Starfish Education รวมพลังพร้อมสร้างครูแกนนำ เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรม Makerspace Day
Starfish Education ร่วมกับคณะผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รวมพลังพร้อมสร้างครูแกนนำ เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรม Makerspace Day ครั้งที่ 3 ให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 คณะผู้บริหารและคุณครูแกนนำร่วมถอดองค์ความรู้จากการได้ลงมือปฏิบัตจริง โดยร่วมเป็นโค้ชนำกิจกรรมร่วมกับทีม Starfish เพื่อให้คุณครูได้เข้าใจบทบาทการเป็นโค้ช และมีทักษะที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียน และเตรียมพร้อมจัดกิจกรรม Makerspace ครั้งที่ 3 ให้กับโรงเรียนในเขตพระนคร ด้วยกระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปปรับใช้เพื่อสร้าง Active Learning ในห้องเรียนได้จริงพร้อมกับพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ครูแกนนำยังได้เรียนรู้วิธีการใช้งานแอปพลิเคชั่น Starfish Class เครื่องมือประเมินทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ครูจัดการห้องเรียน และเป็นเครื่องมือตั้งเป้าพัฒนาทักษะของผู้เรียนได้ตรงตามศักยภาพ
ในด้านของผู้อำนวยการโรงเรียนราชบพิธ ‘นายสุริยา ลุนหงส์’ ผู้ให้การสนับสนุนและเอื้อเฟื้อสถานที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาการศึกษาไทยที่มีคุณภาพ เสริมสร้างทักษะและสมรรถนะสำคัญให้แก่ผู้เรียน ซึ่งท่านได้ให้ความสนใจกระบวนการ ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในโรงเรียนแบบ Active Learning อย่างยั่งยืน และให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“สภาพสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รูปแบบการใช้ชีวิต และแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในทุกวันนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน วาระหลักของครูจึงต้องเร่งเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อนำไปสู่การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและตามทันโลก ซึ่งเราไม่สามารถปรับกันแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากผลลัพธ์สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนเรียนรู้ได้ไม่ดี เราก็ต้องมองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่าสอนด้วยกระบวนการที่ดีพอแล้วหรือยัง เด็กเรียนแล้วเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
จึงต้องแสวงหาวิธีการสร้างผลสัมฤทธิ์ด้วยกระบวนการใหม่ๆ ที่ช่วยสอดแทรกความรู้แบบบูรณาการ และด้วยความชำนาญทางด้านนวัตกรรมการศึกษาของสตาร์ฟิชฯ ได้เข้ามาช่วยสร้างมวลประสบการณ์และองค์ความรู้ให้แก่เครือข่ายครูแกนนำของเราให้มีความเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาและยกระดับตนเอง และขยายผลไปสู่เพื่อนครูต่อได้ในแต่ละโรงเรียน และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กๆ ครูต้องคำนึงถึงนักเรียนมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงทำเพื่อสร้างผลงานของครูเอง ไม่เน้นให้ความสำคัญแต่เด็กเก่งที่สามารถทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนได้เท่านั้น เราควรต้องพานักเรียนของเราค้นหาความเก่งในแบบของตนเองไปกับเราด้วยกันทั้งหมด” ‘นายสุริยา ลุนหงส์’ กล่าว
นอกจากนี้ทางด้านครูจ๊ะเอ๋ ‘นางสาวชัญญ์นิฏฐ์ มณีเอี่ยม’ ครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ หนึ่งในคุณครูแกนนำที่ได้เข้าร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ Makerspace ตามกระบวนการ STEAM Design Process ยังได้บอกเล่าความรู้สึกและความประทับใจในครั้งนี้ว่า
“พอได้ลองมารับบทบาทโค้ชในวันนี้ ครูเองเวลาเห็นเด็กๆ ทำไม่ได้แล้วใจอยากจะเข้าไปช่วย เราจะต้องเก็บจิตวิญญาณความเป็นครูของตัวเองตามความเคยชินเอาไว้ก่อน เพื่อติดตามคอยดูเขาอยู่ห่างๆ ซึ่งตลอดการสังเกตจะเห็นได้เลยว่าเด็กกล้าคิด กล้าจินตนาการ กล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักวางแผน เมื่อให้เขารู้จักสำรวจตนเอง มองเห็นปัญหาของตนเอง ก็จะอธิบายและตอบคำถามได้ฉะฉานขึ้น แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อๆ ไปเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
โดยในแต่ละฐานกิจกรรมกระบวนการจะมี 5 ขั้นตอนเหมือนๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ที่ครูและนักเรียนจะสามารถนำหลักคิดนี้ไปปรับใช้ได้ในทุกรายวิชา แล้วจากเดิมห้องหนึ่งอาจมีเด็กเก่งเพียงหนึ่งหรือสองกลุ่ม แต่กระบวนการ STEAM Design Process จะช่วยครูและโรงเรียนค้นพบเด็กเก่งในด้านต่างๆ อีกหลากหลายด้าน และเราจะเพิ่มจำนวนเด็กเก่งให้มีมากขึ้นอีกหลายเท่า”
ครูอี๊ด ‘นายกันตพัฒน์ สุวรรณเรือง’ ครูวิทยฐานะชำนาญการจากโรงเรียนราชบพิธ เสริมอีกว่า
“โดยรวมรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นเด็กๆ ได้ความรู้นอกเหนือจากในห้องเรียน ได้ทดลองทำ ได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ โดยส่วนตัวให้ความสำคัญในขั้นตอนการตั้งคำถาม (จึงต้องสร้างทักษะเป็นเกราะคุ้มกันให้เขารับมือ) มากๆ ค่ะ เพราะเด็กไทยยังไม่ค่อยกล้าคิดกล้าตอบคำถาม และที่น่าสนใจคือกระบวนการสะท้อนคิด (Reflection) ที่เด็กจะได้ลำดับความคิดแล้วเล่าออกมา สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
บางทีครูเองอาจจะเก่งในงานของตนอยู่แล้ว แต่การได้ออกมาดูงาน ได้ลงมือสร้างกระบวนการใหม่ๆ จะได้มุมมองใหม่ๆ กลับไปแน่นอน แล้วเด็กๆ เขาก็รอคอยครูมาช่วยกระตุ้นให้เขาเป็นคนเก่ง คนที่กล้าคิด คนที่สามารถสู้กับสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ที่ผันแปรไปของโลก อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี และสื่อโซเชียลก็จะเจอเรื่องราวน่ากลัวมากมาย ซึ่งสาเหตุมาจากเด็กไม่รู้คิด มีฐานการคิดเป็นเหตุเป็นผลน้อย จึงไม่เข้าใจสถานการณ์ ขาดการยับยั้งชั่งใจตนเอง และไม่รู้เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ ในโลกยุคใหม่ เราจึงต้องสร้างทักษะเป็นเกราะคุ้มกันให้เขารับมือกับโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายนี้ จนสามารถรับมือไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรเข้ามากระทบชีวิตของตนเองได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องเลือกเดินทางยากลำบากค่ะ”
จากเสียงสะท้อนทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าผอ.และครูมีความพร้อมและเห็นด้วยกับการปรับวิธีการสอนจากเดิมที่มักจะต้องคอยบอกคอยสอนวิธีการทุกขั้นตอนแก่นักเรียน เปลี่ยนมาเป็นโค้ชกระตุ้นชวนให้นักเรียนคิดวิธีการแก้ปัญหา เรียนรู้เองจากการทดลอง และสร้างสรรค์งานในแบบฉบับของเขาเอง โดยครูจะคอยอยู่ประจำทั้ง 5 ฐานกิจกรรม เพื่อติดตามสังเกตการณ์และคอยให้ความช่วยเหลือเวลาที่เด็กๆ ลงมือออกแบบชิ้นงาน จนถึงขั้นลงมือปฏิบัติ หากต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความอันตรายจะต้องมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือสอดส่องอยู่ตลอด จนกระทั่งสร้างสรรค์ผลงานจริงออกมานำเสนอแก่เพื่อนๆ ได้
คุณปลาย นางสาวศิรินทร์ทิพย์ คล้ายทอง เจ้าหน้าที่กิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทเทเวศประกันภัย ได้กล่าวถึงภาพรวมของกิจกรรม Makerspace Day ในครั้งนี้ด้วยว่า
Makerspace เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เน้นกระบวนการคิดของนักเรียนให้นักเรียนได้คิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เชื่อมโยงกระบวนการคิดในชีวิตประจำวันของนักเรียน ซึ่งในกิจกรรมอาจจะต้องค่อยๆ ตั้งคำถามหรือตั้งโจทย์ให้เด็กๆ โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ให้เด็กๆ ได้ฝึกกระบวนการคิด นอกจากเด็กๆ ได้ฝึกกระบวนการคิดแล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้คุณครูได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคม ชีวิตประจำวัน และในส่วนของการประเมินทักษะนักเรียนด้วย Starfish Class จะช่วยให้คุณครูได้รู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความโดดเด่น หรือมีอะไรที่ต้องพัฒนา เพื่อที่คุณครูจะได้เสริมแรง หรือพัฒนานักเรียนได้ตรงจุดต่อไป
หลังจากจบกิจกรรม Makerspace แล้ว ครูแกนนำได้ถอดความรู้จากสิ่งที่ได้พบเจอ และนำผลการติดตามการเรียนรู้ของเด็กๆ มาใส่ข้อมูลลงในแอปพลิเคชั่น Starfish Class เครื่องมือประเมินทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเครื่องมือนี้จะเป็นตัวช่วยครูคอยจัดการห้องเรียน และตั้งเป้าพัฒนาทักษะของผู้เรียนได้ตรงตามศักยภาพของแต่ละคน
เรียนรู้การจัดกิจกรรม Makerspace ได้ที่ คอร์สความรู้เกี่ยวกับสตาร์ฟิชเมคเกอร์ : bit.ly/3U1ifE8
คอร์ส พื้นที่แบบไหนก็จัด Makerspace ได้ : bit.ly/3s7fkgF
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : STEAM Design Process กระบวนการเรียนรู้แห่งอนาคต : bit.ly/3VjFD0F
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
โรงเรียนปลาดาวได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมระดับโลก World’s Best School Prizes for Innovation โดยเป็นผู้นำในการบุกเบิกการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมสำหรับทุกคน
28.10.24
พัฒนาทักษะอนาคตเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน กับกิจกรรม School Tour Future Youth Thailand @กาญจนบุรี
22.11.24
Starfish Education ร่วมงาน didacta asia 2024 และ didacta asia congress เสนอนวัตกรรมการศึกษาสำหรับอนาคต
21.10.24
คุรุสภา ไฟเขียว ร่างประกาศยกเว้นใบอนุญาตครูชั่วคราว ขับเคลื่อนมาตรฐานการผลิตครู
02.11.24
การประชุมสัมมนาจัดทำกรอบแนวคิดการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์
25.10.24
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เน้นย้ำ ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ มุ่งเป้าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับทั่วถึงเท่าเทียม
08.11.24