ทักษะต้องมี ป้องกันตัวเอง ถูก Bully ที่โรงเรียน
ว่าด้วยการบูลลี่ หรือ กลั่นแกล้ง แม้จะมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มียุคใดที่สังคมให้ความสนใจและตระหนักถึงปัญหาเท่ากับยุคปัจจุบันอีกแล้ว
ถึงกระนั้น แม้หลายภาคส่วนในสังคมจะเล็งเห็นปัญหาการบูลลี่ ไม่ว่าจะในสถานศึกษา หรือบนโลกออนไลน์ แต่การจะทำให้การกลั่นแกล้งหมดไปคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น นอกจากหลายภาคส่วนจะร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการบูลลี่แล้ว พ่อแม่ก็จำเป็นต้องสอนลูกไม่ให้บูลลี่ใคร และสอนลูกให้มีทักษะรับมือจากการถูกบูลลี่ด้วย
ผลกระทบเมื่อวัยรุ่นถูกบูลลี่
การบูลลี่ คือ การกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด อับอาย ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งอาจแบ่งประเภทการบูลลี่ได้ดังนี้
- การใช้กำลัง เช่น ชกต่อย ตบตี ทำร้ายข้าวของ
- การใช้คำพูด เช่น ล้อเลียน เยาะเย้ย ข่มขู่ ด่าทอ
- การบูลลี่ทางสังคม เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม ปล่อยข่าวลือเสียหาย นินทาลับหลัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ
- การบูลลี่ในโลกออนไลน์ เช่น เผยแพร่รูปที่ทำให้เสื่อมเสียอับอาย เขียนให้ร้ายในโลกโซเชียล เป็นต้น
ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม มักได้รับผลกระทบทางใจ สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้
จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2563 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน มีเด็กถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่ วิธีบูลลี่ที่พบมากที่สุดคือ การตบหัว 62.07 % รองลงมา ล้อบุพพการี 43.57 % พูดจาเหยียดหยาม 41.78 % และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสีผ่านโลกโซเชียล นอกจากนี้เด็ก 1 ใน 3 หรือ 35.33 % เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกประมาณเทอมละ 2 ครั้ง และเด็ก 1 ใน 4 หรือ 24.86 % ถูกกลั่นแกล้ง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
สอนลูกแยกแยะความขัดแย้ง ไม่เท่ากับ ถูกบูลลี่
อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นแม้จะร่างกายเติบโตไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่ด้วยประสบการณ์ในชีวิตที่ยังมีไม่มากนัก บางครั้งก็อาจสับสนเมื่อต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนแล้วคิดไปว่าสิ่งนั้นคือการถูกบูลลี่
ทักษะเริ่มต้นที่ควรมีจึงเป็นความสามารถแยกแยะว่าแบบใดคือการบูลลี่ และแบบใดคือความขัดแย้ง ยกตัวอย่าง เมื่อลูกต้องจับคู่ทำงานร่วมกับเพื่อน แต่ทั้งสองมีความคิดไม่ตรงกันและตกลงกันไม่ได้ เพื่อนไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำงานของลูก จึงไม่ช่วยทำงาน
กรณีข้างต้นไม่เข้าข่ายการบูลลี่ แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่เข้าใจ และด้วยความที่ทั้งคู่ยังเป็นวัยรุ่นขาดประสบการณ์ จึงไม่รู้ว่าจะหาทางพบกันครึ่งทางได้อย่างไร จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้ ในทางตรงข้าม หากจับคู่ทำงานด้วยกัน เมื่อความคิดไม่ตรงกัน แล้วเพื่อนนำเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ ไปโพสต์ในโซเชียล หรือนินทาว่าร้ายเกินจริง จนทำให้คนอื่นๆ มองลูกเราผิดๆ แบบนี้เข้าข่ายบูลลี่
ซึ่งบทบาทของพ่อแม่ในการช่วยรับมือปัญหาเหล่านี้จะต่างกัน กล่าวคือ หากลูกขัดแย้งกับเพื่อนพ่อแม่ช่วยแนะนำทางออก แต่หากลูกถูกบูลลี่ พ่อแม่ต้องช่วยหยุดการกลั่นแกล้งนั้น
ทักษะที่ควรรู้ เพื่อสู้กับการถูกบูลลี่
การบูลลี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งทางจิตใจและร่างกาย อีกทั้งยังอาจกระทบการเรียนรู้ของลูกด้วย ดังนั้น ทักษะที่เด็กยุคใหม่จำเป็นต้องมีเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่อาจถูกกลั่นแกล้งจึงมีความสำคัญ เพราะทำให้วัยรุ่นมีความมั่นใจว่าพวกเขาจะ
สามารถดูแลปกป้องตนเองได้เมื่อออกสู่โลกกว้าง
- ตอบสนองแบบหนักแน่นแต่ไม่ก้าวร้าว
เมื่อลูกถูกบูลลี่ที่โรงเรียน แทนการสู้กลับหรือส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย ควรสอนให้ลูกตอบโต้ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แสดงความมั่นใจแต่ไม่ก้าวร้าว เช่น หากเพื่อนหยิบดินสอของเราไปโดยไม่บอก พูดชัดๆ ช้าๆ ว่า “เอาดินสอคืนมา” หรือหากเพื่อนพยายามตบศีรษะเรา ควรหันไปบอกตรงๆ ว่า “อย่ามาถูกตัวฉัน” ขณะที่พูดควรควบคุมอารมณ์แม้จะรู้สึกกลัว หรือ โกรธ และควรสบตาผู้ที่บูลลี่เราด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราหมายความตามที่พูดจริงๆ
- ตอบโต้แบบกระจกเงา
อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตอบโต้ผู้ที่มาบูลลี่ก็คือการตอบโต้แบบกระจกเงา หมายถึงสะท้อนคำพูดหรือพฤติกรรมฝ่ายตรงข้าม เช่น หากอีกฝ่ายล้อเรื่องรูปร่างว่า อ้วนตัวกลม ให้ตอบโต้อย่างสงบว่า เธอก็ผอมตัวแบนเลยนะ หรือ เธอผอมมากๆเลยนะ วิธีนี้ไม่ใช่การล้อเลียน แต่เป็นการสะท้อนกลับสิ่งที่ผู้บูลลี่ส่งมา เพราะธรรมชาติของคนที่บูลลี่ผู้อื่นนั้นมักจะมีพรรคพวก ลูกสมุนที่จะคล้อยตามหัวโจกของกลุ่ม แต่หากเราตอบโต้ในลักษณะสะท้อนกลับ ก็จะลดความรุนแรงจากคำพูดของหัวโจก ทำให้การคล้อยตามจากลูกสมุนน้อยลงได้
- การป้องกันตัวเอง
บางครั้งทักษะการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง ก็เป็นความรู้ที่ปกป้องลูกจากการถูกบูลลี่ได้ แม้ว่าการใช้กำลังแก้ปัญหาไม่ใช้ทางออกที่ดี แต่หากลูกมีแนวโน้มถูกรังแกด้วยการทำร้ายร่างกายบ่อยๆ การมีทักษะป้องกันตนเองติดตัวไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย สิ่งสำคัญคือ วัยรุ่นจำเป็นต้องรู้ว่าทักษะนี้มีไว้เพื่อปกป้อง ไม่ใช่ เพื่อต่อสู้หรือรุกราน อย่างไรก็ตาม หากลูกรู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย และกำลังถูกบูลลี่ การขอความช่วยเหลือจากคนที่ผ่านไปผ่านมา จะสามารถช่วยหยุดการบูลลี่ได้ มีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า 57% ของการร้องขอความช่วยเหลือจากคนที่มุงดู หรือคนที่ผ่านมาพอดี จะช่วยหยุดการถูกบูลลี่ได้
- ใช้เสียง ไม่ใช้แรง
หากใช้วิธีทั้งหมดข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ยังถูกบูลลี่อยู่เรื่อยๆ ควรแจ้งครู ผู้ปกครอง พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ให้รับรู้ปัญหา เพราะโดยทั่วไปการบูลลี่มักเกิดขึ้นลับตาผู้ใหญ่ และหากผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ส่งเสียง ก็คงไม่มีใครช่วยได้ ดังนั้น ทักษะสำคัญอีกประการคือ การที่วัยรุ่นประเมินได้ว่า เมื่อใดควรขอความช่วยเหลือ ควรขอความช่วยเหลือจากใครเพื่อให้ตนเองได้รับความปลอดภัย
สุดท้ายแล้ว การบูลลี่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น และทุกภาคส่วนในสังคมควรตระหนักถึงปัญหานี้และร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่กล่าวโทษเหยื่อ ไม่มองว่าเป็นเรื่องเด็กเล่นกัน เพราะผลกระทบที่เกิดจากการบูลลี่อาจร้ายแรงทำให้เกิดการสูญเสียที่ยากจะแก้ไข การป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่าการตามแก้เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...