6 เคล็ดลับช่วยครู สร้างนักเรียน กล้าแสดงออก
โดยธรรมชาติแล้ว เด็ก ๆ จะมีความกล้าแสดงออกในตัวอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่จะมีมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว และจากการที่บางครอบครัวมีการเลี้ยงดูที่บังคับและเข้มงวดเกินไป ทำให้มีเด็กจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก และเมื่อบ้านซึ่งถือว่าเป็นสถาบันเริ่มต้นของการใช้ชีวิต กลับทำให้เด็กเป็นคนไม่ชอบการแสดงออก เมื่อมาโรงเรียน ครูอาจจะใช้ระบบบังคับมากกว่าสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จึงทำให้เด็กไม่กล้าพูด หรือไม่กล้าแม้แต่จะแสดงความคิดเห็น เพราะมองว่าการอยู่เฉยๆ เป็นเรื่องที่ปลอดภัยมากกว่า 6 วิธี สร้างเด็กกล้าแสดงออก จึงเป็นอีกแนวทางที่คุณครูสามารถใช้เสริมสร้างพลังบวกด้านการกล้าแสดงออกของเด็กๆ ได้ มาดูกันเลยว่ามีวิธีอะไรกันบ้าง
1. สร้างแบบอย่างที่ดี
ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ อัลเบิร์ต แบนดูรา นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น เกิดจากการสังเกตผ่านตัวแบบ ซึ่งถ้าเป็นไปตามทฤษฎี คุณครูควรสร้างรูปแบบห้องเรียนให้เด็กๆ มีโอกาส ได้แสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ การให้เกียรติและเปิดโอกาสให้เขาได้มีช่วงเวลาเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆที่เขาพบเจอ หรือให้นำเสนองานต่างๆในรูปแบบที่เขาคิดขึ้นมาเอง วิธีการนี้จะทำให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความสามารถ และยังกลายเป็นแบบอย่างให้กับเด็กคนอื่นๆ อยากลุกขึ้นมามีบทบาทด้วยเช่นกัน
2. ไม่เร่งไม่บังคับ
บ่อยครั้งที่ครูอย่างเรามักจะให้เด็กออกมานำเสนอ หรืออภิปรายหน้าชั้นเรียนในเรื่องต่างๆ โดยการเรียกตามโต๊ะ เรียกตามเลขที่ หรือสุ่มเรียกตามอักษรชื่อ ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีนักในการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออก เพราะเด็กแต่ละคนอาจจะมีความพร้อมต่างกัน การให้เด็กออกมาพูดทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม ก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เขาไปเป็นตัวตลกของเพื่อนๆ ดังนั้นคุณครูควรให้เวลากับเด็กๆ ในการเตรียมตัว แน่นอนว่าห้องเรียนของเรามีทั้งเด็กที่กล้า และไม่กล้าแสดงออก ให้เด็กที่กล้าแสดงออกได้มีโอกาสนำเสนอก่อน แล้วค่อยวนกลับมาที่เด็กที่เราต้องการส่งเสริม น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มความกล้า ให้กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งได้ดีเลยทีเดียว
3. คำนึงถึงความชอบและความสนใจ
Learning Style ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน คุณครูควรจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาตามศักยภาพเฉพาะบุคคล การที่เราจะให้เด็กคนหนึ่งออกไปพูดกับเพื่อนหน้าชั้นเรียนในเรื่องที่เขาไม่เคยสัมผัสนั้น แทนที่จะเป็นการฝึกให้เขามีความกล้า แต่กลับกลายเป็นการบั่นทอนความกล้าและความมั่นใจของเด็กไป ในฐานะครู ก่อนที่จะให้เขาออกไปเผชิญความกล้า ก็ต้องเพิ่มความกล้าให้ก่อน นั่นก็คือ การให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยไม่ต้องกำหนดหัวข้อ จะได้ไม่เพิ่มความกดดันให้เด็ก ครูควรให้เด็กได้พูดถึงสิ่งที่ชื่นชอบ หรือถนัดที่สุด เป็นสิ่งที่เขารู้ หรือสนใจเป็นพิเศษ เน้นถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพื่อให้เค้ารู้สึกว่าได้พูดถึงสิ่งที่ใกล้ตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่มบรรยากาศในการเรียนรู้ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
4. ดูและรับฟังอย่างตั้งใจ
เมื่อเด็กคนหนึ่งกล้าที่จะออกไปทำกิจกรรม สิ่งที่ช่วยให้เขาอุ่นใจมากขึ้นก็คือ การที่มีคนสนใจในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ คุณครูควรหมั่นสบตาและพยักหน้า หรือยิ้มรับกับสิ่งที่เด็กกำลังนำเสนอ รวมถึงสอบถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องบ้างประปราย เพื่อให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังสื่อสารนั้นมีคนสนใจอยู่นั่นเอง ในช่วงท้ายอาจจะให้เพื่อนๆ ช่วยถามคำถามบ้าง ซึ่งการถาม-ตอบในลักษณะแบบนี้ จะส่งเสริมให้เด็กกล้าพูดมากขึ้น ความเขินอายจะลดน้อยลง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กมีความกล้าแสดงออกมากขึ้นในครั้งถัดๆ ไป
5. ให้กำลังใจ
การให้กำลังใจถือเป็นการเสริมแรงที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งถ้าเราต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมการกล้าแสดงออก เราก็ควรให้ความสำคัญกับการแสดงออกที่เหมาะสมเช่นกัน โดยการชมเชยในสิ่งที่เด็กได้ทำ ไม่จำเป็นว่าจะต้องชมเชยด้วยคำสรรเสริญเยินยอมากมายเสมอไป แต่การที่เรารับฟัง แล้วบอกว่าสิ่งที่เขานำเสนอออกมานั้น น่าชื่นชมและน่าสนใจ เพื่อนๆในชั้นเรียนก็มีส่วนร่วมในกิจกรรม หลังจากที่เพื่อนนำเสนองานแล้ว การปรบมือหรือชื่นชมกับสิ่งที่เพื่อนทำ ก็สามารถทำให้เด็กยิ้มได้อย่างมีความสุข คุณครูอาจจะนำผลงานเด็กไปติดเพื่อสร้างเป็นบอร์ดความรู้ ให้เด็กๆ คนอื่นได้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วย การทำเช่นนี้ เด็กอาจจะรู้สึกได้ว่าตัวเองก็ได้รับความสำคัญเช่นกัน แค่นี้ก็ถือเป็นการให้กำลังใจที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กแล้ว
6. ให้โอกาสบ่อยๆ
หลังจากที่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เด็กคนหนึ่งให้มีความกล้าในตัวเองขึ้นมาได้แล้ว การจะรักษาพฤติกรรมนี้ไว้ก็มีหลากหลายวิธีเช่นกัน คุณครูควรเน้นการสร้างกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้แสดงออก บ่อยๆ เช่น การให้ออกมานำร้องเพลง การอภิปรายหน้าชั้นเรียน หรือการแสดงละคร ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพฤติกรรมความกล้าแสดงออกของเด็ก ให้มีความคงทนมากขึ้น ช่วยลดอาการประหม่า และเพิ่มพูนความมั่นใจ ครูไม่ควรทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง หรือเด็กหลังห้องต้องได้รับการยอมรับ และผลักดันให้สามารถก้าวไปได้พร้อมๆกับเพื่อนได้
การส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออกนั้น คุณครูและผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมช่วยกันสร้างไปพร้อม ๆ กัน คุณครูทุกท่านก็สามารถนำวิธีการต่างๆ นี้ไปปรับใช้ได้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้ ดั่งคำคมที่ว่า “ ไม่มีวิธีใดที่จะสอนเด็กๆ ของเราให้กล้าแสดงออกได้ดีไปกว่าการแสดงให้เขาเห็นว่าต้องทำอย่างไร” ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูทุกๆ ท่านค่ะ
แหล่งอ้างอิง:
Big Life Journal | 5 Key Steps For Raising Assertive Kids
Related Courses
Micro Learning เครื่องมือช่วยสอนการเรียนออนไลน์
เครื่องมือช่วยครูในการเรียนออนไลน์ในคอร์สนี้ แนะนำเครื่องมือที่น่าสนใจ 3 ตัวช่วย คือ Google Earth, Line Open Chat แ ...
Micro Learning หลักการเขียนภาษาไทย ม. 1-3
หลักการเขียนภาษาไทย ม.1-3 เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของ Micro Learning เรื่อง เขียนอย่างไรให้สื่อความง่ายและตรงประ ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...