5 กิจกรรมรับปิดเทอม ฉบับเรียนรู้อยู่ที่บ้าน
ความโชคดีของพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กๆ ยุคดิจิทัล คือ ความสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาแบบไร้ขีดจำกัด เพียงมีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต กับอินเทอร์เน็ต การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีขีดจำกัดช่วงปิดเทอมจึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถปลูกฝังพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับลูกวัยรุ่นได้ ด้วยการแนะนำให้พวกเขาเห็นถึงโอกาสของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ไม่ต้องไปเข้าคลาสที่ไหน เพราะทุกวันนี้ ผู้ที่มองเห็นโอกาสในการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ย่อมได้เปรียบในการพัฒนาตนเอง นำไปสู่โอกาสอย่างไม่สิ้นสุดได้ในอนาคต
Lifelong Learning คืออะไร
Oxford Handbook นิยามความหมายของ Lifelong Learning ไว้ว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถส่วนตัวขึ้นทีละน้อยเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะช่วยผลักดันให้เกิดประสบการณ์ทางการเรียนรู้สั่งสมไปตลอดชีวิตของเรา หัวใจสำคัญของ Lifelong Learning คือ เป็นการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากตัวเองเป็นหลัก จึงอาจกล่าวได้ว่าทักษะที่มาพร้อมกับ Lifelong Learning ก็คือ Self-directed learning หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองนั่นเอง เพราะการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ชุดความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และชุดความรู้เดิม ก็มีการพัฒนาไปข้างหน้าตลอดเวลา การเรียนรู้จึงควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอด เวลาเช่นกัน การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงมีความสำคัญในแง่ที่ว่า ช่วยให้เราปรับตัวและชีวิตอยู่ได้ในโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้สึกตกยุค หรือก้าวตามโลกไม่ทัน เพราะเมื่อเรียนรู้ตลอดเวลา ก็เราก็จะสามารถพัฒนาตนเองและค้นพบเป้าหมายในชีวิตและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
เรียนรู้ที่บ้านก็มีข้อดี
การเรียนรู้ที่บ้าน ไม่เพียงสร้างทักษะ Lifelong Learning ให้กับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังมีข้อดีหลายประการ คือ
- ลดโอกาสการเรียนรู้ถดถอย: มีการศึกษาที่พบว่าในช่วงหยุดยาว เช่น ปิดเทอม เด็กๆ มีโอกาสการเรียนถดถอย โดยเฉพาะในทักษะด้านการคำนวณและการอ่าน หากช่วงเวลานี้ ผู้ปกครองหาโปรแกรมหรือกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในในด้านต่างๆ ให้ลูกทำที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคอร์สออนไลน์ หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เช่น ทำอาหารที่เด็กๆ จะได้อ่านสูตรอาหาร คำนวณปริมาณต่างๆ ก็อาจป้องกันการเรียนรู้ถดถอยได้
- ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง: ชี้ชวนให้เด็กๆ เข้าถึงชุดข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย เช่น หากสังเกตว่าลูกสนใจเรื่องอวกาศ อาจซื้อชุดโมเดลอวกาศมาให้ แนะนำแหล่งค้นข้อมูล ดูสารคดีด้วยกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เด็กๆ สามารถต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองได้
- สร้างความมั่นใจ: เมื่อเด็กๆ สามารถต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง ที่พัฒนาไปสู่นิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
- ค้นพบความสนใจ: การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเอง อาจทำให้เด็กๆ ได้ค้นพบความชอบหรือควานสนใจใหม่ๆ เพราะการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไม่รู้จบ เด็กๆ สามารถทดลองสิ่งที่หลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์และค้นหาตัวตนว่าสิ่งใดที่ชื่นชอบ และนำมาพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ได้
5 กิจกรรมการเรียนรู้ อยู่ที่บ้าน
1. พัฒนาตนเองกับคอร์สออนไลน์
ปัจจุบันนี้มีคอร์สออนไลน์ ที่น่าสนใจให้เลือกศึกษามากมาย พ่อแม่ผู้ปกครองอาจชวนลูกพูดคุยถึงความสนใจในด้านต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านวิชาการเสมอไป แต่อาจเป็นการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ทั้งอารมณ์ สังคม จิตใจ ไปจนถึง Soft Skill ต่างๆ เช่น คอร์สพัฒนาและรู้จักตนเอง, การฝึกทักษะ Empathy ในโลกออนไลน์ หรือ คอร์สฝึกวินัยทางการเงินเบื้องต้น คอร์สต่างๆ เหล่านี้ ใช้เวลาเรียนสั้นเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมงก็สามารถเรียนรู้ได้จบคอร์ส ซึ่ง www.starfishlabz.com/ มีคอร์สให้เลือกหลากหลาย เด็กๆ จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือพ่อแม่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกก็ได้
2. ทำ Challenge ฝึกตั้งเป้าหมาย
วัยรุ่นเป็นวัยที่ชื่นชอบความสนุกตื่นเต้น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ดึงดูดใจอย่างทำ Challenge ไม่เพียงกระตุ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในหัวข้อที่พวกเขาสนใจ แต่ยังฝึกความมุ่งมั่นให้ลงมือทำจนบรรลุเป้าหมายได้ด้วย พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจสังเกตความสนใจของลูก แล้วชวนพวกเขาทำ Challenge 30 วัน และบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน หัวข้อ Challenge ที่น่าสนใจ เช่น
- Photo Challenge ถ่ายภาพสิ่งต่างๆ เช่น ภาพหน้าคน วันละ 1 ภาพไม่ซ้ำกัน 30 วันต่อเนื่อง ภาพท้องฟ้า 30 วัน หรือกำหนดสิ่งต่างๆ ที่ต้องถ่ายในแต่ละวันไว้ล่วงหน้า แล้วทำตามตารางนั้น เป็นต้น
- No Soda Challenge งดดื่มน้ำอัดลมเป็นเวลา 20 วัน 30 วัน เพื่อสุขภาพ หรืออาจเปลี่ยนเป็น งดน้ำตาล ขนมหวาน เป็นต้น
- Reading Challenge อ่านหนังสือให้จบ 2 เล่ม ภายใน 1 เดือน เป็นต้น
- Drawing challenge กำหนดหัวข้อภาพวาดในแต่ละวัน และทำต่อเนื่องจนครบกำหนด
- Cooking Challenge ลองชวนลูกท้าทายด้วยการทำเมนูจากไข่ไม่ซ้ำกัน 15 วัน
- Suduku Challenge ทำ Suduku วันละข้อให้สำเร็จติดต่อกัน 30 วัน
3. พัฒนาสิ่งที่สนใจ
สำหรับเด็กๆ ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าตนเองชอบอะไร ช่วงปิดเทอมเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะนั้นๆ ด้วยตัวเอง เด็กๆ ที่ชอบเต้น ก็สามารถฝึกเต้นอยู่ที่บ้าน หรือ สนใจด้าน AI ก็อาจฝึกใช้ AI ในการทำงาน หรือลงเรียนคอร์สเสริมทักษะ เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นอาชีพได้ในอนาคต
4. เรียนภาษาจากสื่อบันเทิง
โลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ทักษะภาษาต่างประเทศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ช่วงปิดเทอมชวนลูกพัฒนาทักษะภาษาจากการดูซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือฟังเพลงภาษาต่างประเทศ นอกจากได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายจากเรื่องราวในสื่อแล้ว ก็ยังได้คำศัพท์ใหม่ๆ จากภาษาเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังอาจเรียนรู้ผ่านคลิปสอนภาษาสั้นๆ ใน TikTok ที่มีหลาย Account ทำไว้ได้อย่างน่าสนใจ เช่น ภาษาอังกฤษ English with Lucy หรือ BBC Learning English ภาษาเกาหลี กับ Account Itsallcleo หรือ Koreader_ เป็นต้น
5. ฝึกงานกับครอบครัว
บ้านไหนที่พ่อแม่มีกิจการส่วนตัว หรือทำงานที่บ้าน ช่วงปิดเทอมเป็นโอกาสดีที่จะให้เด็กๆ ได้ฝึกการทำงาน หากเป็นบริษัทที่ทำงานอย่างเป็นระบบ อาจให้ลูกมีหน้าที่ที่พอทำได้ในองค์กร เช่น ออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวแก่พนักงาน หรือ รับโทรศัพท์ ช่วยตอบอีเมล์ลูกค้า งานง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้ฝึกอะไร จริงๆ แล้วเป็นพื้นฐานของการคิดอย่างเป็นระบบและฝึกการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ พ่อแม่ที่ค้าขาย อาจชวนลูกๆ วางแผนการซื้อวัตถุดิบให้ลูกจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เรียนรู้เรื่องการกำหนดงบประมาณและกำไรขาดทุน เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
รอบรู้เรื่องภาษี และการออมเบื้องต้น สำหรับวัยรุ่น
การมีความรู้เรื่องภาษีและการออมเงินเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงและปลอดภัย