รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เน้นย้ำ ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ มุ่งเป้าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับทั่วถึงเท่าเทียม

6 วันที่แล้ว
51 views
โดย Starfish Labz
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เน้นย้ำ ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ มุ่งเป้าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับทั่วถึงเท่าเทียม

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 38/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 

รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาพวกเราได้ขับเคลื่อนแนวทางที่ถูกต้องในทิศทางเดียวกัน จากนี้ขอให้ทุกคน “ก้าวให้ไว ก้าวให้เร็ว รู้เขา รู้เรา” ร่วมกันดำเนินงานต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็วและรอบคอบ มีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปยังส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมในทุกมิติ พร้อมขับเคลื่อนทุกนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เชื่อมั่นว่าถ้าพวกเราร่วมมือกัน ภารกิจต่าง ๆ ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญจากการประชุม โดยสรุป ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยการร่วมมือกัน โดยเฉพาะการพัฒนาข้อสอบหรือการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ การจัดหาเครื่องมือ และการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักเรียน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากผลการอบรมออนไลน์การสร้างและการพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 15,000 คน ซึ่งผู้เข้าอบรมจะสามารถนำความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการศึกษาภาคเอกชนมีการวางแผนการดำเนินงานยกระดับผลการประเมิน PISA ในภาคเรียนที่ 2 โดยการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด มีการนำนักเรียนฝึกทำข้อสอบ PISA และการจัดทำข้อสอบกลางภาคและปลายภาคเป็นข้อสอบแนว PISA การอบรมครู นำระบบออนไลน์มาใช้ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็ได้ให้สถานศึกษาทุกแห่งนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และกำชับให้สถานศึกษาทุกแห่งเร่งนำชุดพัฒนา ไปบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกแห่งภายในปี 2567

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้ Anywhere Anytime ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบวัดความถนัด TGAT และ TPAT และการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ A-Level โดยมีการสอนเสริมความรู้ให้กับนักเรียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และครูผู้สอนที่มีความรู้และประสบการณ์ ผ่านช่องทางออนไลน์ OBEC Channel, YouTube และ Facebook นอกจากนี้ยังต้องเร่งวางแผนเตรียมการสำหรับการสอบอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ การจัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพุทธศาสนา (B-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET)

การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนที่จะต้องร่วมกันดำเนินการ ทั้งผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกันในทุกมิติ

มิติด้านนโยบาย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยได้กำหนดมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ก็มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนโยบายได้มอบหมายให้ สกศ. เป็นหน่วยงานหลัก เปรียบดังเสนาธิการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในการวางแผน กำหนดนโยบายแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อส่งต่อนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยร่วมกับ สกร. ในการสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบให้กลับเข้าสู่ระบบ และจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน

มิติด้านการวางแผน การแก้ไขปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา ต้องมีวางแผนที่ครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด รวมถึงเด็กไทยที่อยู่ต่างประเทศ มีการพัฒนาและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้โรงเรียนและสถานศึกษามีความพร้อมในการรองรับเด็กจากทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็กที่อาจประสบปัญหาการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งข้อมูลเด็กนอกระบบและเด็กตกหล่นในปี 2565 ถึงปี 2567 อาทิ เด็กในกระบวนการยุติธรรม (เด็กในกรมพินิจกลับมาเรียนต่อในศูนย์การเรียนตามมาตรา 12) เด็กนอกระบบในตำบล เด็กกำพร้า เด็กไร้สัญชาติ เด็กยากจนพิเศษ และเด็กชาติพันธุ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 และหนึ่งโรงเรียน 3 รูปแบบ ตามมาตรา 15

มิติด้านระบบ มีการจัดทำฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยมอบหมายศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและออกแบบระบบ และบูรณาการข้อมูลร่วมกัน นอกจากนี้ในส่วนของการจัดทำระบบติดตามและสนับสนุนผู้เรียนเพื่อการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Student Tracking System) เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้มีข้อมูลการศึกษาของเด็ก ทุกช่วงชั้น และต้องมีข้อมูลว่าแต่ละช่วงชั้นผู้เรียนอยู่ในสังกัดใด เพื่อสามารถติดตามและประเมินผลได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ

โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชนรายบุคคลเพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ ข้อมูลเด็กและเยาวชน อายุ 6 – 18 ปี โดยมีฐานข้อมูลนักเรียนจาก 21 สังกัด ทั้งสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและสังกัดกระทรวงอื่น โดยนำฐานข้อมูลระบบ EDC เชื่อมโยงกับข้อมูลประชากรจากทะเบียนราษฎร์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาหรือหลุดออกจากระบบจำนวนถึง 1.02 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาภาคบังคับ (ป.1 – ม.6) กว่า 3.94 แสนคน ซึ่งมีการประสานระหว่างหน่วยงานเพื่อวางแผน ออกแบบ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในจังหวัด อำเภอ และการสำรวจและติดตามเด็กในพื้นที่อำเภอ การเข้าช่วยเหลือและประสานงานให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาพร้อมฝึกอบรมอาชีพ และพร้อมรับเด็กที่ไม่มีที่เรียนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของ สกร. เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

มิติด้านพื้นที่ ได้มอบหมายให้ ผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และทุกหน่วยงานดำเนินงานในส่วนของพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการศาสนา สถานพินิจ กรมราชทัณฑ์ เพื่อเร่งดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกสังกัด และประสานกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อค้นหาเด็กที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดย สพฐ. ได้มีการตรวจสอบดูแล และนำเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยกระตุ้น และเน้นย้ำ ให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ดำเนินการ Kick Off ข้อมูลเด็กลงสู่การปฏิบัติ โดยประสานงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการในพื้นที่นำร่องจังหวัดบุรีรัมย์ ใน 18 อำเภอ เพื่อลงพื้นที่ติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และเร่งผลักดัน “โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง OBEC Zero Dropout” และจะรายงานผลให้ทราบต่อไป

การช่วยเหลือเยียวยาครู กรณีเหตุเพลิงไหม้รถโดยสารนักเรียน

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีมติให้ข้าราชการครู 2 ราย ที่เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้รถโดยสารนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ จำนวน 7 ขั้น และขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ศธ. ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการเยียวยาในส่วนของนักเรียนที่ประสบเหตุและรายการอื่น ๆ นั้น ให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีความรอบคอบ

“เชื่อว่าการดำเนินการตามนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะเกิดประสิทธิภาพได้ต้องสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย มุ่งเน้นการพัฒนาในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจนถึงในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและครอบคลุมทุกช่วงวัย เป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ“

ที่มาของข่าว:https://moe360.blog/

Share:
|

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด

โรงเรียนปลาดาวได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมระดับโลก World’s Best School Prizes for Innovation โดยเป็นผู้นำในการบุกเบิกการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน

28.10.24

จัดอย่างยิ่งใหญ่! FutureEd Fest 2024 งานเทศกาลการศึกษา มุ่งสร้างอนาคตการเรียนรู้

07.10.24

Starfish Education ร่วมงาน didacta asia 2024 และ didacta asia congress เสนอนวัตกรรมการศึกษาสำหรับอนาคต

21.10.24

CEO Starfish Education ร่วมเวทีการประชุมนานาชาติ didacta asia 2024: Ministerial Panel on "Southeast Asia Education Policies"

17.10.24

Starfish Education เสนอแนวคิดนวัตกรรมการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการ

16.10.24

“เพิ่มพูน“ สั่งการ งดทัศนศึกษาไม่จำเป็นทันที เร่งสถานศึกษาซ้อมแผนเผชิญเหตุจริงจัง

03.10.24