สมัยที่ 2 “เพิ่มพูน” พร้อมขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล สานงานต่อ ก่องานใหม่ “เรียนดี มีความสุข” ทุกมิติ เดินหน้า “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”

4 เดือนที่แล้ว
119 views
โดย Starfish Academy
สมัยที่ 2 “เพิ่มพูน” พร้อมขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล สานงานต่อ ก่องานใหม่ “เรียนดี มีความสุข” ทุกมิติ เดินหน้า “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”

16 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ พร้อมทั้งจัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัดในส่วนภูมิภาค โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live : ศธ. 360 องศา รวมทั้ง YouTube : ศธ. 360 องศา, BICT และ ETV Channel

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2567 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ได้มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมที่จะ “เดินหน้าสานต่อนโยบายเดิม เพิ่มเติมนโยบายรัฐบาลใหม่” ซึ่งการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ขอขอบคุณผู้บริหาร ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจเป็นอย่างดี จนทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์

“รัฐบาล” เชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ส่งเสริมการเกิดและเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เติบโตอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพทั้งทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“การศึกษา” ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งมั่นใช้การศึกษาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการดำเนินงาน พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สานต่อนโยบายเดิม และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มเติมนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ภายใต้นโยบายหลัก คือ “ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” และ “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” มุ่งเน้น “การเพิ่มเครือข่ายทางการศึกษา”พิ่มการมีส่วนร่วม สร้างภาคีเครือข่าย โดยนำงานวิจัยเป็นฐาน มีการทำงานเป็นทีม สร้างบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข และสร้างองค์กรแห่งวัฒนธรรม ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษา/สถาบันทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อ “การศึกษาที่เท่าเทียม” พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน “ฉลาด รู้ฉลาดคิด ฉลาดทำ” พัฒนา ส่งเสริม และสร้างความเสมอภาคเพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา” มาร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อให้ประเทศมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ความมั่นใจต่อทุกท่านว่า พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งที่สำคัญต้องขอขอบคุณคณะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณโครงการต่าง ๆ อาทิ อาหารกลางวัน หรือการจ้างนักการภารโรง เพื่อสวัสดิภาพของครูและนักเรียน และขอบคุณรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพรทองธาร ชินวัติ นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ที่ได้มีนโยบายทางการศึกษาที่มุ่งเน้นในการพัฒนาทุนมนุษย์และการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน จะร่วมจับมือและก้าวไปพร้อมกับ รมว.ศธ. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน เดินหน้า และสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้ภารกิจและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าต่อไป” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา

นโยบายการลดภาระครูด้วยการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ (DPA) เพื่อลดขั้นตอน ทำให้การประเมินมีความสะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณ ปิดช่องทางการทุจริต และลอกเลียนแบบผลงานทางวิชาการ ด้วยโปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์” สำหรับการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นนั้น ยึดหลักการสำคัญคือ ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม จึงนำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) ระบบย้ายข้าราชการครู (TRS) และระบบบริหารอัตรากำลัง (SCS) เชื่อมโยงกับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียน เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังมีความถูกต้อง แม่นยำ เหมาะสมกับภาระงานตามสภาพบริบทของพื้นที่

การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินงานโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ลดจำนวนครูกลุ่มเป็นหนี้ระดับวิกฤต จัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน ให้ความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมควบคู่กับการสร้างวินัยในการบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังแก้ปัญหา เติมความสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับครู และนักเรียน ด้วยการยกเลิก “ครูอยู่เวร” เพื่อความปลอดภัยของครู รวมทั้งจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลนเพื่อช่วยลดภาระงานครู ทั้งยังช่วยเกิดการจ้างงานในชุมชน รวมถึงการปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ให้ครูได้มีเวลาในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น การเปิดโอกาสให้พนักงานราชการ ลูกจ้าง ครูสอนศาสนาอิสลาม ครูอัตราจ้าง มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกเป็นข้าราชการครู เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ความมั่นคงในชีวิต ได้ครูที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการสอน ตรงความต้องการสถานศึกษา

ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

ด้วยการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ นำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษาของชาติโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ทำให้การพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียนและครูผู้สอนให้ก้าวทันยุคดิจิทัล เกิดการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด

พร้อมทั้งสนับสนุนให้มี 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ให้มีความพร้อมเชิงกายภาพ มีโครงสร้างพื้นฐาน ห้องเรียนห้องปฏิบัติการ สื่อที่พร้อมใช้ เพียงพอ ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ผู้บริหาร โรงเรียนคุณภาพ สร้างเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ สนับสนุนค่าพาหนะในการเดินทางไปเรียนรวมให้นักเรียนโรงเรียนเครือข่าย และมีรถโรงเรียนรับ – ส่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

สำหรับการส่งเสริมระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต มุ่งสร้างความเข้มแข็งของระบบแนะแนวนักเรียน ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อให้ค้นพบตนเอง เสริมสร้างทักษะชีวิต ป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต พฤติกรรมเสี่ยงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมีความสุข จัดทำหลักสูตรและพัฒนาครูแนะแนวแกนนำ พร้อมออกมาตรการป้องกันและเสริมสร้างความรอบรู้ อันตรายจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพ ในระหว่างที่กำลังศึกษา เทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทย และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จัดทำหลักสูตรทวิวุฒิ ไทย-จีน พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สร้างโอกาสให้ประชาชนได้เพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ตลอดจนเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส กว่า 2,955 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน ให้เด็กและเยาวชนได้กินดี มีความสุข พร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ และโดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ เพื่อให้เด็กที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

การบรรเทาภาระค่าใช่จ่ายด้วยการการยกเว้น ผ่อนผันแต่งเครื่องแบบ และรองเท้าของนักเรียน คำนึงการลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะทำให้ “การเปิดเทอม สุขใจ” และโครงการสุขาดี มีความสุข เพื่อเป้าหมายให้ห้องน้ำทุกที่ สะอาด สะดวก ถูกสุขลักษณะ สวยงาม ครูและ นักเรียนใช้ร่วมกันได้ พร้อมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้ บำรุง ดูแล และรักษาอย่างถูกวิธี

ความร่วมมือด้านการศึกษา

ภายใต้แนวคิด “ จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ทั้งความร่วมมือกับนานาชาติ ในกรอบพหุภาคี และทวิภาคี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และนำเสนอนโยบาย แนวทางขับเคลื่อนการศึกษา ส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคและระดับโลก ความร่วมมือระดับชาติ มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้สามารถดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนยกระดับผลประเมิน PISA ในทุกมิติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และส่งเสริมสมรรถนะครู และนักเรียนในทุกมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินในรอบถัดไป

ในการนี้ รมว.ศธ. ได้ให้ข้อสั่งการและแนวปฏิบัติของข้าราชการในการปฏิบัติงาน

ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แสดงต่อรัฐสภา และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan)

ให้ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด เช่น การสอบ การบรรจุ การแต่งตั้งโยกย้าย (ห้ามซื้อ-ขายตำแหน่ง) ห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ

น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

ให้ร่วมกันปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด

ส่งเสริมการอ่านและคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ

การลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้มีการดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องผูกผ้า ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝากใดๆ ทั้งสิ้น

รมช.ศธ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ได้ดำรงตำแหน่งมีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพบปะกับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับทุกภูมิภาค ได้พูดคุยเน้นย้ำเสมอว่าทั้งตนและทุกท่านล้วนเป็นกลไกสำคัญที่จะดำเนินการสนับสนุนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์

จากการลงพื้นที่ได้รับทราบถึงความตั้งใจที่ทุกภาคส่วนในสังกัดร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะการศึกษาในปัจจุบันอาจไม่ใช่ในรูปแบบเดิมที่เน้นท่องจำอีกต่อไป

ความท้าทายที่เราต้องเผชิญนับจากนี้คือ ความผันผวนไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ศธ. จึงต้องเตรียมพร้อมยกระดับทักษะกำลังพลให้ทันต่อโลกยุค BANI World พร้อมเร่งสร้างความร่วมมือด้านการศึกษากับทั้งภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาสังคม ต้องจับมือกันอย่างใกล้ชิดเหนียวแน่นเพื่อเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ “ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ”

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. กล่าวว่า แนวทางการบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มอบเป็นแนวทางให้ส่วนราชการในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ได้นำไปยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา

ให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานด้วยความถูกต้อง เน้นการขับเคลื่อนนโยบายด้วยความจริงจัง ต่อเนื่อง ชัดเจน มีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน มีความไว้วางใจต่อบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการสื่อสารนโยบายหรือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวัง เพื่อให้เข้าถึงปลายทางด้วยความกระชับ ชัดเจน โดยผู้บริหารต้องรู้และเข้าใจในงานอย่างถ่องแท้ เพื่อขับเคลื่อนงานบนฐานข้อมูลที่ต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตของทุกส่วนราชการทุกระดับ

การมอบหมาย ติดตามงาน และรายงานผล

ให้มีการติดตามงานอย่างเข้ม และต่อเนื่อง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดนิ่ง เน้นการบูรณาการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มีการนำผลการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา โดยต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และต้องมีความพร้อมในด้านข้อมูลเชิงประจักษ์ และให้มีการสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนางานการศึกษา

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงาน และการปฏิบัติงานของส่วนราชการ

เป็นผู้บริหารยุคใหม่ก้าวล้ำเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและปรับรูปแบบการทำงานเป็นดิจิทัล มี Platform รองรับการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ

สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน

มีการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ เมื่อทำความดี ได้รับการยกย่องชมเชย ให้รางวัลทันที เปิดใจยอมรับฟังและเรียนรู้ เป็นแบบอย่างในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม พร้อมขับเคลื่อนงานด้วยความท้าทาย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://moe360.blog/2024/09/16/minister-education-policy/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEA

AR1A4KrPBxNdbLhZf2-dfCuRVy3EoGVJJaTM5Dnsxe5nVk2-FXJTaSBAOn8_aem_qwp0DG1pvs7p5XW0MWNUlw

Share:
|

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด