บทบาทของนักการศึกษากับการพัฒนานวัตกรรมในโรงเรียนยุคโควิด-19
หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2019 – 2021 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจตลอดจนระบบการศึกษา ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนแต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการศึกษาไทยก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถเปิดเรียนได้หรือไม่ ในบทบาทของนักการศึกษา ได้เล็งเห็นว่านวัตกรรมจะก้าวเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยในครั้งนี้จะเป็นแบ่งปันความคิด มุมมองของบุคลากรทางการศึกษาที่มีส่วนขับเคลื่อนระบบการศึกษาในหลายระดับที่มีต่อการพัฒนานวัตกรรมในโรงเรียนยุคโควิด-19
ผลกระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเมื่อต้องหยุดเรียนนานๆ และการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
นางมุกดา คำวินิจ ผอ.โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ - วิธีการจัดการในสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนได้ทำการวิเคราะห์ “ความรู้ที่ถดถอยของนักเรียน” เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะสั้นและระยะยาว โดยการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์นักเรียนทุกคน เช่น ชุดกิจกรรม Learning Box, การกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ด้วยวิธีการออนไลน์ การใช้กล่องการเรียนรู้และชุมชนครู (Real-Time Communication Channel) และการใช้รูปแบบ Community Outreach (ครูรร.บ้านปลาดาว อาสาสมัคร -ครูหรือผู้ปกครอง นักเรียนรุ่นพี่) ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนจะใช้วิธีการทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ On-hand, On-demand และ Online นอกจากนั้น โรงเรียนยังได้ดำเนินการให้นักเรียนได้พบกับนักจิตวิทยาเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในด้านความเครียด และทำการปรับลดเวลาในการเรียนการสอนแบบออนไลน์จาก 50 นาที เหลือ 40 นาที รวมไปถึงครูฝ่ายวิชาการลงพื้นที่เชิงรุก เยี่ยมบ้านนักเรียน พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองถึงปัญหาที่โรงเรียนสามารถช่วยได้ จากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ พบว่า เด็กมีความสุข สนุก และเด็กเข้าเรียนออนไลน์เกือบครบ 100%
นายชำนาญ สังข์ทอง ผอ.โรงเรียนวัดศิลมูบ อ.บางเลน จ.นครปฐม – ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความเครียด ความกังวลใจของครู นักเรียน และผู้ปกครองอย่างมาก โดยครูจะพบปัญหาด้านความรู้ ทักษะ การผลิตสื่อสำหรับการจัดการเรียนการสอน จึงดำเนินการประสานและได้รับความช่วยเหลือจากเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 ในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้โรงเรียนสามารถโหลดใบงาน และวิดีทัศน์ในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนได้ ด้านนักเรียนจะพบปัญหาคือไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ และผู้ปกครองจะพบปัญหาเรื่องเวลาในการดูแลบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ โรงเรียนได้นำ Learning Box หรือ ชุดกล่องความรู้ ให้เด็กใช้ในการเรียนรู้ที่บ้าน แต่สำหรับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีความรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ จึงแนะนำให้ใช้วัสดุอุปกรณ์หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาใช้ เช่น การทำอาหารที่บ้าน การปลูกพืชผักสวนครัว เป็นต้น
ความรู้ ทักษะ สมรรถนะสำหรับครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
ศน.เกริน ช้อยเครือ ศน.สพป.นครปฐม – ในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ครูจะต้องมีการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน จากบทบาทของครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ ความสามารถ ค้นคว้าหาความรู้ในยุคดิจิตอลได้อย่างดีบนพื้นฐานศักยภาพของนักเรียน อีกทั้งครูจะต้องเป็นไกด์หรือโค้ชในการชี้แนะแนวทางที่ควรจะเป็น กระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนผลในด้านการเรียนรู้ เพื่อเป็นการประเมินความเข้าใจของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียน และการที่ครูเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ ร่วมศึกษา (Co-learner) ครูจะต้องกล้าที่จะศึกษาเรื่องใหม่ที่ตนไม่ถนัด
ผลลัพธ์ที่คาดหวังสำหรับโครงการ TSQP
ดร.สุวิทย์ มุกดาภิรมย์ ผอ.ศพป.ลำพูน เขต 1 - ในการดำเนินงานจะต้องมีความเข้าใจ ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนเพื่อสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดระบบ โดยเฉพาะผู้บริหารเขตฯ ศึกษานิเทศน์ที่ร่วมการนิเทศติดตาม สร้างความเข้าใจ ร่วมมือร่วมใจในการดำเนินการ ซึ่งทางโรงเรียนสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีจากการสนับสนุน ส่งเสริมจากทางมูลนิธิฯ ทั้งนี้ สนง.เขตฯ ได้มีเป้าหมายในการที่จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงตามนโยบาย 9 จุดเน้น ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงกับแนวทางที่มูลนิธิต้องการที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ เรื่องที่ 2 การที่จะทำให้ครูเกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เข้าใจเรื่องของหลักสูตรและผู้เรียน สามารถนำไปประยุกต์โดยเฉพาะทักษะชีวิตให้เกิดกับผู้เรียนได้ เรื่องที่ 3 การพัฒนาทางด้านวิชาชีพ ทักษะชีวิตอย่างเข้าใจและปฏิบัติได้ของผู้เรียน
แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในโรงเรียน
ดร.วนิขช์ตา โชติวิศิษฐ์กุล หน.กลุ่มงานพัฒนาระบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ศธจ.ชม. - นวัตกรรมการศึกษา คือ การสร้างหรือการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม สำหรับการพัฒนาต่อยอด คือการเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ที่มีความใหม่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเพิ่มมูลค่าให้สิ่งต่างๆ ซึ่งแนวคิดพื้นฐานที่ส่งผลต่อนวัตกรรมการศึกษา จำแนกได้ 4 ประการ คือ ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) ความพร้อม (Readiness) การใช้เวลาเพื่อการศึกษา การขยายตัวทางวิชาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนกับการพัฒนานวัตกรรมในช่วงโควิด-19 คือ ห้องเรียนในอนาคตที่หลากหลาย เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด
สำหรับกระบวนการนวัตกรรม ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถดำรงอยู่และเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งกระบวนการประกอบด้วยส่วนที่สำคัญหลายประการ อาทิเช่น
1) การค้นหา (Searching) เป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อวิเคราะห์ตนเอง หาอัตลักษณ์ จุดแข็ง จุดอ่อนทั้งโอกาสและอุปสรรค สำหรับการนำไปสู่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
2) การเลือกสรร (Selecting) เป็นการตัดสินใจเลือกสิ่งที่สำรวจพบเหล่านั้น เพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร
3) การนำไปปฏิบัติ (Implementing) เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีศักยภาพ ไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นออกเผยแพร่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ซึ่งกระบวนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม คือ การนำเอากระบวนการ PLC หรือ Lesson Study รวมทั้งแนวคิดเชิงออกแบบมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรม โดยการกำหนดให้ครูในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรม และออกแบบการสร้างทดลองใช้นวัตกรรมให้สอดรับกับการทำงานปกติของครูผู้สอน
สรุปได้ว่า ความเข้าใจในการสร้างนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุผลให้เราต้องมีการพัฒนานวัตกรรม จากการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งนี้ในการพัฒนานวัตกรรมสามารถทำให้เราอยู่รอดได้ มีวิธีการ แนวทางในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นลำดับขั้นตอน นับได้ว่า สถานการณ์ในตอนนี้ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน แต่อย่างน้อยภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ถือได้ว่าเป็นตัวเร่ง หรือเป็นกรอบของการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ พัฒนาปรับตัวด้วย
บทความใกล้เคียง
การศึกษาหลังยุคโรคระบาดจะเป็นอย่างไร? 5 แนวโน้มเทคโนโลยีการศึกษาที่สถาบันต้องจับตาในปี 2023
โควิด-19 กับการถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน
ภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ CEO Starfish Education
Related Courses
Micro Learning การเรียนรู้แบบพอดีคำ
ฉีกกฏการเรียนการสอนแบบเดิมด้วยเทรนด์การเรียนรู้แนวใหม่แบบสั้น ง่าย ได้ความรู้ กับเทคนิคการสอนแบบพอดีคำ เพื่อลดภาระและ ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...