นวัตกรรม : โรงเรียนชุมชนบ้านพร้าวหนุ่ม และโรงเรียนบ้านแม่ตะละ
นวัตกรรมโรงเรียน โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) รุ่นที่ 1 ต่อเนื่องในปี 2564
การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการลดความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Loss)
โรงเรียนชุมชนบ้านพร้าวหนุ่ม
โรงเรียนต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะถดถอยของความรู้ของนักเรียนในหลายวิชาโดยเฉพาะวิชาภาษาไทย และวิชาคณิตศาสตร์ ครูเป็นอีกหนึ่งผู้ผลักดันให้กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดนิ่ง และจะต้องเตรียมการสอนให้ตรงกับบริบทของนักเรียนแต่ละคนที่มีพื้นฐานความรู้ภาษาไทยที่แตกต่างกัน เป็นการทำงานที่ครูต้องเร่งเรียนรู้ไปพร้อมๆกับความจำเป็นในสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาด โควิด-19 และยังเป็นความท้าทายในความสามารถและความคิดของครูผู้สอน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และรูปแบบการเรียนการสอน ในการพัฒนานักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้โรงเรียนมีข้อมูลพื้นหลังเป็นปัญหาสำคัญก่อนเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมของโรงเรียน นั่นคือ
- ผู้เรียน ไม่ตั้งใจเรียน ความรู้เดิมไม่มี ไม่มีการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
- ครู ไม่เตรียมการสอนล่วงหน้า ไม่มีความรู้หรือเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจ
- สภาพแวดล้อม บรรยากาศในชั้นเรียนไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนคือ เด็กและครูไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา โรงเรียนจึงได้จัดทำ “นวัตกรรมการสอนคำควบกล้ำ” ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรม คือ หน่วยการเรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดความถดถอยในสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ โดยมีวิธีการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
- ครูนำเข้าสู่บทเรียนด้วยเพลงคำควบกล้ำ และทำแบบทดสอบก่อนเรียน
- ให้นักเรียนช่วยกันยกตัวอย่างคำควบกล้ำที่นักเรียนรู้จัก
- นักเรียนฝึกอ่านสะกดคำควบกล้ำแท้ และคำควบกล้ำไม่แท้
- นักเรียนฝึกเขียนสะกดคำควบกล้ำแท้ และคำควบกล้ำไม่แท้
- นักเรียนเขียนคำควบกล้ำตามคำบอก
- นักเรียนท้าแบบฝึกหัดใบงานและแบบทดสอบหลังเรียน
หลังจากใช้นวัตกรรมแล้ว ผลลัพธ์จากการใช้นวัตกรรมเพื่อลดความถดถอยในสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์แล้ว ปรากฏว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีการพัฒนาการเรื่องคำควบ
กล้ำดีขึ้น คือรู้จักว่าคำไหนเป็นคำควบกล้ำ คำไหนไม่ใช่คำควบกล้ำ และสามารถอ่าน เขียน คำควบกล้ำได้ ซึ่งนักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้เดิมดี ก็จะมีพัฒนาการดีกว่านักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้น้อย และทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลต่อผลสัมฤทิ์ของนักเรียนที่มากขึ้น
โรงเรียนบ้านแม่ตะละ
ปัญหาการเรียน การสอน และการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน มีปัญหาในหลายระดับ หลายปัจจัย เช่น ปัญหาที่ตัวผู้สอน และผู้เรียน ปัญหาที่สื่อหรือนวัตกรรม และปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ การที่ผู้เรียนมิได้ให้ความสนใจกับวิชาภาษาไทยอย่างตระหนักรู้ว่า นี่คือความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษาของชาติโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์โดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่บนดอยสูงยิ่งยากต่อการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางโรงเรียนแม่ตะละได้ประสบปัญหาก่อนเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรม เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความล้มเหลวในการจัดการเรียนรู้ นั่นคือ
- ผู้เรียน ขาดเรียน
- ครู ข้อมูลนักเรียนรายบุคคลไม่ครบถ้วน
- สภาพแวดล้อม นักเรียนบางคนขาดความพร้อม มีปัญหาในการทำงานกลุ่ม
โรงเรียนจึงได้ดำเนินการจัดทำนวัตกรรม: ภาษาไทยบนดอยสูง “Learning Box ปลดล็อคการอ่าน - เขียนภาษาไทย” มีชื่อหน่วยการเรียนรู้ คือ “ภาษาไทยบนดอยสูง”
ชื่อเรื่อง: Learning Box ปลดล็อคการอ่าน - เขียนภาษาไทย
โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมและมีวิธีการจัดการเรียนรู้ดังนี้
- ครูและนักเรียนร่วมพูดคุยถึงทักษะการอ่านของนักเรียนแต่ละคน แล้วมอบ Learning Box ให้นักเรียนอ่าน (Ask)
- นักเรียนร่วมกันอธิบายวิธีการฝึกอ่านที่ทำให้นักเรียนรู้จักสระ ตัวสะกด และการอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้อง (Imagine)
- นักเรียนวางแผนเพื่อฝึกฝนการอ่านโดยใช้บัญชีคำพื้นฐานอย่างเป็นขั้นตอน (Plan)
- นักเรียนฝึกฝนอ่านคำพื้นฐานในกล่อง Learning Box กับเพื่อน ครู ผู้ปกครอง (Create) นักเรียน ครู และผู้ปกครองร่วมสะท้อนผลจากกิจกรรมที่ทำ (Reflect)
หลังจากใช้นวัตกรรมแล้ว โรงเรียนมีผลลัพธ์จากการให้นักเรียนทำแบบประเมินการอ่านคำในบัตรคำ แบบทดสอบก่อนเรียน และ หลังเรียนของนักเรียน และการสังเกตของครู สามารถเชื่อมโยงถึงการถดถอยในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านแม่ตะละ ว่ามีพัฒนาการในการอ่านหนังสือภาษาไทยได้ถูกต้องมากขึ้น โดยมีจำนวนนักเรียนที่สามารถอ่านคล่องจำนวน 9 คน จำนวนนักเรียนนักเรียนที่อ่านไม่คล่องจำนวน 17 คน และนักเรียนต้องได้รับการพัฒนาด้านการอ่าน หรือต้องใช้โปรแกรมพิเศษในการช่วยพัฒนาจำนวน 3 คน
ยกตัวอย่างนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เห็นชัดเจน คือ เด็กชายวิเชียร แซ่ย้าง ปัญหาเดิม คือจำสระที่เป็นสระประสมในภาษาไทยไม่ได้ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ สามารถจำสระได้มากขึ้น, เด็กชายรัฐภูมิ แซ่เฒ่า ปัญหาเดิมคือ ไม่กล้าอ่านออกเสียงคำ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือมีความพยายามอ่านสะกดคำตามสีที่แยกในบัตรคำ, เด็กหญิงอรอมล เลาหาง ปัญหาคือ ไม่สนใจร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ชอบอยู่คนเดียว พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือมีความกระตือรือร้นจับบัตรคำขึ้นมาอ่านออกเสียงเบา ๆ และสนใจร่วมกิจกรรมกับเพื่อนมากขึ้น สรุปได้ว่าการใช้นวัตกรรมของโรงเรียนได้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้นั่นเอง
Related Courses
การติดตาม ปรับปรุง และผลการสะท้อนกลับ
การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน เป็นการกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการ ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...