Academic Journal (TSQP 1) การสร้างสุขภาวะพื้นฐาน
ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สุขภาพ หรือ สุขภาวะ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทาง ปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ดังนั้น สุขภาวะพื้นฐานจึงหมายถึง การที่คนเรามีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เป็นสุขภาวะขั้นพื้นฐานที่สำคัญ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและมีความสมดุล นั่นคือ
- สุขภาวะทางกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
- สุขภาวะทางจิต คือ การมีจิตใจที่มีความสุข ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความเมตตา กรุณา
- สุขภาวะทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขในชุมชน ที่ทำงาน
- สุขภาวะทางปัญญา หรือว่าทางจิตวิญญาณ คือ การมีความสุขด้วยจิตใจที่สูง
รวมไปถึงสุขภาวะขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาวะถดถอยการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสุขภาวะพื้นฐานที่ดี มีความจำเป็นในการพัฒนา เพื่อให้การดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ทั้งกายและจิต อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่เพียงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงการมีชีวิตที่มีร่างกายแข็งแรง จิตใจแข็งแรง มีความสุขอยู่ในสังคมโลกปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย จึงได้กำหนด 5 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนากำลังคนและสังคมของไทยให้มีรากฐานที่มั่นคง แข็งแรงเป็นปึกแผ่น มีสุขภาวะทางกาย ใจ สติปัญญาที่มีประสิทธิภาพ และเพียบพร้อมด้วยศักยภาพกระจายครอบคลุมในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม โดยรัฐพร้อมให้การสนับสนุนและยกให้นโยบายด้านสุขภาวะที่ดีของคนไทย คือ นโยบายสำคัญของชาติที่ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนี้
5 แผนแม่บทส่งเสริมสุขภาวะคนไทย เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ
1. การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ และการป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคาม
สุขภาวะ ความรู้ที่ดี คือ ยารักษาโรคที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง การที่ประชาชนในประเทศรู้เท่าทันโรค ก็จะช่วยให้ป้องกันตัวเองจากการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี
2. การใช้ชุมชนเป็นฐาน ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี สภาพแวดล้อม เป็นอีกสิ่งที่สำคัญในการจะสร้างสุขภาวะที่ดี เพราะถ้ามีสภาพแวดล้อมในทุกพื้นที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี นำพามาซึ่งสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา
3. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี ระบบการบริการด้านสุขภาพเป็นอีกสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ได้รูปแบบการใช้บริการที่อำนวยความสะดวกได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และมีการรักษาที่ทันสมัย
4. การกระจายบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ไม่ว่าจะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การแพทย์ และบริการทางสาธารณสุข คือ เป้าหมายปลายทางของการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทุกพื้นที่ต้องมีการพัฒนาสถานพยาบาล ให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีทั่วถึง ทันสมัย ประสิทธิภาพ และมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล
5. การพัฒนาและสร้างระบบรับมือ รวมถึงปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แผนแม่บทข้อ 5 นี้ เป็นแผนที่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากเป็นการสร้างสุขภาวะพื้นฐานแล้ว ยังต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ เพราะโรคเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น มักส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้างอย่างที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั่นเอง
การพัฒนาสุขภาวะขั้นพื้นฐานของผู้เรียน โรงเรียน โดยการดำเนินงานของคุณครูและบุคลากรในโรงเรียนมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาวะของนักเรียน การคัดกรองนักเรียน ครูรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล รวมไปถึงกิจกรรมเสริมสร้างทักษะต่างๆ ทักษะชีวิต คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ บางโรงเรียนอาจมีการดำเนินกิจกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะพื้นฐานของผู้เรียนได้ เช่น
1. โรงเรียนจะต้องจัดทำมาตรฐานโรงเรียนปลอดภัยครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งนักเรียนและบุคคลที่อยู่ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ภัยพิบัติ การเดินทาง หรือภัยเทคโนโลยี
2. โรงเรียนมีแนวทางในการพัฒนาการสำรวจติดตามระบบการช่วยเหลือผู้เรียนเป็นรายบุคคล
3. โรงเรียนเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดค้น พัฒนาการสร้างสุขภาวะพื้นฐานให้นักเรียนอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
4. มีการจัดอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการสร้างสุขภาวะพื้นฐานเพื่อทำการขับเคลื่อนในโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้น สุขภาวะขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่จะต้องดำเนินการให้มีการวางแผนการจัดกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อพัฒนาสุขภาวะขั้นพื้นฐานและการช่วยเหลือทุกชีวิต โดยเฉพาะเด็กในทุกช่วงวัยจะเจริญเติบโต และมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคตตลอดจนครอบครัว สังคม และชุมชนให้สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นสุขภาวะที่สมบูรณ์ทุก ๆ ด้านจะเชื่อมโยงกัน และจะสะท้อนถึงความเป็นองค์รวมอย่างแท้จริงของสุขภาพที่เกื้อหนุนและเชื่อมโยงกันทั้ง ๔ มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญานั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย. (๒๕๕๙). คู่มือการดำเนิน งานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2558. (พิมพ์ครั้ง ที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ.
กระทรวงสาธารณสุข สำนักส่งเสริมสุขภาพ. (2561). ตัวชี้วัดประเด็นยุทธศาสตร์ ปีงบประมาณ: 2558 ไตรมาส 4. จาก hp.anamai.moph.go.th/download/ AA4.pdf
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การจัดสวนภายในโรงเรียน
การจัดสวนในโรงเรียน เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับธรรมชาติ โดยได้ลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง เป็นการสร้างความสุข เ ...
การช่วยเหลือผู้เรียนในกลุ่มเปราะบาง
การศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียน ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีพัฒนาการแบบองค์รวม คือ ให้เป็นคน ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
การจัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (EE)
เพื่อให้นักการศึกษาได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย และประโยชน์ของการศึกษารวมถึงความสำคัญของการบูรณาการของ ...