10 ความท้าทายและวิธีการรับมือที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเจอ
ต้องยอมรับเลยว่าการเลี้ยงดูลูก (Parenting) ในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างมากกับการเลี้ยงดูลูกเมื่อ 10 หรือ 20 กว่าปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เห็นได้จากสังคมปัจจุบัน ทั้งในด้านของวิธีการใช้ชีวิต ความชอบ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง คุณพ่อคุณแม่จึงได้พบกับความท้าทายใหม่ 10 เรื่องที่ the Parentz ได้สรุปเอาไว้ดังต่อไปนี้
1)การไม่มีเวลา : ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่พ่อแม่ในปัจจุบันต้องเผชิญ คือ การไม่มีเวลาให้ลูก เพราะในหนึ่งวันพ่อแม่จะต้องวุ่นวายกับภาระหน้าที่ต่างๆ มากมาย ทั้งงานประจำ และงานบ้านงานเรือนสำหรับตัวเองและลูก เนื่องจากความเครียดในการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่มขึ้น พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะมีความมั่นคงทางการเงินก่อนการทำหน้าที่พ่อแม่ ยิ่งกว่านั้น พ่อแม่ในปัจจุบันเลือกที่จะมีลูกคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพ่อแม่จะคิดแล้วว่าเป็นเรื่องที่ยากมากหากจะต้องมีลูกหลายคนคอยอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่พบเจอกับปัญหาเรื่องการไม่มีเวลา วิธีการรับมือ คือ จัดตารางเวลาโดยใส่เวลาของลูกอยู่ในตารางประจำวันด้วย อาจจะไม่ต้องใช้เวลามาก แต่ต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน
2)พื้นฐานทางคุณธรรมลดลง : จะเห็นได้ว่าเด็กในยุคปัจจุบันมีสิ่งล่อใจมากยิ่งขึ้น บวกกับผู้ปกครองมีภาระหน้าที่มากมายจนทำให้ไม่มีเวลาในการสอน หรือให้ความรู้กับลูกๆ มากนัก ซึ่งแตกต่างกับสมัยก่อนที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว มีปู่ย่าตายายค่อยให้ความรู้ คอยสั่งสอนเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น พ่อแม่จึงไม่มีเวลาในการสั่งสอน วิธีการรับมือ คือ ผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่ลูกๆ ชอบก่อน เช่น หากลูกชอบเล่นมือถือ หรือเกม ให้ผู้ปกครองฉวยโอกาสนั้นพูดคุยกัน เช่น ลูกรู้สึกอย่างไร เมื่อแพ้ในเกม หรือ คิดว่าคนสร้างเกมที่มีความรุนแรงแบบนี้ เขาต้องการอะไร เป็นการพูดคุยเพื่อปลูกฝังศีลธรรมที่ดี โดยเริ่มจากสิ่งที่ลูกชอบทำ และไม่บังคับลูก
3)ชีวิตที่ไม่สมดุล : ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ดูเหมือนชีวิตของผู้คนในปัจจุบันจะหาความสงบในจิตใจได้ยากขึ้น หลายครอบครัวแตกแยก เพราะไม่มีเวลาให้กัน เด็กเกิดปมด้อยเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน หรือได้รับความรักที่เพียงพอจากพ่อแม่ ดังนั้น การจัดชีวิตให้สมดุลจึงเป็นอีกความท้าทายใหญ่ แม้ว่าการหาเงินเพื่อความมั่นคงจะสำคัญ แต่ว่าลูกๆ ก็ต้องการความรักและการดูแลเอาใส่ใจเช่นกัน วิธีการรับมือ คือ ให้คุณพ่อแม่แบ่งการดูแลชีวิตออกเป็นส่วนๆ โดยอ้างอิงหลักการจาก วงล้อชีวิตทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ 1.อาชีพ/การงาน 2.การเงิน/รายได้ 3.การพัฒนาตัวเอง 4.ครอบครัว 5.ความสัมพันธ์/เพื่อนฝูง 6.สุขภาพ 7.จิตวิญญาณ/ศาสนา 8.การแบ่งปัน/ช่วยเหลือสังคม และหลังจากนั้นเริ่มให้คะแนนตัวเองในแต่ละส่วน เพื่อที่จะทำให้เราเห็นว่าช่วงนี้เราใช้เวลากับส่วนใดมากเกินไป หรือน้อยเกินไป และก็พยายามทำให้ทุกส่วนสมดุลกัน
4)ความเข้าใจและไว้วางใจในครอบครัวมีน้อย : เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานยุ่งตลอดเวลา ลูกๆ จะรู้สึกว่าขาดความผูกพันทางอารมณ์กับพ่อแม่ไปตามกาลเวลาได้ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่จะพบเจอก็คือ ลูกๆ อาจจะลังเลที่จะเปิดใจต่อหน้าพ่อแม่ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมลูกๆ จึงขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ มากกว่าเข้าหาพ่อแม่ วิธีการรับมือ คือ สร้างเวลาแห่งคุณภาพด้วยกัน อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ถึงแม้พ่อแม่จะไม่มีเวลาในการดูแลลูกๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้มาเจอกัน ขอให้ใช้เวลานั้นอย่างมีคุณภาพมากที่สุด เช่น การรับฟังและถามไถ่ความรู้สึกซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่หยิบมือถือมาเล่น
5)ภาวะขาดสารอาหาร : ในปัจจุบันเด็กมีภาวะขาดสารอาหารมากขึ้น การปนเปื้อนที่เพิ่มขึ้นในอาหารและนมได้สร้างอุปสรรคให้กับร่างกายในการรับสารอาหารที่เพียงพอ ด้วยชีวิตที่ยุ่งยากมากขึ้น ทุกคนต่างรีบเร่งใช้ชีวิต วิธีการทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ก็ได้หายไป โดยเฉพาะลูกวัยรุ่นที่มักเลือกทานอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ที่ทำได้เร็วแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการรับมือ คือ หากมีช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่และลูกอยู่ด้วย ให้ชวนกันทำกิจกรรม เช่น การทำอาหารร่วมกัน บวกกับการสอนวิธีการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้แก่ลูก หากลูกต้องอาศัยอยู่ด้วยตัวเอง พยายามทำชาเล้นท์ร่วมกันในการคิดและกินเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อดูแลร่างกายของตัวเอง
6)การใช้อุปกรณ์พกพาที่มากเกินไป : ว่ากันว่าเด็กยุค 90 คือเด็กรุ่นสุดท้ายที่ได้เล่นตามท้องถนน ทุกวันนี้เด็กๆ ติดอยู่กับหน้าจอกันหมด เพราะมีเครื่องมือสื่อสาร และแอปพลิเคชั่นมากมายที่ทำให้ลูกๆ ของเราเสียสมาธิ และทำให้เสียสายตาเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ทักษะการพัฒนาทางร่างกายและการเคลื่อนไหวก็แย่ลง เด็กอาจมีภาวะอ้วนมากกว่าเด็กรุ่นก่อนๆ วิธีการรับมือ คือ กระตุ้นให้ลูกๆออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น โดยอาจจะมีข้อแลกเปลี่ยนระหว่างกันในช่วงแรกๆ และหลังจากนั้นก็ทำเกิดเป็นกิจวัตรประจำวัน และพยายามจำกัดเวลาในการเล่นอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นเวลาให้ชัดเจน
7)พฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น : ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงสื่อต่างๆ และไม่มีการควบคุมการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ทำให้เด็กๆ มีพฤติกรรมเลียนแบบ เด็กจะต้องเผชิญกับความโกรธ ความรุนแรง ความไม่มั่นใจ ความคิดลบ เป็นต้น คงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับพ่อแม่ที่จะต้องอดทน และใจเย็นต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น วิธีการรับมือ คือ ให้เวลาและใช้การพูดคุยเพื่อทำความเข้าในพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมา หลังจากนั้นจึงพยายามเสริมแรงเชิงบวก เช่น การชื่นชมในสิ่งที่ลูกของเราทำดี ชมไปที่พฤติกรรม จะทำให้ลูกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่อง และไม่คาดหวังให้ลูกจะต้องรีบเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเครียดต่อลูกได้
8)ทัศนคติเชิงตัดสิน : เด็กๆ ถูกคาดหวังให้สมบูรณ์แบบเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนที่โรงเรียน แต่เมื่อไม่ได้เป็นอย่างหวัง ก็อาจจะถูกเพื่อนๆ กันเองตัดสิน เช่น การถูกรังแกจากเพื่อนร่วมห้อง การล้อเลียนต่างๆ วิธีการรับมือ คือ สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก โดยการใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือในการสอนวิธีการรับมือกับสิ่งที่เจอ และพยายามให้ลูกปกป้องตัวเองโดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
9)ความกดดันในการเรียนที่มากเกินไป : ทุกวันนี้แม้แต่เด็กที่อายุ 10 ขวบ ก็ยังต้องเรียนเกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน การแข่งขันจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เด็กต้องถูกส่งไปเรียนพิเศษมากขึ้น พ่อแม่เองก็ต้องกดดันและจะต้องหางานทำมากขึ้น เพื่อที่จะมีเงินส่งเสียให้ลูกไปเรียนในระดับชั้นสูงๆ วิธีการรับมือ คือ พยายามไม่กดดันด้านวิชาการแก่ลูกมากจนเกินไป แต่พยายามส่งทักษะที่สำคัญให้ลูก เช่น การทำความสะอาดบ้าน การทำอาหารเอง การดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ หรือ ทักษะการหาความรู้ด้วยเอง เพราะความรู้ในโลกยุคปัจจุบันมีมากมายรอบตัว ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ส่งลูกไปโรงเรียน อาจจะสื่อสารกับลูกว่า พ่อแม่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องสอบได้ 1 แต่อยากให้ลูกมีความสุขกับการไปโรงเรียน และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น
10)การละเมิดล่อลวงเด็ก : 53% ของเด็กในอินเดีย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดทางเพศ หรือทางร่างกาย และด้วยบริบทสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เด็กๆ เข้าถึงสื่อต่างๆ โดยที่ไม่มีใครมาควบคุม ซึ่งเป็นเครื่องมือของเหล่าอาชญากรที่จะล่อลวงเด็กๆ วิธีการรับมือ คือ พ่อแม่ควรป้องกันก่อนที่เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น โดยการพาลูกๆ ดูข่าวและชวนตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะต้องเอาตัวรอดอย่างไร มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้ลูกๆ รอดพ้นจากสถานการณ์เหล่านี้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้แก่ลูกๆ ในเบื้องต้น พร้อมให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้น เช่น เบอร์ติดต่อของผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือลูกๆ ได้
จะเห็นได้ว่า 10 ความท้าทายนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองคนเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่จะต้องพยายามดูแลความปลอดภัย ประคับประคองการเรียนรู้ และหาวิธีช่วยกันป้องกันเด็กๆ ให้เกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย และจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน
อ้างอิง
10 Biggest challenges faced by parents in raising kids in 2023 https://shorturl.at/bckw6
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ