ฮาวทูสอน จำลองสถานการณ์ สร้างกระบวนการคิด ที่ซับซ้อนให้แก่นักเรียน
คำว่า ‘scenario’ หรือฉากสถานการณ์ เป็นคำมาจากภาษาละตินว่า ‘escena’ หมายถึง ฉากในบทละคร ซึ่งบทละครจะประกอบไปด้วย เนื้อเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา และจุดวิกฤตสูงสุด ฉากในบทละครนั้นสามารถดึงดูดให้ผู้ชมติดตาม สงสัย สนใจ และอยากมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่แต่ละฉากดำเนินไปค่ะ ซึ่งการเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐานนั้นมีแนวคิดว่า มนุษย์นั้นไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหากไม่มีบริบทเข้ามาประกอบด้วย
การเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐาน เป็นการเรียนรู้แบบเชิงรุก เรียนรู้จากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงค่ะ ผู้เรียนจะได้ฝึกการทำงานร่วมกัน เมื่อพบปัญหาก็สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ เป็นการเสริมสร้างทักษะเพื่อการทำงาน และเตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนเข้าสู่การทำงานจริงค่ะ การสร้างฉากสถานการณ์นั้น เป็นการวางแผนเลือกฉากให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ค่ะ ซึ่งการเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
1. ฉากสถานการณ์ที่ใช้ทักษะเป็นฐาน
เป็นสถานการณ์ที่กำหนดให้ผู้เรียน ใช้ทักษะพื้นฐานและความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องกฎเกณฑ์ในการแก้ไขสถานการณ์ ชุดความรู้ที่ได้รับจากฉากสถานการณ์ประเภทนี้ เป็นความรู้แบบตายตัว สามารถระบุพฤติกรรมที่ต้องการได้ ชัดเจน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และจดจำได้ง่าย
2. ฉากสถานการณ์ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน
เป็นฉากสถานการณ์ที่ทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ว่าในความเป็นจริงต้องเผชิญปัญหาที่คลุมเครือ ไม่แน่นอน และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จะเป็นการเรียนแบบปลายเปิดที่ช่วยให้ผู้เรียนบูรณาการความรู้กับทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติจริง เน้นการคิดวิเคราะห์ และต้องแสวงหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม และนำความรู้นั้นไปตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
3. ฉากสถานการณ์ที่ใช้ประเด็นเป็นฐาน
เป็นฉากสถานการณ์ที่ผู้เรียน ต้องค้นคว้าประเด็นที่ส่งผลต่อการทำงานของตนเอง บูรณาการทักษะหลายด้าน และเรียนรู้การมองประเด็นจากมุมมองของบทบาทที่แตกต่างกัน ผู้เรียนยังได้ฝึกทักษะการคิดขั้นสูงเพื่อรวบรวม คัดเลือกข้อมูล และตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่จริง
4. ฉากสถานการณ์ที่ใช้การคาดการณ์เป็นฐาน
เป็นฉากสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคำนึงถึงปัจจัยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ฉากสถานการณ์นี้ส่งเสริมผู้เรียนรู้จักสมมติฐาน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนความคิดของตนเอง และนำเสนอความคิดตนเองเพื่อให้คนอื่นประเมิน
จะเห็นได้ว่าฉากสถานการณ์ที่ 3 และ 4 นั้น มีความซับซ้อนมากกว่าสองประเภทแรก ผู้สอนสามารถเลือกใช้ฉากสถานการณ์เพียงประเภทเดียวหรือจะผสมผสานก็ได้นะคะ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และลักษณะของผู้เรียนค่ะ
ฉากสถานการณ์นั้นต้องดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจ น่าตื่นเต้น และมีส่วนร่วมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลหรือการหาคำตอบค่ะ และคำตอบนั้นก็ไม่มีตายตัวล่วงหน้า ผู้เรียนสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ฉากทัศน์นั้นประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ แจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้และตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียน และเมื่อเรียนจบแล้ว ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการเรียนในครั้งนี้
2. จัดกลุ่มผู้เรียน ในการจัดกลุ่มครูผู้สอนต้องคละความสามารถของผู้เรียน ผู้เรียนทุกคนต้องมีบทบาทและแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้
3. ออกแบบฉากสถานการณ์ ผู้สอนต้องคำนึงถึงความสมจริง แทรกจุดวิกฤตสูงสุด เพื่อให้ผู้เรียนหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ส่งผลให้มีการมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น
4. เรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อผู้สอนมีความมั่นใจแล้วว่าผู้เรียนมีความเข้าใจเนื้อหาอย่างเพียงพอ ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก สังเกตการณ์และให้คำแนะนำ ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น
Starfish Labz ขอยกตัวอย่าง การนำ Scenario Based Learning ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ดังนี้ค่ะ
ตัวอย่างที่ 1
สร้างบทสนทนา เพื่อสร้างความสนใจให้ผู้เรียน
เช่น ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง คำศัพท์เกี่ยวกับการบอกทิศทาง แล้วให้นักเรียนจำลองเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาถามทางหรือถามให้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวกับนักเรียน
ตัวอย่างที่ 2
การฝึกซ้อมที่เกี่ยวกับสถานการณ์จริง
แต่ละโรงเรียนมีการฝึกซ้อมเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงๆ เช่น การจำลองเรื่องความปลอดภัยต่างๆ สถานการณ์แผ่นดินไหวที่โรงเรียน/ไฟไหม้ที่โรงเรียน/การสัมภาษณ์งาน/การเจอลูกค้า /การเจอคนไข้ เป็นต้น
ตัวอย่างที่ 3
ใช้สถานการณ์จริงช่วยกระตุ้นความร่วมมือของผู้เรียน
เช่น ครูตั้งคำถาม : ถ้านักเรียนเจอคนแปลกหน้าที่ประตูโรงเรียนแล้วเข้ามาถามทาง และชวนนักเรียนไปด้วย นักเรียนจะทำอย่างไร
ตัวอย่างที่ 4
ระบุทักษะที่ต้องการจะพัฒนานักเรียน แล้วสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดทักษะนั้น
เช่น ครูอยากให้นักเรียนมีทักษะด้านการสื่อสาร ครูจึงให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นนักข่าว แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเป็นสำนักข่าวแต่ละสำนัก ที่จะต้องนำเสนอข่าว/เนื้อหาอย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างที่ 5
ใช้สถานการณ์เป็นฐานเพื่อให้ความรู้เฉพาะทางได้
เช่น ครูจำลองห้องเรียนเป็นโรงแรม แล้วให้นักเรียนแสดงเป็นพนักงานของโรงแรม และแสดงเป็นลูกค้า เพื่อฝึกคำศัพท์หรือเทคนิคเกี่ยวกับการโรงแรม ก็จะทำให้นักเรียนได้คำศัพท์ที่ใช้ได้เหมาะสมกับผู้คนและสถานที่นั้นๆ
ครูจำลองห้องเรียนเป็นโรงพยาบาล แล้วให้นักเรียนแสดงเป็นคุณหมอ พยาบาล และคนไข้ เพื่อฝึกคำศัพท์ด้านการแพทย์ ก็จะทำให้นักเรียนรู้คำศัพท์ด้านการแพทย์เช่นเดียวกันค่ะ
ดังนั้น การนำ Scenario Based Learning ไปใช้ จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กับเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงค่ะ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เรียนสามารถฝึกฝนจากสถานการณ์จำลอง สามารถพัฒนาทักษะทางสังคม เพราะได้แสดงบทบาทที่หลากหลาย และนอกจากนี้การเรียนรู้แบบนี้ยังช่วยสร้างความผูกพัน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน และที่สำคัญทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานค่ะ
แหล่งอ้างอิง (Sources):
5 Effective And Impactful Examples Of Scenario-Based Learning | eLearning Industry
Scenario-Based Learning & the Virtual Classroom | learning solutions
บทความใกล้เคียง
บทบาทของนักการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมในโรงเรียนยุคโควิด-19
กิจกรรม TSQP Kick Off กลุ่มที่ 2 การนำไปใช้กับผู้เรียน (ครูผู้สอน)
กิจกรรม TSQP Kick Off กลุ่มที่ 1 การเก็บหลักฐานและจัดการข้อมูล (ครูวิชาการ)
Related Courses
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...