4 เทคนิคครู ปรับการสอนตาม Learning Style ที่แตกต่างของนักเรียน
เด็กแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style) ที่ต่างกัน เพียงคุณครูลองสังเกตการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ในห้องเรียนของเรา ดูว่าเด็กคนไหนเรียนรู้ได้เร็ว แค่ชี้แนะเพียงนิดเดียวก็เข้าใจและสามารถไปต่อยอดเองได้ แต่บางคนกลับเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อน (Slow Learner) เพียงแค่ครูค้นหาให้พบว่าเด็กๆ ของเราเรียนรู้ได้ดีในรูปแบบไหน เราก็จะจัดการเรียนรู้ได้ตรงตามความสามารถของเด็กๆ ได้ค่ะ
ดังนั้นครูจะจัดการเรียนการสอนวิธีการเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ และครูจึงต้องมีเทคนิคการสอนหลาย ๆ แบบเพื่อจูงใจเด็ก ๆ ในห้องเรียน ให้เด็กของเราเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เรามาดูเทคนิคครู 4 ด้าน ที่สามารถช่วยในการจัดการเรียนการสอนของครู มีดังนี้
1. เนื้อหาในการส่งเสริมการเรียนรู้
ครูต้องกลับมาดูเนื้อหาที่สอนว่าต้องการให้เด็กรู้อะไรในชั่วโมงนั้นๆ เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอาจตัดออกไปก่อน เช่น เรียนประวัติศาสตร์ ที่เด็กของเราเรียนรู้ช้าอาจเป็นเพราะอ่านหนังสือไม่คล่อง วิธีที่ครูสามารถช่วยได้คือ ปรับคำศัพท์ที่ยากเกินไปให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือเด็กบางคนที่มีรูปแบบการเรียนรู้ด้านเดียว เช่น เด็กที่เรียนรู้ด้วยการมองเห็น (Visual learner) จะจดจำได้ดีกว่าเมื่อเห็นเป็นภาพ กรณีนี้ครูสามารถใช้ผังกราฟิก (Graphic organizer) แผนผังความคิด (Mind map) ลำดับช่วงเวลา (Timeline) และแผนภาพเวนน์ ( Venn diagram) มาช่วยในการจัดลำดับความคิด ลำดับช่วงเวลาได้ เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยจัดระเบียบความคิด ซึ่งไม่เพียงใช้กับการปรับเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้กับการปรับกระบวนการเรียนรู้ และผลงานของเด็กได้อีกด้วย
2. กระบวนการจัดการเรียนรู้
ในบางวิชา เช่น ประวัติศาสตร์ ครูอาจเปลี่ยนรูปแบบการสอนมาให้เด็กแสดงบทบาทสมมติ (Role play) หรือใช้หนัง วิดีโอ มาเป็นสื่อการสอนเแทนการบรรยาย หรือในวิชาภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก อาจลองใช้เทคนิคเชื่อมโยงตัวอักษรเข้ากับเสียงและท่าทาง เช่น A- Ant, B-Bat และ C-Cat ถ้าหากว่าเด็กติดขัดตรงอักษรตัวไหน ให้ครูช่วยไกด์ เด็กจะจดจำเสียงและท่าทางที่เชื่อมโยงกับตัวอักษรเหล่านั้นได้ เป็นการเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้ หรือในบางวิชา ครูอาจเตรียมไฟล์เสียง ส่งให้เด็กฟังล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนก็ได้ เด็กจะเข้าใจได้ดีขึ้น ถึงแม้จะยังอ่านในห้องเรียนไม่ทันเพื่อนก็ตาม
3. ผลงานที่หลากหลายของเด็ก
ถ้าวัตถุประสงค์ของชิ้นงานคือ การแสดงถึงองค์ความรู้ที่เด็กได้รับ จึงอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องส่งชิ้นงานในรูปแบบเดียวกัน เด็กบางคนขี้อายแม้ว่าจะมีความรู้มากมาย แต่เมื่อใดที่ต้องออกมาพูดหน้าชั้น ก็อาจจะกังวลกับสิ่งที่ต้องพูด และสื่อสารออกมาได้ไม่ดีพอ จนบางครั้งทำให้ครูเข้าใจว่าเขายังไม่มีความรู้ และอาจส่งผลถึงการประเมินที่ทำให้ได้คะแนนน้อยลง ครูควรให้เด็กเลือกส่งผลงานด้วยวิธีที่ถนัดมากกว่า ให้เด็กได้ใช้ความสนใจส่วนตัวมาสร้างชิ้นงาน เช่น อัดวิดีโอตัวเอง แต่งเพลง แต่งกลอน แทนการเขียนยาวๆ เพื่อแสดงความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ
4. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
อาจจะเป็นพื้นที่จริงๆ ที่ใช้ในการเรียนรู้ พื้นที่ในเชิงกายภาพ หรืออาจจะเป็น Mood & Tone ของห้องเรียนก็ได้ เช่น
- ถ้าเรารู้ว่าเด็กสมาธิสั้น ไม่ควรให้นั่งข้างประตู หรือหน้าต่าง เพราะสิ่งแวดล้อมข้างนอกจะดึงความสนใจได้มากกว่าในชั้นเรียน
- อนุญาตให้เด็กยืนเรียนได้ เดินได้ ขยับเขยื้อนไปมาบ้าง เพราะเด็กบางคนชอบนั่งเขย่าขา เพราะตื่นเต้นหรือเบื่อ
- ลองปรับรูปแบบการจัดโต๊ะ ไม่ต้องนั่งเรียงเป็นแถวอย่างเดียว เรียงโต๊ะเป็นตัว U บ้าง ให้ครูเข้าถึงเด็กได้ทุกคน เอาโต๊ะออกบ้าง หรือจะจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม 4 คน ที่สามารถปรับเป็นฐานกิจกรรมได้ด้วย
- เพิ่มมุมสงบเล็กๆ ในห้องเรียน เด็กบางคนชอบความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่า
นอกจากครูจะเลือกปรับการสอนตามตัวอย่าง 4 ด้านนี้แล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่คุณครูสามารถนำไปพิจารณาได้ด้วย เช่น ความพร้อมที่จะเรียนรู้หรือความสนใจของเด็กที่มีความแตกต่างกัน
แม้ครูอาจจะต้องปรับการเรียนการสอนมากสักหน่อย หรือเหนื่อยหน่อยกับความหลากหลายของเด็กๆ แต่ผลลัพธ์มักคุ้มค่าเสมอ ยิ่งครูรู้จักเด็กของตัวเองมากเท่าไร ครูจะยิ่งเห็นโอกาสเล็กๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ในการปรับการเรียนการสอนของตน และผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจก็คือ ได้เห็นแววตา และการเรียนรู้ที่มีความสุขของลูกศิษย์เรา ที่สำคัญครูยังสอนเก่งขึ้นในทุกๆ คาบเรียนอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง:
8 Types of Learning Styles: How Do Students Learn Best? | BAU
Related Courses
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
Micro Learning หลักการเขียนภาษาไทย ม. 1-3
หลักการเขียนภาษาไทย ม.1-3 เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของ Micro Learning เรื่อง เขียนอย่างไรให้สื่อความง่ายและตรงประ ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...