ศธ.รับลูกนายกฯ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลามุ่งสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้าน "เสมา1" ย้ำ ใส่เนื้อหาการเรียนรู้ก่อนแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการมอบนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาด้วย โดยกล่าวว่าประเทศไทยจะต้องเป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสังคมที่รักการอ่าน มีการพัฒนาทั้งนักเรียน ทั้งครู และทำให้หลักสูตรมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และอาจรวมถึงการทำให้ลดปริมาณงาน การเรียน การบ้าน และปัจจัยอื่น ๆ สำหรับหลายส่วนในภาคการศึกษา
โฆษก ศธ. กล่าวว่า ในส่วนของ ศธ.ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการเป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” จัดทำหลักสูตรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet) และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการศึกษา อีกทั้งยังมีการฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน นอกจากนี้ยังมีการนำแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติมาผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนกับการเรียนการสอนออนไลน์ (Hybrid Education) ผู้เรียนจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และขยายการเรียนรู้ไปถึงประชาชนทุกช่วงวัยทั่วประเทศให้มีโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน
“เราจะร่วมมือกันทำงานแบบ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยเน้นนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงผู้ปกครอง เพราะเมื่อมีความสุข ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และเมื่อการเรียนดีขึ้น ก็จะส่งผลกลับมาทำให้รู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น สามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.” นายสิริพงศ์กล่าว
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายแจกแท็บเล็ต เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหารือกับรมว.ศึกษาธิการให้รอบคอบ เพราะแค่มีนโยบายเรื่องนี้ออกไป ยังไม่รู้เลยว่าเราจะซื้อแจก หรือ เช่าแจก ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เข้ามาแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำกันอย่างระมัดระวัง แต่โอกาสที่จะเช่าซื้อมีมากกว่า เนื่องจากมีการติดตามหลังการขาย อีกทั้งสเปคคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนความเร็วตลอดเวลา การเช่าซื้อก็น่าจะคุ้มค่ากว่า แต่ก่อนมีแท็บเล็ตเราต้องมีแพลตฟอร์ม มีคอนเท้นท์อยู่ในนั้นก่อน และอีกส่วนหนึ่งก็พยายามจะจัดหาอุปกรณ์แจก ซึ่งก็ต้องทำคู่ขนานกันไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าระยะแรก ๆ จะดำเนินการไม่ครบตามกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากว่าวงเงินมีจำกัด เรื่องงบประมาณเป็นประเด็นสำคัญ โดยขณะนี้ได้ให้สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน(สทร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปดูเรื่องของงบประมาณว่ามีอยู่จำนวนเท่าไหร่ในปีงบประมาณ 2567
“ตอนนี้ก็พยายามเคลียร์เรื่องงบประมาณอยู่ ว่าเบื้องต้นจะแจกจ่าย ในระดับชั้นใดจะซื้อแจก หรือเช่าแจก ซึ่งต้องมาดูว่าอันไหนคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้รมว.ศึกษาธิการกำลังให้แต่ละหน่วยงานไปปรับคำของบประมาณ 2567 ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ งบฯไหนที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข งบฯไหนที่ยังไม่มีก็ต้องเพิ่มงบฯ โดยเฉพาะนโยบายการจัดซื้อแท็บเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัฐกาลที่9) ทรงมองการณ์ไกลในการใช้เทคโนโลยีมาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเริ่มจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพราะโรงเรียนตามชายขอบไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนงบประมาณ และขณะนี้โครงข่ายสัญญาณดาวเทียมไทยคมก็ไม่ค่อยเสถียรเพราะทำกันมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลซึ่งมองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงจะนำเครือข่ายอินเตอร์ที่มีสัญญาณใช้ได้ในพื้นที่มาดำเนินการ โดยให้ สทร.สำรวจโรงเรียนที่โครงข่ายอินเตอร์เน็ตไปไม่ถึง ซึ่งพบว่า มีอยู่ประมาณ 478 โรงเรียน และมีงบประมาณที่จะดำเนินการในเบื้องต้นอยู่ประมาณ 2,700 ล้านบาท
อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
โรงเรียนปลาดาวได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมระดับโลก World’s Best School Prizes for Innovation โดยเป็นผู้นำในการบุกเบิกการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน
28.10.24
พัฒนาทักษะอนาคตเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน กับกิจกรรม School Tour Future Youth Thailand @กาญจนบุรี
22.11.24
Starfish Education ร่วมงาน didacta asia 2024 และ didacta asia congress เสนอนวัตกรรมการศึกษาสำหรับอนาคต
21.10.24
คุรุสภา ไฟเขียว ร่างประกาศยกเว้นใบอนุญาตครูชั่วคราว ขับเคลื่อนมาตรฐานการผลิตครู
02.11.24
การประชุมสัมมนาจัดทำกรอบแนวคิดการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์
25.10.24
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เน้นย้ำ ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ มุ่งเป้าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับทั่วถึงเท่าเทียม
08.11.24