เหตุผลที่เด็กยุคใหม่ไม่ยอมคุยกับพ่อแม่
เด็กยิ่งโตความกล้าแสดงความรู้สึก หรือแสดงความรักจะน้อยลงโดยเฉพาะกับพ่อแม่ ยิ่งพ่อแม่ท่านไหนที่ทำงานประจำ เรียกว่าแทบจะไม่ได้คุยกับลูกอยู่เลยก็ว่าได้ แถมปัจจุบันนี้การสื่อสารก็มีให้เลือกมากมาย โดยคุณพ่อคุณแม่เองอาจจะคุยกับลูกเพียงแค่ในแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้เด็กๆ และพ่อแม่เองเกิดช่องว่างกัน ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ จนกลายเป็นว่าเด็กๆ ไม่อยากที่จะเข้ามาพูดคุยกับพ่อแม่ได้
แต่จริงๆ แล้วเหตุผลที่เด็กยุคใหม่ไม่ยอมคุยกับคุณพ่อคุณแม่จะเป็นเพราะแอปพลิเคชันที่เข้ามาแทนที่การสื่อสารตัวต่อตัว หรือแท้จริงแล้วเกิดจากเหตุผลอื่นกันแน่ วันนี้เราจะพาไปดูกัน
เหตุผลที่เด็กยุคใหม่ไม่ยอมคุยกับพ่อแม่ได้แก่
1. ปรึกษาทีไรก็ดุด่า ทั้งที่ยังฟังไม่จบ
เมื่อไหร่ที่ลูกมาคุยด้วย คุยยังไม่ทันจะถึงไหนก็มีเรื่องให้ต้องถูกขัดทุกที พูดยังไม่ทันจะจบเล่ายังไม่ทันจะหมด พ่อแม่ก็จับผิดไป สอนไป ซึ่งทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่เองควรที่จะถามเป็นช่วงๆ ตามกรณี ไม่ควรดุด่า หรือถามขัดจังหวะทั้งๆ ที่ยังฟังไม่ทันจะจบ บางทีลูกเล่ายังไม่ทันจะจบ ก็สรุปว่าเราผิดซะแล้ว คราวนี้เด็กๆ จะเล่าอะไรอีกก็คงจะไม่อยากเล่าแล้วล่ะค่ะ เพราะว่าเล่าอะไรไปก็ผิดไปซะหมดทุกอย่าง ทำให้เด็กๆ ไม่อยากคุยกับพ่อแม่อีกต่อไปเลยค่ะ
2. เพราะไว้ใจเลยปรึกษา แต่ทำไมพ่อแม่ต้องเล่าต่อ
การที่ลูกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง เพราะเขาเองก็คิดว่าสิ่งที่เขาเล่านั้นคุณพ่อคุณแม่จะเป็นที่ปรึกษาที่ดีและเป็นคนเก็บความลับในเรื่องแย่ๆ ของเขาเอาไว้ แต่ก็มีพ่อแม่บางคนที่ชอบเอาเรื่องที่ลูกมาเล่าให้ฟัง ไปเล่าข่มทับคนอื่นต่อ หรือเอาไปเปรียบเทียบให้คนอื่นๆ ฟัง ซึ่งการเล่าต่อในลักษณะแบบนี้ เด็กๆ จะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังแฉเขานั้นเอง ยิ่งหากวันไหนลูกมาได้ยินตอนคุณพ่อคุณแม่กำลังเล่าล่ะก็ รับรองได้เลยว่าให้ตายยังไงต่อไปนี้ก็ไม่อยากเล่าหรือพูดเรื่องราวต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังอีก เพราะเขาจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องหน้าอายสิ้นดี
3. เมื่อมีเรื่องอยากปรึกษา แต่พ่อแม่กลับไม่ตั้งใจฟัง
บางครั้งเรื่องที่ลูกอยากพูดและพยายามเล่าแบบตั้งอกตั้งใจให้เราฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่กลับไม่ตั้งใจฟัง หรือแค่ฟังผ่านๆ ทำให้เรื่องที่ลูกรู้สึกว่ามันตื่นเต้น ก็ทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าเล่าขึ้นมา เพราะพ่อแม่เองนั้นแหละที่ฟังแบบปัดๆ ไป ยิ่งเป็นลูกที่สนิทกับพ่อแม่ หากวันนไหนที่เราไม่ตั้งใจฟังเขา ก็จะทำให้เขาเสียกำลังใจได้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ เข้า คราวนี้ลูกก็จะเริ่มไม่อยากเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังได้อีก เพราะเขาคิดว่าเมื่อเขาเล่าไปแล้วทุกคนไม่ตั้งใจฟัง แบบนี้ก็ไม่ต้องเล่าดีกว่านั่นเองค่ะ
4. พ่อแม่มีเรื่องเหนื่อยเยอะแล้ว ไม่อยากเอาเรื่องเหนื่อยมาเพิ่มให้ท่าน
เพราะลูกบางคนก็อาจจะมีความเกรงอก เกรงใจเรา เพราะพ่อแม่บางคนก็ทำงานกันดึกดึ่น กลับบ้านมาทีก็เรียกได้ว่าแทบจะเอาร่างกายเข้าไปในห้องพักผ่อนเลย ทำให้เด็กๆ บางคนคิดว่าไม่อยากจะเล่าให้อะไรให้พ่อแม่ฟัง เพราะกลัวจะไปสร้างความรำคาญ และเกรงใจพ่อแม่ที่ทำงานมาเหนื่อยๆ จึงเลี่ยงที่จะพูดคุยเป็นการดีเสียกว่า เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ลูกเขินอายที่พูดคุยกับพ่อแม่ได้ ส่วนพ่อแม่เองก็ไม่ได้สังเกตลูก และคิดว่าลูกดูแลตัวเองได้ ก็กลับกลายเป็นว่า ต่างกันก็ต่างไม่พูดคุยกัน จนทำให้เกิดช่องว่างในครอบครัวได้ง่ายๆ เลยค่ะ
5. จะปรึกษาทีไร ก็ยุ่งทุกที
พ่อแม่บางคนคิดว่าการคุยกับลูกเพียงไม่กี่นาทีทำให้เสียเวลาหลายๆ อย่าง ทำให้เมื่อลูกอยากที่พูดคุยหรือปรึกษาเรื่องต่างๆ ทีไร ก็กลับกลายเป็นว่าพ่อแม่ก็ไม่ว่างทุกที ถูกปฏิเสธทุกครั้งที่จะปรึกษา หรือบางกรณีก็อาจจะเป็นเรื่องเวลาที่ไม่ตรงกันระหว่างพ่อแม่และลูก บางครั้งพ่อแม่ก็อยากจะคุยด้วย แต่ลูกทำการบ้าน หรือบางครั้งลูกก็อยากจะคุยด้วย พ่อแม่ก็เอาแต่ทำงาน ซึ่งเรื่องนี้แต่ละบ้านก็ต้องหาจังหวะกันดีๆ นะคะเพราะมิเช่นนั้นเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ก็อาจจะกลายเป็นว่าทั้งครอบครัวไม่มีเวลาจะคุยกันเลย ทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านก็ดูห่างเหินกันด้วย ยังไงก็ลองหาเวลานั่งคุยกันหยุดทำโน้นนี่ดู ดีกว่าหมางเมินไม่คุยกันนานเข้าจะไม่ดีนะคะ
6. เพราะลูกคิดว่าเราโตแล้ว ควรจะรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ได้
เด็กๆ มักจะคิดว่าตัวเองโตพอที่จะรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ของตัวเองได้แล้ว ยิ่งในช่วงวัยรุ่นเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะคิดแบบนั้น อยากที่จะจัดการปัญหาทุกๆ อย่างเองมากกว่าที่จะให้พ่อแม่คอยทำให้ตลอดเวลา เพราะการทำแบบนี้จะทำให้เด็กๆ นั้นดูโตขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้จะเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะบางปัญหานั้นมันหนักเกินกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะรับไหว จนบางคนไม่กล้าที่จะปรึกษาพ่อแม่เพราะกลัวว่าจะดูไม่โต ก็กลับกลายเป็นว่าไปปรึกษาเพื่อนๆ แทน ซึ่งข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวแล้วล่ะค่ะว่าจะจัดการปัญหานี้ยังไง ทางที่ดีก็ควรที่คุยพูดคุย ถามไถ่สุขทุกข์ของลูก ให้เป็นเหมือนกิจวัตรประจำวันไปเลยก็ได้ค่ะ ลูกจะได้กล้าที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟังได้ทุกเรื่องนั่นเอง
Related Courses
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...