สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เด็กทานได้ไหม ส่งผลอะไรต่อสุขภาพ
ของหวานกับเด็กๆ เป็นสิ่งที่แทบจะแยกออกจากกันได้ยาก ในแต่ละวันพ่อแม่ผู้ปกครองอาจพยายามจำกัดปริมาณน้ำตาลในขนม เครื่องดื่มของลูกๆ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพหลายด้านที่อาจตามมา ซึ่งบอกเลยว่าการรับมือเรื่องขนมกับเด็กๆ นั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะความหวานจากน้ำตาลนั้นแฝงอยู่ในอาหารแทบทุกประเภท
สำหรับพ่อแม่ที่เคร่งครัดเรื่องโภชนาการมากๆ อาจมองหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่างๆ โดยเฉพาะสารให้ความหวานที่มาจากธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า แต่ความจริงแล้วสารให้ความหวานเหล่านี้เหมาะสมสำหรับเด็กๆ หรือเปล่านะ? Starfish Labz มีคำตอบมาฝากค่ะ
สุขภาพเด็กไทยกับภัยจากน้ำตาล
ขนมหวาน น้ำผลไม้ โยเกิร์ต นม ซีเรียล สารพัดอาหารที่เด็กๆ ชื่นชอบ หากพ่อแม่อ่านฉลากโภชนาการก็อาจตกใจว่าอาหารแต่ละชนิดที่เด็กๆ รับประทานเป็นประจำนั้น มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากมาย แม้กระทั่งอาหารหรือเครื่องดื่มที่เชื่อกันว่าดีต่อสุขภาพ อย่าง น้ำผลไม้
โยเกิร์ต หรือซีเรียลสำหรับเด็กๆ ก็ล้วนมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบโดยที่พ่อแม่อย่างเราอาจคาดไม่ถึง
สาเหตุที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราหยิบยื่นให้ลูกๆ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ นั่นเป็นเพราะว่าบางครั้งบนฉลากโภชนาการก็ไม่ได้ระบุตรงๆ ว่ามีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แต่จะใช้ชื่อเฉพาะที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย เช่น ฟรุกโตสไซรัป (Fructose syrup) น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn Syrup) Maize syrup หรือ HFCS (High-fructose Corn Syrup) ซึ่งแม้จะมีชื่อที่ต่างกันเพราะตามประเภทของความหวานที่ได้มา แต่ทั้งหมดนี้ก็คือน้ำตาลอยู่ดี
โดยเฉพาะ HFCS ซึ่งเป็นน้ำตาลที่สังเคราะห์จากกระบวนการทางเคมี โดยนำน้ำตาลกลูโคสจากข้าวโพด มาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลฟรุกโตสด้วยเอนไซม์ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันส่วนเกินตามร่างกาย ทั้งยังระงับการทำงานของฮอร์โมนเล็ปติน (Leptin) ซึ่งเป็น
ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ทำให้อิ่ม ดังนั้นหากเด็กๆ ได้กินขนมหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ HFCS มากไป ก็จะยิ่งอยากกินของหวานมากกว่าเดิม นำไปสู่โรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา
ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคได้ในเด็กแต่ละวัย คือ อายุ 2-8 ปี ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 3 ช้อนชาต่อวัน และอายุ 8 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 5-8 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งนมเปรี้ยวและน้ำผลไม้พร้อมดื่มแบบกล่องส่วนใหญ่ ก็มีปริมาณน้ำตาลถึง 4.5 ช้อนชาต่อกล่องแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากพบว่าเด็กไทยจำนวนมากบริโภคน้ำตาลเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ผลจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ไม่เพียงทำให้เป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงเบาหวาน ขาดสารอาหารและฟันผุเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสมาธิในการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วย เด็กๆ อาจมีอาการไฮเปอร์ชั่วคราว อยู่นิ่งไม่ได้ หรือเด็กที่อ่อนไหวต่อน้ำตาลมาก อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว กลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย
สารให้ความหวานปลอดภัยกว่าน้ำตาลหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่บางคนที่รู้ว่าการให้เด็กๆ บริโภคน้ำตาลมากเกินไป ไม่ดีต่อสุขภาพ อาจมองหาทางเลือกอื่นๆ ให้ลูกเช่นเครื่องดื่มประเภทไดเอท หรือ น้ำตาล 0% แต่กระนั้นหลายครั้ง ก็ยังพบว่าอาหารหรือเครื่องดื่มที่ระบุว่าน้ำตาล 0% ยังมีรสชาติหวานอยู่
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งที่ใช้อย่างแพร่หลาย คือ
แอสปาร์แตม (Aspartame) ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่า อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ผลิตจะบอกว่าแอสปาร์แตมใช้ในผู้ที่เป็นเบาหวานได้ และปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ก็มีปริมาณที่จำกัดในการบริโภคต่อวัน นั่นคือ ห้ามกินเกิน 50 มก. ต่อวัน แต่การใช้ในเด็กอาจมีความเสี่ยงเนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความไวต่อสารต่างๆ ไม่เหมือนกัน เช่น แอสปาร์แตม อาจกระตุ้นอาการชักในเด็กที่เป็นโรคลมชัก หรือเด็กบางคนอาจสับสน มึนงง แขนขาสั่น หรือมีอาการชา
นอกจากสารให้ความหวานอย่างแอสปาร์แตมแล้ว ในยุคนี้ยังมีสารให้ความหวานจากธรรมชาติ อย่างหญ้าหวาน (Stevia) ที่ถึงแม้จะสกัดจากธรรมชาติ แต่สำหรับเด็กๆ ที่มีอาการแพ้ หากรับประทานเข้าไปก็อาจส่งผลต่อร่างกาย อีกทั้งการรับประทานต่อเนื่องมากกว่า 7 วัน อาจทำส่งผลต่อตับได้
ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ความหวาน ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็กๆ เท่าใดนัก ไม่ว่าจะจากน้ำตาลหรือสารให้ความหวานใดๆ หากเป็นไปได้จึงควรจำกัดปริมาณน้ำตาลที่เด็กๆ บริโภคในแต่ละวัน ฝึกสุขนิสัยการกินที่ดี รับประทาน อาหารที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กๆ เติบโตมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงต่อไปในอนาคต
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...