PLC Happy Hour Live Online การลดความถดถอยในการเรียนรู้
PLC Happy Hour Live Online ครั้งที่ 8 โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ต่อเนื่องในปี 2564 นวัตกรรมของโรงเรียน หัวข้อ “การลดความถดถอยในการเรียนรู้”
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ทั้งสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครองต้องมีการปรับตัวในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้การเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้ และจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ส่งผลให้นักเรียนเกิดความไม่ต่อเนื่องในด้านการเรียน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่อาจหายไป จนก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย นวัตกรรมของโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งมาปรับใช้เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดนิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของโรงเรียนถึงแนวทางในการช่วยฟื้นฟูความรู้และลดความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรม PLC Happy Hour Live Online ครั้งที่ 8 นี้ ได้มีโรงเรียนต้นเรื่อง 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย และโรงเรียนบ้านปางปอย ที่ได้แลกเปลี่ยน พูดคุยถึงนวัตกรรมของโรงเรียน ในการลดความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของเด็กได้อย่างไร
การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโควิดโมเดล “เวียงหวาย Learning Bag”
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่องและไม่เต็มที่ ประกอบกับการปิดสถานศึกษา ทำให้โรงเรียนบ้านเวียงหวายได้หาแนวทางในการช่วยให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมและใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ การอ่านออกเขียนได้ ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านทักษะการดำรงชีวิต ด้านเจตคติ สังคมและระเบียบวินัย โดยโรงเรียนได้ดำเนินการทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ผู้บริหารในการรับทราบนโยบายของต้นสังกัดและนำมาประยุกต์กับการปฏิบัติงานของโรงเรียน การ PLC ประชุมร่วมกับคณะครูถึงแนวทางและกิจกรรมที่จะช่วยลดการถดถอยทางการเรียนรู้และการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน การปรับการจัดการเรียนรู้ แผนการสอน รูปแบบการสอน การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ และการวัดประเมินผลให้มีความสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์
รวมถึงการปรับตัวทั้งนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างครอบคลุมที่สุด จึงทำให้เกิดเป็นแนวดำเนินงานของโรงเรียนในรูปแบบ
“การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโควิดโมเดล” ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมที่โรงเรียนได้จัดขึ้น เรียกว่า “เวียงหวาย Learning Bag” เป็นกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ลดความถดถอยในการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ C (Collaboration classroom Research) การใช้นวัตกรรมการวิจัยแบบร่วมมือ O (Online On-air On-hand On demand และ On-site) การจัดการสอนแบบผสมผสานหลายช่องทาง V (Visit) การเยี่ยมเยือน ให้กำลังใจ นิเทศ ติดตามจากทางโรงเรียน I (Innovation) การสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และ D (Development) การพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามหลักการในแต่ละประเด็น จะมีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงาน ด้วยหลักการของวงจรคุณภาพ (PDCA) ทำให้เกิดกิจกรรม Wiang Wai Learning Bag ในแต่ละช่วงชั้น ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะในช่วงที่นักเรียนต้องเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์ และ On-hand พบว่า การเรียนรู้ของเด็กถึงแม้ว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่หลักสูตรกำหนดในสถานการณ์ปกติ แต่ว่าเกินเป้าหมายตามที่โรงเรียนตั้งเป้าไว้ จากการประเมินผลการทดสอบความรู้พื้นฐานก่อนการเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
1 ห้องเรียน 1 นวัตกรรม “ปางปอย Learning Box”
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถสอนได้ตามปกติ โรงเรียนบ้านปางปอยจึงได้มีการสำรวจความพร้อมในการเรียนของผู้เรียน พบว่า ร้อยละ 95 ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน จึงได้มีการจัดการเรียนการสอนแบบ On-hand เต็มรูปแบบ แต่ผลสะท้อนกลับพบว่า นักเรียนมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในใบงานได้น้อย โดยเฉพาะนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ขาดการศึกษาที่ต้องเน้นการอ่านออกเขียนได้ และขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะถดถอย
ทางโรงเรียนทั้งคณะผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชน จึงดำเนินการประชุม วางแผนร่วมกันถึงแนวทางการลดความถดถอยการเรียนรู้ของผู้เรียน การปรับเปลี่ยนวิธีการสอน การปรับเนื้อหาวิชา การ PLC ของครูแต่ละช่วงชั้น การออกแบบชิ้นงาน ภาระงาน การวัดประเมินผลที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น และส่งเสริมให้ครูเยี่ยมบ้านนักเรียนในโครงการ “คลินิกเยี่ยมบ้าน” โดยครูประจำชั้นทุกวันอังคาร-พุธ ทั้งนี้ โรงเรียนได้สร้าง “ปางปอย Learning Box” โดยได้แนวคิดจากโรงเรียนบ้านแม่คะ ซึ่งเป็นสื่อเคลื่อนที่ตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงชั้น เพื่อสร้างความพร้อมและให้นักเรียนมีความสุขก่อนการเรียนการสอนในรายวิชาปกติ สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการใช้สื่อ พบว่า นักเรียนมีการฟื้นฟูในระดับที่ดีขึ้น และสื่อต่างๆ ที่โรงเรียนใช้ ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขในการจัดกิจกรรม และคาดว่าจะมีการใช้รูปแบบกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษาหน้าต่อไป
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 โรงเรียนได้มีการวิเคราะห์บริบทโรงเรียน และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่มีในชุมชน
การรับฟังความคิดเห็นจากส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงสิ่งที่ควรพัฒนาและฟื้นฟู ทำให้ได้นวัตกรรมลดความถดถอยในการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์กับตัวผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ สามารถรับชม รับฟังเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1224544875041884
ผอ.วราลักษณ์ อุดมทรัพย์ ผอ.รร.บ้านเวียงหวาย สพป.ชม.เขต 3
ครูมัทนา รุ่งแจ้ง
ครูวีรชน คล้ำจีน รอง ผอ.รร.บ้านปางปอย สพป.ชม.เขต 3
ครูเปรมสุดา นันโท
Related Courses
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
กล่องการเรียนรู้ Learning Box
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...