8 วิธีการ ปรับพฤติกรรมการพูดโกหกของนักเรียน
เชื่อว่า คุณครูหลายๆ ท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างแน่นอน แล้วคุณครูมีวิธีการปรับพฤติกรรมนักเรียนอย่างไรบ้างคะ ?
หรือถ้ายังไม่มี วันนี้ Starfish พามาแลกเปลี่ยน 8 วิธีการปรับพฤติกรรมการพูดโกหกของนักเรียนกัน ค่ะ
1.ให้คุณค่ากับ ‘ความซื่อสัตย์’ ในห้องเรียน
เรื่องของความซื่อสัตย์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะสอนกันได้เพียงแค่เขียนคำเหล่านี้ติดอยู่บนผนังห้อง แต่ในช่วงเริ่มต้นเทอมใหม่ คุณครูควรให้นักเรียนช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า ‘ความซื่อสัตย์ คืออะไร’ และ ‘เพราะอะไร ความซื่อสัตย์จึงสำคัญ’ และมาร่วมออกแบบกติกาห้องเรียนร่วมกัน
2.ทำให้ ‘การพูดความจริง’ ของเด็กในห้องเป็นเรื่องน่าชื่นชม
หลังจากที่ ‘ความซื่อสัตย์และการพูดความจริง’ กลายเป็นความคาดหวังและกติการ่วมกันในห้องเรียนแล้ว และถ้าเมื่อใดที่มีนักเรียนซื่อสัตย์ หรือพูดความจริงออกมา ขอให้คุณครูหยิบ ‘ช่วงเวลานี้’ มาเป็นบทเรียนให้นักเรียนคนอื่นได้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อให้รู้ว่าการพูดความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญ
3.เป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์
เมื่อความซื่อสัตย์เป็นคุณค่าร่วมในห้องเรียนแล้ว คุณครูจะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างแก่นักเรียนด้วยเช่นกัน งานวิจัยค้นพบว่า เมื่อเด็กๆ ได้ยิน หรือได้เห็นผู้ใหญ่รอบตัวเขามีความซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง ก็จะทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน
4.อย่านิ่งเฉยต่อนักเรียนที่พูดโกหก
อาจจะมีบางครั้งที่คุณครูรู้สึกเหนื่อยจากงานสอนต่างๆ และอยากจะนิ่งเฉยต่อนักเรียนที่พูดโกหก อย่าทำแบบนั้น เพราะ Dr.KEN Shore’s Education World ได้บอกว่า หากคุณครูนิ่งเฉยกับนักเรียนที่พูดโกหก อาจจะส่งผลทำให้นักเรียนคนนั้นคิดว่า เขาสามารถโกหกได้ และต่อไปในอนาคต เขาจะโกหกในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นไปอีก อีกไปกว่านั้น การโกหก จะกลายเป็น ‘ทักษะ’ ที่จะส่งผลเสียให้ตัวนักเรียนเมื่อต้องเข้าสังคม
5.พยายามใจเย็น เมื่อรู้ว่านักเรียนพูดโกหก
การแสดงท่าทีโกรธ อาจจะไม่ได้ช่วยปรับพฤตกิรรมของนักเรียนได้ แต่คุณครูสามารถพูดความรู้สึกกับนักเรียนได้ว่า ‘ครูรู้สึกผิดหวังนะ ในพฤติกรรม…’ เพราะการแสดงท่าทีว่าโกรธ อาจจะทำให้นักเรียนมีทักษะการโกหกที่สูงขึ้น เพราะนักเรียนบางคนอาจจะมีเป้าหมายที่จะต้องการให้คุณครูรู้สึกโมโห
6.หาเหตุผลว่าทำไมนักเรียนถึงโกหก
ทุกการโกหกมีเหตุผลซ่อนอยู่ มาดูตัวอย่างเหตุผลที่เป็นสาเหตุให้นักเรียนโกหก
- กลัวถูกลงโทษ ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรนั่งคุยกับนักเรียนว่า มีหนทางอื่นๆ อีกไหมที่ไม่ต้องโกหก
- อยากได้รางวัล ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรบอกกับนักเรียนว่า การโกหก เพื่อที่จะได้รางวัลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
- อยากรู้สึกดีกับตัวเอง ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรพยายามชื่นชมข้อดีของนักเรียน หรือช่วงเวลาที่นักเรียนคนนี้ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนอย่างถูกวิธี
- โกหกเพราะต้องการปกป้องคนอื่น ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรชวนนักเรียนพูดถึงกติกาในห้องเรียนที่ให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์ การช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเลือกวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องด้วย
- ต้องการแกล้งให้คนอื่นรู้สึกเจ็บ ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรคุยอย่างจริงจังว่าการพูดโกหกหรือใส่ร้ายผู้อื่น เป็นเรื่องที่รุนแรงอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด
- ต้องการการยอมรับ ต้องการเป็นที่สนใจ ถ้าเป็นเหตุผลนี้ คุณครูควรบอกว่า การโกหกเพื่อที่จะเป็นที่ยอมรับ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคุณครูอาจจะต้องหาทางสนับสนุนหากลุ่มเพื่อนที่เหมาะสมให้กับนักเรียนคนนั้น หรือพยายามชื่นชมข้อดี สร้างกำลังใจเชิงบวกให้กับนักเรียนอย่างเสมอ
7.มองหาทางแก้ไข มากกว่าการลงโทษ
งานวิจัยบอกว่า การที่คุณครูพยายามสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่สนับสนุนคนที่พูดความจริง หรือคนที่มีพฤติกรรมซื่อสัตย์ จะช่วยเปลี่ยนแปลงนักเรียนที่มีพฤติกรรมพูดโกหกได้ ขอแค่คุณครูเข้าไปรับรู้ความกลัวของนักเรียนที่พูดโกหก แล้วพยายามสร้างบรรยากาศที่พูดคุยกันได้ ก็จะช่วยให้นักเรียนปรับพฤติกรรมได้มากขึ้น
8.ขอความช่วยเหลือ หากการโกหกยังอยู่
คุณครูจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ความรุนแรงของการโกหกนั้นว่าร้ายแรงเพียงใด หากร้ายแรงมาก คุณครูอาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญ หรือขอความช่วยเพิ่มเติมจากผู้ปกครองของนักเรียน ให้มารับรู้และร่วมแก้ไขด้วยกัน
เพราะความซื่อสัตย์เป็นเรื่องที่สำคัญ และจะติดตัวนักเรียนต่อไปในเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคุณครูก็คือ สร้างความเข้าใจให้กับนักเรียน บอกกับนักเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ห้องเรียนของเราให้คุณค่า และคุณครูควรเป็นตัวอย่างความซื่อสัตย์ให้กับนักเรียน
แปลและอ้างอิงจาก
Debra Cohen. (2022). Ethics in Action Series: What Teachers Can Do When Their Students Are Lying. bit.ly/3RbwSEJ
บทความใกล้เคียง
Related Courses
เจาะลึกสอบ TCAS
การสอบ TCAS ที่ควรรู้ในแต่ละปีเริ่มเตรียมตัวสอบกันด้วยประเด็นอะไร และสอบอะไร ลองมาดูกันว่ามีประเด็นไหนเกี่ยวกับการสอบ ...
How to สอบอย่างไรให้เด็กสนุก ไม่มีลืม
การทดสอบเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ว่าเรามีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากน้อยแค่ไหน และการสอบนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่ ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...
การประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง
การประเมินตามสภาพจริงเป็นการประเมินการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเน้นประเมินทักษะการคิด ความสามาร ...