่องดัง ฯลฯ ลองชวนลูกคุยว่าแต่ละวิชาลูกตั้งเป้าหมายอย่างไร อาจไม่ต้องถึงขั้นกำหนดเกรดหรือคะแนน เพียงแค่เป้าหมายว่าจะได้เรียนรู้อะไรใหม่จากวิชานั้นๆ ก็น่าจะช่วยทำให้เด็กๆ ฝึกวางแผนและตั้งเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้
5. ไม่พร้อม ไม่เป็นไร
แม้ว่าพ่อแม่จะช่วยปลุกไฟการเรียนรู้ให้ลูกแล้ว แต่เด็กๆ ยังมีท่าทีไม่พร้อมสำหรับการเปิดเทอมที่จะมาถึง ก็ไม่เป็นไร พ่อแม่ควรรับฟังและเปิดโอกาสให้เด็กๆ แสดงความรู้สึก รับฟังโดยไม่ตัดสิน ช่วงสัปดาห์แรกๆ อาจติดขัดไม่ราบรื่น พ่อแม่ควรเป็นกำลังใจ คอยสนับสนุนลูกสร้างความมั่นใจว่าทุกอย่างจะกลับเข้าที่เข้าทางได้เพียงแค่ใช้เวลา เมื่อลูกๆ ปรับตัวได้ดีแล้ว อาจให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่นพาไปฉลอง หรือซื้อของขวัญเป็นกำลังใจกับลูก
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมต้องการเวลาปรับตัว การเปิดเรียนครั้งใหม่ แม้จะเป็นโรงเรียนเดิม แต่ก็มีเรื่องราวใหม่ๆ รอให้เด็กๆ เรียนรู้มากมาย กำลังใจและความเข้าใจจากพ่อแม่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...