นวัตกรรม : โรงเรียนพร้าวบูรพา และโรงเรียนบ้านแม่คะ
นวัตกรรมโรงเรียน โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) รุ่นที่ 1 ต่อเนื่องในปี 2564
การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (CBE)
นวัตกรรมโรงเรียนพร้าวบูรพา
ทุกโรงเรียนประสบปัญหาสำคัญคือนักเรียน ไม่ค่อยชอบวิชาคณิตศาสตร์เนื่องจากเนื้อหาที่ยากเกินไปนั้น ยิ่งทำให้เด็ก “เกลียดคณิตศาสตร์” นั่นคือ ถ้านักเรียนคิดเลขไม่เป็น หรือทำโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้ เด็กก็จะไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์นั่นเอง ซึ่งในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ พบว่า บางครั้งครูต้องการแค่ให้เด็กเข้าใจในวิธีการ แค่นักเรียนทำได้ รู้หลักการ ก็เพียงพอแล้ว แต่บางครั้งที่นักเรียนเข้าใจวิธีการและหลักการ รู้วิธีทำแต่ก็ไม่สามารถทำแบบฝึกหัดได้ เพราะยังต้องติดปัญหาอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับความยากของโจทย์หรือตัวเลขที่มีมากเกินไป ทำให้หาคำตอบที่ถูกต้องได้ยากหรือไม่ได้เลย โรงเรียนพร้าวบูรพาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เห็นได้จากปัญหาของนักเรียนก่อนเข้าร่วมโครงการการพัฒนานวัตกรรมเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความล้มเหลวในการจัดการเรียนรู้ นั่นคือ คุณครู มีเวลาไม่เพียงพอกับการสอนนักเรียน และที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนคือสภาพแวดล้อมยังไม่พร้อม เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนไม่ครบ ขาดสื่อที่จะใช้ในการสอน เป็นต้น
โรงเรียนพร้าวบูรพาจึงได้จัดทำนวัตกรรม คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning by 5 STEPs เพื่อพัฒนาผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21 โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรม คือ หน่วยการเรียนรู้ “ด้านไหนก็บอกได้” โดยมีวิธีการจัดการเรียนรู้ดังนี้
1. ครูนำสนทนาให้เห็นตัวอย่างในชีวิตจริงที่มีการเขียนภาพด้านหน้า ภาพด้านข้างและภาพด้านบนของวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ( ขั้นที่ 1 เรียนรู้ปูพื้นฐาน)
2. ครูอธิบายวิธีการมองเพื่อเขียนภาพด้านหน้า ภาพด้านข้างและภาพด้านบนของวัตถุสามมิติ (ขั้นที่ 2 ประสานความเข้าใจ)
3. ครูใช้สิ่งของต่าง ๆที่อยู่ในห้องเรียน เช่น กล่องชอล์ก แปรงลบกระดาน เพื่อให้นักเรียนฝึกเขียนภาพด้านหน้า ด้านข้างและด้านบนของสิ่งของเหล่านั้น (ขั้นที่ 3 ใฝ่เรียนรู้ สู่การปฏิบัติ)
4. นักเรียนลงมือปฏิบัติประกอบลูกบาศก์จำนวน 6 ลูก ให้ประกอบลูกบาศก์วางในลักษณะต่าง ๆ ( ขั้นที่ 4 เด่นชัดในผลงาน)
5. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปวิธีในการมองวัตถุสามมิติ เพื่อเขียนภาพด้านหน้า ภาพด้านข้างและภาพด้านบนจากลูกบาศก์ที่ประกอบขึ้น ( ขั้นที่ 5 สร้างสรรค์สู่บทเรียน)
จากวิธีการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวส่งผลลัพธ์โดยตรงต่อนักเรียน เพราะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแบบ Active Learning By 5 STEPs เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดเชิงเรขาคณิต นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีการสังเกต การตั้งคำถาม และสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้นักเรียนจดจำความรู้ได้นาน จนสามารถทำความเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ สามารถแก้โจทย์ปัญหาต่างๆส่งผลต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงต่อไป
นวัตกรรมโรงเรียนบ้านแม่คะ
โรงเรียนบ้านแม่คะมีข้อมูลพื้นหลังซึ่งเป็นปัญหาก่อนเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมตามบริบทของโรงเรียน ที่มีนักเรียนในโรงเรียนมีความใกล้ชิดกับวิถีท้องถิ่น มีศิลปะ วัฒนธรรมเป็นของตนเองและใกล้ชิดกับธรรมชาติ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขยายโอกาส จึงมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการนำความรู้และทักษะที่มีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือทำกิจกรรมต่างๆในสถานการณ์ที่มีอยู่จริงได้ อีกทั้งมีทักษะอาชีพติดตัว ผู้บริหารนำโดยผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูจึงได้มีการตั้งเป็นเป้าหมายของโรงเรียน
โดยมีจุดเน้นคือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้ โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะให้กับผู้เรียนได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา นวัตกรรม MA3PC MODEL“การสร้างผลิตภัณฑ์นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่คะ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของ ชุมชน” โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานในการจัดกระบวนการพัฒนานักเรียนด้วยกระบวนการ STEAM DESIGN PROCESS เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของนักเรียน ซึ่งได้นำศิลปะในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อฝึกให้นักเรียนแก้ไขปัญหาผ่านสถานการณ์ต่างๆที่สอดคล้องกับบริบทชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน และเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนเห็นคุณค่า ความสำคัญ และประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์สู่ร้าน “แม่คะคาเฟ่” และตลาดในชุมชน เพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะสำคัญให้กับนักเรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ความรู้พัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมเชิงรุกหรือ Active learning เพื่อให้นักเรียน มีการประยุกต์ใช้ความรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริงเพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้เรียนในอนาคตต่อไป
นวัตกรรม MA3PC MODEL การสร้างผลิตภัณฑ์นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่คะ เพื่อการอนุรักษณ์ทรัพยากรธรรมชาติมีรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมคือ
ชื่อหน่วยการเรียนรู้ งานอาชีพ
ชื่อเรื่อง การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ
วิธีการจัดการเรียนรู้
กระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งประกอบไปด้วย การถาม จินตนาการ วางแผน สร้างสรรค์ คิดสะท้อนและออกแบบใหม่ ที่จะพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะการคิดแบบเป็นขั้นตอน ช่วยส่งเสริมทักษะที่สำคัญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อสร้างทักษะแห่งอนาคตให้นักเรียน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะติดตัวเด็กไปในการเรียนและการทำงานในอนาคต
ผลลัพธ์จากการใช้นวัตกรรม: ผลจากการวิเคราะห์ Effect Size (ขนาดเอฟเฟกต์คือค่าที่วัดความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวในกลุ่มประชากร หรือการประมาณการตามตัวอย่างของปริมาณนั้น) แสดงผลการวิเคราะห์ ดังนี้
- ป.1 ค่า ES 4.16
- ป.2 ค่า ES 0.81
- ป.3 ค่า ES 1.23
- ป.4 ค่า ES 1.63
- ป.5 ค่า ES 0.94
- ป.6 ค่า ES 0.99
แสดงให้เห็นว่าค่า ES ของทุกระดับชั้นมากกว่า 0.4 นั่นคือผู้เรียนมีพัฒนาที่ดีขึ้นในการเรียนรู้ แปลว่าเครื่องมือและวิธีการสอนที่ครูใช้ดี มีประสิทธิภาพนั่นเอง
Related Courses
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...