เตรียมลูกวัยรุ่น รับมือคอมเมนต์วันรวมญาติ แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น การไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่แต่ละครั้ง อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลใจ เพราะท่าทีของลูกที่เป็นตัวของตัวเอง อาจขัดหูขัดตาลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เพราะเจ้าตัวน้อยที่เคยเป็นที่รักของทุกคน มาบัดนี้ อาจกลายเป็นวัยรุ่นขวางโลก ที่เปิดปากพูดแต่ละที ก็ทำให้พ่อแม่หวาดเสียว ว่าจะสร้างความบาดหมางอะไรกับญาติผู้ใหญ่บ้างโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งครอบครัว เป็นธรรมดาสำหรับครอบครัวที่แยกย้ายไปทำงานจะกลับมารวมกัน บทความนี้ StarfishLabz มีคำแนะนำเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เตรียมความพร้อมวัยรุ่น ก่อนวันรวมญาติ เพื่อการพบหน้าที่จะไม่สร้างความบาดหมางในใจ
เข้าใจความต่างระหว่างเจนฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชัน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความบาดหมางและไม่เข้าใจกัน ระหว่างหลานๆ กับปู่ย่า ตายาย เนื่องจากแต่ละฝ่ายเติบโตมาในยุคสมัยที่ให้ค่านิยมสิ่งต่างๆ แตกต่างกันอย่างมาก ปู่ย่าตายายอาจเติบโตมาในยุคสมัยที่ให้ค่านิยมกับการทำงานราชการ หรือมี Beauty Stardard ที่เห็นว่าความงดงามมีอยู่เพียงรูปแบบเดียว คือ หากเป็นผู้ชายก็ต้อง กำยำล่ำสัน เป็นผู้นำ และเก็บงำความรู้สึก สำหรับผู้หญิงก็ต้อง บอบบางร่างเล็ก เรียบร้อย ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายมากกว่า เมื่อได้ยินความคิดเห็นที่เป็นการเหมารวมของปู่ย่าตายาย เช่น “ผู้ชายที่ไหนไว้ผมยาว” หรือ “ผู้หญิงอะไรโวยวายเสียงดัง” ซึ่งสำหรับวัยรุ่นอาจไม่ใช่แค่รู้สึกว่าถูกเหมารวม แต่ยังเป็นการไม่วิจารณ์และตัดสินตัวตนของพวกเขา ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่วัยรุ่นจะทำใจยอมรับได้ มุมมอง ค่านิยม ของยุคสมัยที่ต่างกันนี่เอง เป็นที่มาของการแสดงออกทางความคิด การกระทำ และคำพูดที่ต่างกัน ซึ่งไม่มีใครถูกหรือผิด พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ รวมถึงชี้ชวนให้วัยรุ่นคิดตาม เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างนี้ในเบื้องต้นด้วย
คุยกับลูกก่อนวันรวมญาติ ป้องกันความบาดหมางในใจ
“ตอนเด็กๆ น่ารัก โตแล้วอ้วนจัง”
“เรียนเก่งขนาดนี้ ทำไมเรียนวาดรูป ทำไมไม่เรียนหมอ”
“เป็นผู้ชายจริงเหรอ ทำไมใส่เสื้อสีชมพู”
สารพัดคำทักทายจากญาติผู้ใหญ่ ที่บางครั้งก็อาจฟังเหมือนเป็นคำวิจารณ์ตัดสินเสียมากกว่า อาจทำให้วัยรุ่นหัวร้อน หงุดหงิด พลั้งปากตอบโต้ จนวันรวมญาติอาจกลายเป็นสงครามย่อมๆ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองพอทำได้คือ เตรียมตัวลูกวัยรุ่น รับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชัน ขณะเดียวกันพ่อแม่มักรู้จักลักษณะนิสัยญาติๆ แต่ละคนอยู่แล้ว และพอคาดเดาได้ว่าใครที่ควรระวัง และควรตอบสนองบุคคลเหล่านั้นอย่างไร เช่น คุณป้าที่ชอบวิจารณ์การแต่งตัวของลูกทุกครั้งที่เจอ ก็ควรบอกลูกเนิ่นๆ ว่าการแต่งตัวแบบนี้ อาจถูกวิจารณ์จากคุณป้า ให้ลูกเตรียมรับมือ และเลือกวิธีการตอบสนองที่เหมาะสม
ต่อไปนี้ เป็นวิธีที่พ่อแม่สามารถช่วยลูกเตรียมรับมือวันรวมญาติได้
1. สอนมารยาทสังคม: เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับมารยาทสังคมก็คือ เราไม่ควรตอบสนองด้วยความหยาบคาย แม้จะรู้สึกว่าอีกฝ่ายจะไม่มีมารยาทก็ตาม เพราะการกระทำของคนๆ หนึ่งบ่งบอกตัวเขา ไม่ได้บ่งบอกตัวเรา เพราะฉะนั้นหากได้รับการทักทายที่รู้สึกว่าเสียมารยาท แทนการตอบโต้เพื่อความสะใจ ควรเลือกใช้วิธีที่นุ่มนวลกว่านั้น แทนที่จะตอบคำถามหรือตอบโต้ สอนให้ลูกยิ้มและเปลี่ยนหัวข้อสนทนา วิธีนี้เป็นกฎง่ายในการกำหนดขอบเขตไม่ให้คู่สนทนาล้ำเส้นในเรื่องที่เราไม่อยากตอบ เช่น เมื่อถูกทักเรื่องน้ำหนัก ยิ้มแล้วเปลี่ยนเรื่องไปว่า “คุณป้าไปเที่ยวญี่ปุ่นมาเป็นอย่างไรบ้างคะ” หรือ “ผมซื้อของมาฝากคุณป้าด้วยไปดูกันไหมครับ” โดยทั่วไปเมื่อเปลี่ยนประเด็นสนทนาก็จะทำให้เราหลุดออกจากประเด็นที่ไม่ต้องการพูดถึงได้
2. เข้าใจความหลากหลาย: วัยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีโอกาสเข้าถึงโลกกว้างและยอมรับความหลากหลายได้มากกว่าคนยุคก่อนๆ เมื่อพบกับญาติผู้ใหญ่ที่มีความคิดต่างกัน พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นความคิด ค่านิยม ของญาติๆ ก็เป็นความหลากหลายหนึ่งที่ลูกต้องยอมรับเช่นกัน แม้ว่าวัยรุ่นจะรู้สึกถูกล้ำเส้น แต่หากมองให้ลึกลงไปคำทักทายเหล่านั้น อาจมาจากความห่วงใย ที่เลือกใช้คำไม่เหมาะสม เช่น อยากให้รักษาสุขภาพ แต่กลับทักเรื่องน้ำหนัก หรือ เป็นห่วงอนาคต จึงวิจารณ์ทางเลือกการทำงาน เป็นต้น การชวนให้ลูกมองเห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงเบื้องหลังคำทักทายเหล่านั้นอาจช่วยลดความรู้สึกบาดหมางได้
3. ให้วัยรุ่นเป็นวัยรุ่น: ถึงแม้จะสอนให้วัยรุ่นเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัย และที่มาแนวคิดของญาติผู้ใหญ่แล้ว แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้สูงเกินไป อย่าคาดหวังว่าวัยรุ่นจะนั่งคุยล้อมวงกับผู้ใหญ่ได้เป็นชั่วโมง หรือ อย่าคาดหวังให้พวกเขาทำในสิ่งที่ไม่เป็นตนเองโดยสิ้นเชิง ท่าทีของพ่อแม่ที่ยอมรับในตัวลูก และสนับสนุนทางเลือกของพวกเขา ก็มีความสำคัญไม่น้อยที่จะกำหนดปฏิกิริยาที่ญาติผู้ใหญ่จะแสดงออกต่อลูกวัยรุ่นของเรา
สุดท้ายแล้ว ไม่ควรลืมเป้าหมายของการรวมญาติในวันครอบครัว นั่นคือ การแสดงถึงสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงทุกคนไว้ แม้จะแยกย้ายกันไปเติบโต แต่ทุกคนล้วนเป็นกิ่งก้านที่แตกแขนงจากต้นไม้เดียวกัน คงจะดีหากทุกคนดูแลทบทวนคำพูดและการกระทำของตนเอง ไม่ให้ทำลายสายสัมพันธ์แห่งครอบครัวมีมาอย่างยาวนาน
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...