Active Teacher ตอน Learning Box ตัวช่วยพัฒนาสมรรถนะเด็ก
ครูเจี๊ยบ (นางสาวศิริประภา ขำปาน) สอนวิชาภาษาไทย ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 – 6
โรงเรียนบ้านห้วยหินดำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรีเขต 3
ครูเจี๊ยบเล่าว่าบริบทของโรงเรียนบ้านห้วยหินดำ เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดทำการเรียนการสอนในระดับอนุบาล 2 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 74 คน เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยู่ห่างจากตัวอำเภอด่านช้างประมาณ 80 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรีเขต 3 ประมาณ 130 กิโลเมตร นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนบ้านห้วยหินดำเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจะใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องออกไปรับจ้างหรือทำการเกษตร จึงไม่มีเวลาที่จะช่วยสอนหนังสือให้กับบุตรหลานได้ ภาระการจัดการเรียนการสอนจึงตกอยู่ที่ครูและโรงเรียนเท่านั้น
สำหรับจุดเริ่มต้นของการมาเป็นครูนั้น ครูเจี๊ยบได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครูคืออาชีพในฝันที่อยากทำมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะที่บ้านของครูเจี๊ยบมีอาชีพทำนา ตอนเป็นเด็กต้องไปนากับพ่อและแม่อยู่เสมอ จึงมีความรู้สึกว่าอาชีพทำนาเหนื่อยไม่อยากเป็นชาวนาเหมือนพ่อกับแม่ และตอนเย็นหลังเลิกเรียนจะมีน้องๆ แถวบ้านมาหาที่บ้าน เพื่อให้ช่วยสอนการบ้าน คนในระแวกบ้านก็เลยเรียก “ครูเจี๊ยบ” มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ครูเจี๊ยบยังได้เล่าต่ออีกว่า หลังจากเรียนจบก็ยังไม่ได้สอบบรรจุทันที แต่ได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ พอทำงานได้สักพักก็อยากกลับไปอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว และกลับมาทำตามความฝันในวัยเด็กของตัวเองที่อยากเป็นครูอีกครั้ง โดยเริ่มจากการเป็นครูโรงเรียนเอกชนใกล้บ้านก่อน แล้วจึงเข้าสอบบรรจุรับราชการ โดยได้มาบรรจุที่โรงเรียนบ้านห้วยหินดำ ตอนแรกจะไม่มาบรรจุแล้วเพราะโรงเรียนอยู่ไกลมาก ไม่อยากออกจากบ้านอีก พ่อได้พูดกับครูเจี๊ยบสั้น ๆ ว่า “ความฝันคืออะไร ในเมื่อได้ไขว่คว้าตามหาแล้ว พอได้มาก็จะทิ้งมันไป ในเมื่อวันนี้เรามีโอกาสได้ทำตามความฝัน ทำไมถึงจะปล่อยทิ้งไปง่าย ๆ มีคนอีกมากมายที่เขาอยากได้โอกาสแบบเรา พ่อเป็นแค่ชาวนาจน ๆ คนหนึ่ง ที่อยากเห็นลูกพ่อเป็นข้าราชการ” คำพูดของพ่อวันนั้นทำให้เรามีวันนี้
สำหรับความท้าทายในอาชีพครูนั้น ครูเจี๊ยบเล่าว่า ตลอดระยะเวลาในการเป็นครู 13 ปี การเอาชนะความไม่รู้ของเด็ก ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเล็กน้อยก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย การได้มาทำตามความฝันและเป็นอาชีพที่ตนเองรัก ถึงแม้จะเหนื่อยบ้าง แต่เมื่อได้มองหน้าเด็ก ๆ ที่น่ารักแล้ว ทำให้ครูเจี๊ยบมีกำลังใจ และพร้อมเคียงข้างพัฒนาเด็ก ๆ เพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ครูเจี๊ยบยังเล่าให้ผู้เขียนได้ฟังอีกว่า สำหรับ Moment ที่บ่งบอกถึงความสุขในการมาเป็นครูนั้น แน่นอนว่าการปั้นดินให้เป็นดาว ถือเป็นการค้นหาจุดเด่นของเด็กแต่ละคน ให้เด็กๆ นำสิ่งนั้นออกมาใช้ในทางที่ดี แล้วส่งเสริมพัฒนาให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเองว่าถึงแม้จะไม่เก่งแต่ก็ประสบความสำเร็จได้ นักเรียนมีความสุข ครูก็มีความสุขเช่นกัน
สำหรับคาบเรียนที่ดีที่สุดนั้น ครูเจี๊ยบมองว่า การจัดการศึกษาที่ต้องการให้เด็กเกิดทักษะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ อ่านออกเขียนได้ มีทักษะการคิด สามารถวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน รู้จักการแก้ปัญหา กล้าคิด กล้าทำ เมื่อนักเรียนมีความสุขกับการเรียน เข้าใจสิ่งที่เราสอน สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างสนุก เรียนแล้วเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวันของเด็กๆ นั่นถือว่าเป็นคาบเรียนที่ดีที่สุดสำหรับครูเจี๊ยบแล้ว
ครูเจี๊ยบได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อทางโรงเรียนได้รับกล่อง Learning Box มา ก็ยังไม่รู้ถึงวิธีการใช้เท่าที่ควร แต่มีโค้ชเข้ามาให้คำแนะนำ จึงทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยสามารถบูรณการในการสอนได้ทุกวิชา แต่ครูเจี๊ยบได้นำมาบูรณาการหลักๆ อยู่ 3 วิชา คือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และการงานอาชีพ เพราะเป็นวิชาที่ครูสอนเองด้วย จึงทำให้ค่อนข้างง่ายในการนำมาบูรณาการ ในวิชาภาษาไทยได้นำมาทำบัตรคำ แถบประโยคเพื่อการสื่อสารและเกมต่าง ๆ ส่วนในวิชาคณิตศาสตร์นำมาทำแผนภูมิรูปภาพ การนับจำนวน และวิชาการงานอาชีพให้นักเรียนประดิษฐ์ของเล่นของใช้ที่ตนเองชอบ
สำหรับการนำกล่อง Learning Box ไปใช้กับเด็กนั้น เด็ก ๆ มีความชื่นชอบและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะถือว่าได้เรียนรู้อะไรที่แปลกใหม่ และมีความน่าสนใจ ถือเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง รู้จักประยุกต์ใช้ของต่าง ๆ ร่วมกัน การใช้อุปกรณ์ ต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างเด็กยังไม่เคยได้ลองใช้มาก่อน พอเห็นก็สงสัยว่าคืออะไร เอาไว้ทำอะไร ซึ่งครูเจี๊ยบก็คอยให้คำแนะนำในการใช้และดูแลอย่างใกล้ชิด อีกอย่างคือ ครูเจี๊ยบก็ได้นำกล่อง Learning Box ไปใช้ในการสอนซ่อมเสริมและบูรณาการร่วมกับวิชาต่าง ๆ ในเวลาเรียนปกติด้วย และที่สำคัญเลยคือ ครูได้เห็นเด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีทักษะการคิดที่เป็นขั้นตอน มีการวางแผนการทำงาน รู้จักการแก้ปัญหา และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ครูเจี๊ยบยังบอกอีกว่า นอกจากครูเจี๊ยบได้นำกล่อง Learning Box มาปรับใช้เองแล้ว เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ทุกชั้นเรียนก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน จึงได้มีการ PLC กับครูในโรงเรียน และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งอาจจะมีการต่อยอดกล่อง Learning Box ภายในโรงเรียน แต่อาจจะเป็นการปรับให้เหมาะกับบริบทและวัฒนาธรรมของโรงเรียนบ้านห้วยหินดำเอง
จากสิ่งที่ครูเจี๊ยบได้เล่ามาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่ครู ซึ่งครูเจี๊ยบบอกเสมอว่า การได้ทำตามความฝัน ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ที่ได้สร้างความรู้ สร้างรอยยิ้มให้กับเด็ก ๆ ทุกคน ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เมื่อเห็นเด็ก ๆ มีความสุขที่ได้มาโรงเรียน ครูเจี๊ยบก็มีความสุขในการสอนเช่นกัน
Related Courses
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
กล่องการเรียนรู้ Learning Box
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...