เกมกับความรุนแรงของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
เด็กกับเกมเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออกจริงๆ นะคะ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกวัยกำลังเรียน เมื่อไหร่ที่เขาพอจะรู้จักกับเทคโนโลยี เริ่มเล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หรือเจอกับสังคมเพื่อนๆ วัยเดียวกันที่เริ่มเล่นเกม ก็อาจจะทำให้ลูกเราติดเกมได้เลยหากเราไม่ดูแล ซึ่งหลายบ้านก็กำลังเผชิญกับปัญหา “ลูกติดเกม” อยู่บ้าง
และเกมต่างๆ ที่เด็กเล่นนั้น ก็มีทั้งเกมสำหรับเด็ก และเกมที่ไม่เหมาะสมกับเขา ซึ่งสมัยนี้เด็กๆ จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และก็มีงานวิจัยด้านอาชญาวิทยาในประเทศไทยที่ศึกษาและพบว่าเด็กที่เล่นเกมรุนแรงสะสมเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มเป็นอาชญากรได้ในอนาคต เพราะเด็กจะซึมซับความรุนแรงอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้งเขาก็อาจจะเสพติดการเอาชนะ เสพติดการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่พอมาอยู่โลกความเป็นจริง และเจอใครขัดใจหรือขัดขวางหน่อย ก็อาจจะทำให้เด็กคนนั้นเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงได้ ยิ่งถ้ามีกลุ่มเพื่อนที่มีนิสัยคล้ายคลึงกัน การตอบโต้ก็จะยิ่งรุนแรงเข้าไปกันใหญ่ ซึ่งการที่เด็กทำเช่นนี้เขาไม่รู้หรกอว่าเป็นการโต้ตอบที่รุนแรง เพราะเขาคิดว่านั้นคือเรื่องปกติที่เขาเคยเจอ ซึ่งเป็นในเกมนั้นเอง
แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่าลูกของเรา “กลายเป็นเด็กติดเกม” แล้วหรือยัง ซึ่งจะสังเกตอาการง่ายๆ เลย เช่น
- ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตเลยค่ะว่าหากเขาใช้เวลาในการเล่นติดต่อกันหลายชั่วโมง และนานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม นั้นก็แปลว่าอาจจะมีแนวโน้มที่ลูกจะกลายเป็นเด็กติดเกมนะคะ
- หากบังคับให้หยุดจะมีอาการต่อต้าน เด็กๆ หากถูกขัดใจต่อการเล่นเกมแล้วแสดงอาการหงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง หรืออาจจะไปถึงขั้นอาละวาด นั้นก็แสดงว่าเกมคือหนึ่งเดียวในใจแล้วล่ะค่ะ
- การเล่นเกมมีผลกระทบต่อหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่างๆ เช่น ไม่ทำการบ้าน โดดเรียนไปเล่นเกม ทำให้การเรียนตกลงอย่างมาก รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ กับครอบครัวก็ลดลงอีกด้วย
- เริ่มมีอาการ เช่น โกหก ขโมยของ ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดก็เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวของเด็กเอง ที่บางคนขาดทักษะสังคม หรือขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้เกิมเป็นเหมือนสิ่งที่เพิ่มความสามารถของเขาให้เป็นที่ยอมรับได้ หรืออาจจะมาจากครอบครัว ที่ขาดระเบียบวินัย ไม่ใส่ใจ และการตามใจลูกที่มากเกินไป หรือบางครอบครัวก็ใช้อารมณ์กับลูก ก็ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดเกมได้เช่นกันค่ะ
หากลูกติดเกมแล้วต้องทำยังไงบ้าง?
สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำนั้นก็คือ อย่างแรกเลยต้องสนใจและติดตามพฤติกรรมของลูก ว่าตอนนี้เขาชอบทำอะไร ยิ่งช่วงวัยรุ่นยิ่งต้องหมั่นสังเกต เพราะบางครั้งเขาก็ไม่สามารถตัดสินใจว่าอะไรดีหรือไม่ดีได้ ซึ่งวิธีการมีดังนี้
1. ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
สมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากมาย ซึ่งก็มีโปรแกรมล็อกการเข้าถึงเกมหรือแอพพลิเคชันที่ไม่อยากให้ลูกใช้งานได้ เพื่อจำกัดการเข้าถึงเกม หรือจำกัดเวลาในการเล่นเกมได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ทั้ง iOS และ Android
2. สอนให้ลูกรู้จักโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริง
ซึ่งการสอนแต่ละครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นเสียก่อน และค่อยๆ อธิบายถึงความแตกต่างของมัน เพราะเด็กวัยที่เล่นเกมได้นั้นจะเป็นเด็กที่มีจินตนาการสูงค่ะ และเขามักแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนโลกความเป็นจริง อันไหนโลกเสมือนจริง อธิบายถึงการมีชีวิตหรือความตายก่อนก็ได้ค่ะ ว่าถ้าชีวิตจริงจะเป็นแบบนี้ โลกเสมือนจริงจะเป็นแบบไหน ก็จะช่วยให้ลูกนึกออกได้ง่ายขึ้น
3. เลือกเกมที่เสริมสร้างพัฒนาการมากกว่าความบันเทิง
เกมก็มีให้เลือกมากมายเลยนะคะ แต่ถ้าอยากให้ลูกได้ดีก็ต้องเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัยและช่วยพัฒนาการเรื่องต่างๆ ของเขาจะดีที่สุดค่ะ เล่นแล้วต้องได้ประโยชน์ด้วย
4. ตั้งกฎและเวลา
ในการเล่นเกมหากอยากให้ลูกเล่นจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องตกลงกติกาในการเล่นเกมให้ชัดเจนเสียก่อนค่ะ หากอยากจะลดเวลาก็ค่อยๆ ลดทีละเล็กทีละน้อย หรือพยายามกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้เขาทำให้เสร็จเสียก่อนถึงจะได้เล่น หรือกำหนดเวลาไปเลยยิ่งดีค่ะ ว่าเล่นไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง/วัน เท่านั้น ทางที่ดีควรตั้งนาฬิกาปลุกไว้ใกล้ๆ เพื่อเตือนให้เขารู้ว่าถ้าเสียงดังแสดงว่าหมดเวลาเล่นเกมแล้วนั้นเอง
5. ไม่ควรเอาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เล่นเกมได้ไว้กับลูก โดยเฉพาะห้องนอน
เพราะหากอยากให้เขาไม่เป็นเด็กติดเกม คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามอย่าให้เขาใช้เครื่องมือสื่อสารไว้ในห้องนอนเด็ดขาด ยิ่งเป็นเด็กเล็กๆ ยิ่งไม่ควรเลยค่ะ เพราะเขาจะใช้เวลาและมีการแอบเล่นเกมตอนกลางคืน ทำให้ไม่เป็นอันหลับอันนอนเลยค่ะคราวนี้ ตื่นอีกทีไปโรงเรียนไม่ทันแน่นอนค่ะ
อยากให้ลูกเล่นเกมในแบบที่ดี คุณพ่อคุณแม่เองนั้นแหละค่ะควรที่จะจัดสรรเวลา และคอยสอนเขาในสิ่งที่เหมาะสม หรือพยายามหากิจกรรมสร้างสรรค์หรือมีเวลาให้เขา เท่านี้ก็จะสามาถทำให้เขาไม่กลายเป็นเด็กติดเกมได้แล้วค่ะ สอนให้เขาเล่นอย่างพอดีและเหมาะสมกับวัยจะดีที่สุดค่ะ
Related Courses
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...