3 ความในใจของวัยรุ่น LGBTQ+ ที่อยากบอกพ่อแม่ในวันที่ยังสับสน
เนื่องในเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ หรือ ‘Pride Month’
เกิดการรณรงค์เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก็เพื่อผลักดัน พรบ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบจากภาครัฐให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ก็จะถือว่าประเทศเราเป็นประเทศที่เปิดใจยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างแท้จริง
ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง หากมีบุตรหลานรวบรวมความกล้า เดินเข้ามาบอกพ่อแม่อย่างเราว่า พวกเขาไม่ได้มีเพศสภาพตามเพศกำเนิด และสิ่งที่พวกเขาต้องการคือกำลังใจ และแรงสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อจะก้าวข้ามอุปสรรคของการเป็นวัยรุ่น LGBTQ+ ที่ยังคงยากลำบากกว่าเพศชายหญิง พ่อแม่จะว่าอย่างไรคะ?
บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง เปิดใจมองเห็นความกังวลของลูกวัยรุ่น LGBTQ+ เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านความสับสนสู่ตัวตนที่สง่างาม
เข้าใจความหลากหลายทางเพศ
ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBTQ+ เป็นผู้คนที่มี ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ หรือ ‘รสนิยมทางเพศ’ แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่เดิมนั้นสังคมมักมองว่าคนกลุ่มนี้มีความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งความคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ถูกครอบงำจากค่านิยม กรอบทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ไปจนถึงความเชื่อทางศาสนา ที่ทำให้ชาว LGBTQ+ ในอดีตย้อนไปเป็น 100 ปีก่อนหน้านี้มักถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างกับคนอื่นๆ ทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งวิวัฒนาการทางการแพทย์รุดหน้า มีงานวิจัยมากมาย ศึกษาพบว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่นับเป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่งเป็นหรือไม่เป็น LGBTQ+ นั้นเกิดจากพวกเขามีองค์ประกอบของโครโมโซม หรือ ‘DNA’ ที่ต่างไปจากเพศชายและหญิงและการผลิตฮอร์โมนที่ส่งผ่านสารสื่อประสาทไปยังสมองก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่เปลี่ยนไป ไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่บกพร่อง หรืออิทธิพลของสังคมและสภาวะแวดล้อม
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถึงปล่อยให้เด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตา ก็ไม่ได้ดลใจให้เขากลายเป็นเด็กผู้หญิง หรือให้เด็กผู้หญิงเล่นหุ่นยนต์ก็ไม่ได้ทำให้สาวน้อยอยากเป็นผู้ชายแต่อย่างใด
ความกังวลเมื่อตัวตนถูกเปิดเผย
‘Coming Out’ คือคำที่มักใช้เรียกเวลาที่พวกเขาพร้อมจะเปิดเผยตัวตนว่าเป็น LGBTQ+ กับบุคคลใกล้ชิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น ที่เริ่มค้นพบตัวเอง เลยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นช่วงเริ่มทำงาน
เมื่อลูกกล้าบอกสมาชิกในครอบครัว นั่นหมายความว่า พวกเขาสนิทใจและไว้วางใจในตัวเราเป็นอย่างมาก เชื่อมั่นว่าเราจะยอมรับที่เขาเป็น LGBTQ+ ได้
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีความกังวลสูงในเรื่องตัวตน และพวกเขาก็อยากเป็นคนเก่งคนเจ๋งในสายตาของทุกคนในบ้าน และอยากเป็นที่ยอมรับของสังคม
3 ความในใจของวัยรุ่น LGBTQ+ ที่อยากบอกพ่อแม่ในวันที่ยังสับสน
ต่อไปนี้ เป็นประโยคที่วัยรุ่น LGBTQ+ เปิดเผยความกังวลใจของพวกเขาให้พวกเราฟัง
“หนูรู้สึกแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ”
ความรู้สึกแปลกแยกแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาที่พบบ่อยตลอดช่วงวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม สำหรับ LGBTQ+ ความรู้สึกแตกต่างของพวกเขาอาจมากกว่าเด็กทั่วไป และยิ่งชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่อัตลักษณ์ทางเพศจะชัดเจนขึ้นจากความสนใจความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก
เป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่น LGBTQ+ อาจรู้สึกตื่นกลัวที่พวกเขาค้นพบว่าตนเองมีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนกับเพื่อนๆ จึงมักแยกตัวออกจากกลุ่มด้วยความรู้สึกไม่เข้าพวก หรือไม่ก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มไปโดยปริยาย แต่หากพวกเขาได้รับความรัก และการยอมรับจากครอบครัวก็จะช่วยให้ผ่านเวลายากลำบากนี้ไปได้ง่ายขึ้น
“หนูมีความเลื่อนไหลทางเพศ
แต่หนูไม่แน่ใจว่าตัวเองจัดอยู่ในประเภทไหนกันแน่
และไม่รู้จะบอกอารมณ์นี้ให้ใครเข้าใจได้อย่างไร”
มากไปกว่าความรู้สึก ‘แตกต่าง’ จากใครๆ วัยรุ่น LGBTQ+ อาจยังคิดไม่ตก นึกสงสัยและสับสนว่าตนนั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหนในตัวย่อ
ด้วยความที่ยังไม่มั่นใจนักจึงต้องคอยเก็บเป็นความลับไปก่อน และยังต้องพยายามทำตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังจากพ่อแม่ เพื่อนฝูง และสังคม
แต่ยิ่งเก็บกดความเป็นตัวเองเอาไว้นานวันเข้า พวกเขาก็จะขี้โมโห รู้สึกอ่อนไหวง่าย หลีกเลี่ยงความผิดหวังเสียใจ และกลัวความล้มเหลวมากกว่าปกติ
หากไม่สามารถยอมรับตัวเอง และกล้าเป็นตัวของตัวเองได้ ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตของพวกเขาย่ำแย่ และนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ให้การสนับสนุน เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออก และเปิดใจรับฟังเรื่องราวที่แตกต่าง จะช่วยให้วัยรุ่น LGBTQ+ ข้ามผ่านช่วงเวลาสับสนนี้ไปได้ และจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ดีขึ้น พัฒนาทักษะที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และเติบโตเป็นคนคุณภาพที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น
“ฉันยอมรับว่าตัวเองเป็น LGBTQ+
แต่ฉันไม่แน่ใจว่าครอบครัวจะรับได้ไหม”
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับวัยรุ่น LGBTQ+ คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของครอบครัวเมื่อพวกเขาเปิดเผยตัวตน วัยรุ่นจะคอยจับสัญญาณว่าพ่อแม่ของตน มีแนวโน้มจะมีความรู้สึกไปในทางที่ดีหรือแย่กับเพศทางเลือก เช่น จากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ LGBTQ+ คนดังหรือกับ LGBTQ+ ในข่าวและสังคมใกล้ตัว
หากพ่อแม่มีทัศนคติแง่บวกกับเรื่องเหล่านี้ ลูกก็อาจรวบรวมความกล้าเพื่อเปิดเผยตัวตนกับพ่อแม่ได้ง่ายและเร็วขึ้น
ถ้าหากวันหนึ่งลูกของพวกเรา เดินเข้ามาบอกว่าพวกเขาเป็น LGBTQ+ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำให้ดีที่สุดคือ การตอบสนองในเชิงบวก แม้ว่าเราเองอาจยังไม่เข้าใจเรื่องของเพศวิถีดีก็ตาม เพราะหน้าที่ของพ่อแม่คือรักและยอมรับลูกโดยไม่มีเงื่อนไข รักลูกแบบที่พวกเขาเป็น พยายามเข้าใจสิ่งที่พวกเขารู้สึกและกำลังเผชิญหน้าอยู่
การยอมรับในตัวตนแปลกใหม่ของลูกอาจต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป เราอาจไม่เข้าใจลูกได้ทั้งหมดในทันที แต่อย่างน้อยควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง แล้วเราก็ค่อยๆ มาปรับตัวเรียนรู้กันใหม่ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกเพิ่งค้นพบไปด้วยกัน
สิ่งสำคัญคือบทบาทของพ่อแม่อย่างเรา ที่ยังต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ให้ความรักความห่วงใยแก่ลูกเช่นเคย ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ชินกับมุมนี้ของลูกนัก และยังให้คำแนะนำอะไรแก่ลูกไม่ได้มาก เราก็เพียงแค่คอยอยู่เคียงข้างลูก ในวันที่พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และคอยปกป้อง คอยเอาใจช่วยให้ลูกได้รับการยอมรับอย่างอบอุ่นและเท่าเทียมในท้ายที่สุด
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...