6 ความร่วมมือ ที่ครูยุคใหม่ต้องช่วยสร้าง เพื่อห้องเรียนปลอดบูลลี่
รู้หรือไม่? จากรายงานของ UNDP ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่อง LGBTQ+ แต่กลับพบว่า 53% ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องทนกับคำดูถูกจากผู้คนรอบข้าง และอีก 42% ต้องแกล้งเป็นเพศกำเนิดของตนเอง ทั้งในโรงเรียน ที่ทำงาน และที่บ้าน
นอกจากนี้ รายงานของ aidsdatahub อธิบายเพิ่มเติมว่า 25% ของเด็กๆ ที่ไม่แสดงตัวว่าเป็น LGBTQ+ แต่ถูกเพื่อนสงสัยจากกิริยาอาการว่าน่าจะเป็นเพศทางเลือก ก็มักถูกรังแกด้วยคำพูดในเชิงล้อเลียนบ่อยๆ ด้วยความคะนองปาก
‘Pride Month’ จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับคุณครู ที่จะชวนเด็กๆ ทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะจัดบอร์ดให้ความรู้ ประดับธงสีรุ้งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกว่าเราสนับสนุนให้เพศทางเลือก มีสิทธิเสรีภาพไม่ต่างจากชายและหญิง
Starfish Labz คิดว่าแค่นั้นอาจยังไม่เพียงพอ คุณครูจะต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจในผู้อื่น จึงจะสามารถลบความเชื่อผิดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบูลลี่ขึ้นในโรงเรียน
ผลร้ายของการบูลลี่
บูลลี่ (Bully) หรือ ภาษาไทยเรียกว่า ‘การรังแก’ หรือ ‘การกลั่นแกล้ง’ จากคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะทำร้ายทางร่างกายหรือว่าจิตใจ เช่น โดนล้อว่าเป็น ตุ๊ดหรือทอม มักใช้คำพูดในเชิงดูถูก ไม่เชื่อว่าหญิงจะรักหญิงได้ และอาจเกิดความระแวงเพื่อนที่ชอบเพศเดียวกันเกินเหตุว่าจะมาลวนลามตน
จึงอาจเกิดการใช้คำพูดล้อเลียน กรีดแทง แสดงออกด้วยท่าทีรังเกียจ หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย รวมไปถึงความแตกต่างเรื่องสีผิวและรูปร่างหน้าตาที่ผิดแผกจากเพื่อนในชั้นเรียนด้วย
ผลักให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งมีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว หวาดกลัวคนหมู่มาก และไม่อยากออกไปไหนมาไหนเท่าใดนัก ซึ่งทิ้งรอยแผลทางใจติดตัวไปจนโต ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะทางสังคม ความมั่นใจที่หล่นหาย สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เนื่องจากพวกเขาไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน
6 ความร่วมมือที่ครูยุคใหม่ต้องช่วยสร้างเพื่อห้องเรียนปลอดบูลลี่
1. สอนให้เด็กเข้าใจความต่าง
บอกเด็กๆ ให้รับรู้ว่าเราทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น เพศ ศาสนา ความคิดความเชื่อ พื้นเพ ประสบการณ์ ที่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นถึงจะถูกต้องหรือสูงส่งที่สุด
ทุกคนควรได้มีความสุขในที่ทางของตนเอง ถ้าไม่ได้สร้างความเดือนร้อนให้ใครก็ควรมีสิทธิ์เป็นตัวของตัวเอง
ในโลกกว้างยังมีอะไรให้เด็กๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ผู้คนใหม่ๆ ไม่รู้จบ จะเป็นการดีกว่าถ้าเราเห็นเพื่อนมนุษย์ทุกคนเท่ากัน และแม้เราจะต่างกันแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
2. สอนให้เด็กเคารพกัน
สอนเด็กๆ ให้เคารพเพื่อนมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย และสิ่งที่เขาเลือกจะเป็น
เช่น เพื่อนในห้องเป็น LGBTQ+ เขามั่นใจ กล้าแสดงออก แต่ต้องถูกกลั่นแกล้ง จากเพื่อนกลุ่มอื่น ครูจะต้องคอยสอดส่องด้วยความใส่ใจ
หากลวิธีสอนให้เพื่อนๆ คิดถึงใจเขา ไม่ตัดสินเขาด้วยการมองอะไรด้านเดียว ไม่ประเมินสถานการณ์เพียงแค่จากประสบการณ์ชีวิตของเราเอง เช่น
ครูอาจสอนนักเรียนผ่านการเล่านิทานให้ฟัง เลือกเนื้อเรื่องที่มีตัวละครต่างสายพันธ์ุกัน ให้เด็กๆ ลองอธิบายตามความเข้าใจหลังครูเล่าจบ แล้วลองมาถกถามกันในประเด็นที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในเรื่อง หรือให้เด็กๆ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจออกมา แล้วไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงของเด็กๆ ด้วย เป็นต้น
3.ทำข้อตกลงเรื่องกฎการอยู่ร่วมกัน
ครูอาจให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเล่นเกม ทำความตกลงกันก่อนว่าทุกคนจะเคารพกติกา เมื่อมีใครทำผิดกฎ ครูก็ไม่ปล่อยผ่าน จะต้องตักเตือน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในทันที แล้วเด็กๆ จะรู้จักเคารพกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกัน
หรือทุกครั้งที่จับกลุ่มทำงาน นักเรียนต้องเปลี่ยนกลุ่มทุกครั้ง และไม่เลือกแต่คนเดิมๆ อยู่ในกลุ่ม เพื่อจะได้หัดร่วมงานและผูกมิตรกับคนที่ตนไม่สนิทได้
และควรสอนให้ทุกคนทำตามหน้าที่โดยไม่ใช้เพศเป็นตัวกำหนด เช่น หน้าที่ยกของหนัก ขอให้ผู้ชายทำ ส่วนหน้าที่ตกแต่ง ระบายสี ขอให้ผู้หญิงทำ อันที่จริงครูควรคัดเลือกจากความสามารถและความถนัดของแต่ละคน หรือให้สลับสับเปลี่ยนเวรกันอย่างเท่าเทียม
สำคัญที่สุด จะต้องหาทางป้องกันการกลั่นแกล้งตั้งแต่เนิ่นๆ ครูต้องรู้ว่าใครคือผู้มีอิทธิพลกับเพื่อนๆ ในห้อง ใครคือคนที่มีโอกาสถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด จะต้องคอยสอดส่องสังเกตการณ์ ฟังน้ำเสียง คำพูด การกระทำ ปฏิกิริยาของกลุ่มเพื่อนนักเรียน และจับอารมณ์โดยรวมของเด็กในห้องเรียนนั้นเป็นอย่างไร
และหากมีใครมีท่าทางไม่สู้ดี ถูกทำร้ายทางจิตใจ ก็ควรจะหาทางค่อยๆ เคลียร์ใจกัน และทำข้อตกลงเพื่อจะอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่ลุกลามปานปลายไปสู่การทำร้ายร่างกายกัน หรือรวมหัวกลั่นแกล้งเพื่อนเพื่อความสนุกและสะใจ
4. ครูต้องเป็น safe zone
เด็กที่เป็น LGBTQ+ ส่วนมาก ไม่กล้าเปิดเผยความในใจ แนะนำให้คุณครูแสดงตัวว่า “ฉันพร้อมจะยืนอยู่ข้างพวกเธอนะ”
ถ้าต้องการสำรวจว่ามีใครกลั้นแกล้งกันบ้างในห้องเรียน กรณีนี้หากถามเด็กทุกคนผ่านหน้าชั้นเรียน คุณครูอาจไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงควรจัดรอบให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว (one on one) เพื่อเด็กๆ จะได้กล้าเล่าปัญหาที่พวกเขารู้สึกไม่ค่อยสบายใจได้อย่างเต็มที่
5. หลอมรวมวัฒนธรรรมเพศหลากหลายอยู่ในทุกกิจกรรมของห้องเรียน
เปิดชั่วโมงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิด เน้นให้ทุกคนได้ร่วมวงเสวนากันในห้องเรียน หรือระหว่างห้องเรียนอื่น สร้างบรรยากาศ safe zone ให้ทุกคนได้เชื่อมโยงกันจริงๆ หรือเรียกกระบวนการนี้ว่า ’การฟังอย่างลึกซึ้ง’ (deep listening) รับฟังผู้พูดโดยไม่ปล่อยให้ความคิดเราเผลอไปตัดสินเขา และพยายามเข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริงของเขา
ส่วน ‘การเสวนาดิ่งลึก’ (deep talk) มักจะถามคู่สนทนาด้วยคำถามปลายเปิด เช่น เธอรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ และต้องไม่ลืมแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตัวเราด้วย โดยทุกคนในวงสนทนาจะต้องเคารพจุดยืนของเพื่อน ถามเพื่อเข้าใจไม่ใช่เพื่อโต้แย้งกัน ซึ่งจะแตกต่างกับการโต้วาที แล้วเด็กๆ ถึงจะกล้าแสดงความหลากหลายออกมา รวมถึงได้ฟังมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนมากกว่าที่เคยรู้จัก
6. สร้างบทเรียน LGBTQ+ ในชั้นเรียน
สร้างความเข้าใจแก่เด็กๆ ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ ตามเพศกำเนิดเสมอไป และ LGBTQ+ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ก็เพียงแค่เรามีความชอบไม่เหมือนกัน และเราทุกคนต่างก็มีคุณค่าในแบบฉบับของตนเอง
ยุคสมัยนั้นเปลี่ยนไปแล้ว เราใจกว้างขึ้น และยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้น เราจึงควรจะเปลี่ยนคำจำกัดความต่างๆ เสียใหม่ ให้เป็นไปตามบทบาทที่แต่ละคนเลือกจะเป็นมากกว่า
เมื่อทุกคนเข้าใจความแตกต่างในสังคม โอกาสจะเกิดการบูลลี่ก็จะลดน้อยลงกว่าเดิม จากที่เด็กๆ มองว่าความแตกต่างเป็นเรื่องผิดปกติ จะกลายเป็นเราแตกต่างกันน่ะเป็นเรื่องธรรมชาตินั่นเอง
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Making Schools Safe for LGBTQ+ Community | Stomp out bullying
Best practices for serving LGBTQ students | Learning for justice
LGBTQ-inclusive education: everything you need to know | Stonewall
Mindfulness for trainers: the practice of deep listening | Trainingzone
Related Courses
Micro Learning เทคนิคการดูแลสุขภาพกาย ป.4-6
การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายที่ดีจากภายในสู่ภายนอก ควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
Micro Learning เครื่องมือช่วยจัดการเรียนรู้ทางไกล
การเลือกครื่องมือช่วยจัดการเรียนรู้ทางไกลมีความสำคัญเพราะเป็นช่องทางที่จะนำความรู้ไปสู่นักเรียน จะมีเครื่องมือไหนบ้างที่เหมาะส ...