“ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมไทย สังคมโลก”
เวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมไทย สังคมโลก”
จากแถลงการณ์ของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง 12 นโยบาย การจัดการศึกษา 7 วาระเร่งด่วน ข้อที่ 1 การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ และลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และข้อที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งเน้นในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรได้กำหนดกรอบแนวคิดพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเปิดรับสมัครให้โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความสมัครใจ เพื่อดำเนินการทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ พบว่า มีโรงเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมการทดลองหลักสูตรทั้งสิ้น 267 แห่งใน 8 จังหวัด และครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมทั้งผู้อำนวยการ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง นักเรียนและประชาชนในการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 จึงได้มีการกำหนดแนวทางในการฟังความคิดเห็น 3 ทาง ได้แก่
1) การจัดเวทีระดมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 ครั้ง จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มองค์กรการศึกษา กลุ่มผู้ปกครอง นักเรียน ครู เยาวชน กลุ่มอาจารย์คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์และกลุ่มผู้ประกอบการเอกชน
2) รวบรวมแนวคิดและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมในการทดลองหลักสูตรในพื้นที่นำร่อง จำนวน 267 โรงเรียน
3) รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามทางเว็ปไซต์และแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ
ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดเวทีระดมสมองเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ และถือเป็นเวทีแรกในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมอง และทิศทางเพื่อการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับความต้องการต่อการพัฒนาสังคมไทย จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการ ครูผู้สอน ผู้ปกครองและนักเรียน
โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “การปรับหลักสูตรใหม่เป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องด้วยสังคมไทยปัจจุบัน ต้องการสร้างเด็กไทยให้มีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการของแรงงานตลาด นั่นคือ “การที่คนไทยมีสมรรถนะสูง” ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่จัดทำหลักสูตรและผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ จะต้องมีความเข้าใจและหาวิธีการในการตอบสนองเป้าประสงค์ เพื่อเป็นการต่อยอดหลักสูตรเดิม ไม่ใช่เพื่อเพิ่มสิ่งที่รู้ แต่เพื่อเพิ่มสิ่งที่สามารถทำได้ ทำเป็น และทำได้อย่างไร” และเนื่องจากประเทศไทยไม่เคยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะมาก่อน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะในยุคปัจจุบัน ว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะ ถือว่าเป็นทักษะหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับบริบทแวดล้อม เน้นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก เน้นปฏิบัติ บนฐานของความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง โดยอิงสมรรถนะมากกว่าอิงเนื้อหา K S A (Knowledge Skills Attitude) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล” ซึ่งจากการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ในมุมมองของภาคเอกชน คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย กล่าวว่า “ปัญหาเรื่องการศึกษาไม่ได้มีแต่เพียงในประเทศไทย ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้มีการตระหนักถึงรูปแบบการศึกษาในอดีตที่ไม่สามารถตอบโจทย์ด้านการทำงานในอนาคตได้ จึงได้มีการพิจารณาปรับรูปแบบการศึกษาที่จะทำให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะท้าทายกับอนาคต นั่นคือ การจัดการศึกษาที่ดี ที่มีคุณภาพ ซึ่งหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ดำเนินการร่างขึ้นมา สามารถตอบโจทย์ได้ตามทุกข้อแนวทางของภาคเอกชน” ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธาน บ.เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เราจำเป็นที่ต้องรีบ ต้องเร่ง และทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแค่ชื่อหลักสูตร คณะ วิชาเท่านั้น แต่จำเป็นที่จะต้องเรียนแบบใหม่ ทำแบบใหม่ และมีความสามารถ เข้าใจทักษะและสมรรถนะมากกว่าเดิม โดยใช้เป้าหมายของเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วทำเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กเป็นหลัก”
สำหรับในมุมมองของอาจารย์ รศ.ดร.สฎายุ ธีระวณิชตระกูล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “เดิมได้มีการสอดแทรกเรื่องของสมรรถนะเข้าไปในหลักสูตรปี 51 แล้ว ซึ่งถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะครั้งนี้ จะหยิบเอาสมรรถนะเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ แล้วเอาสมรรถนะตัวนี้มาเป็น Approach เรื่องของการจัดการเรียนรู้ การวัดผล ประเมินผล เพราะว่าการจัดการฐานสมรรถนะจะเกิดขึ้นมาได้ เนื่องด้วย 3 กลไกสำคัญ คือ มีหลักสูตรอิงสมรรถนะ มีการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะ และมีการวัดประเมินผลที่อิงสมรรถนะ โดยการบูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระ เพราะการออกแบบทั้ง 6 ด้านของสมรรถนะ ทุกกลุ่มสาระสามารถขับเคลื่อนได้ เพียงแต่ว่าการปรับโครงสร้างอาจจะดูธรรมชาติของวิชาที่สามารถ Mix & Match กับกรอบสมรรถนะได้” และจากการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะสู่สถานศึกษาที่มีความแตกต่างทางด้านสังกัด ขนาด และบริบทของแต่ละโรงเรียน ด้านนายภาคินัย สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตบางนา มีความคิดเห็นว่า “การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาจัดเป็นหลักสูตรในสถานศึกษา จะต้องมีการปรับตามบริบทของแต่ละโรงเรียน” ซึ่งกระบวนการในการจัดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและท้องถิ่น และตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของโรงเรียน ตลอดจนอาชีพในอนาคต โดยการบูรณาการปลูกฝังลงไปในหลักสูตร ครูต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการบูรณาการสมรรถนะทั้ง 6 ด้านทุกรายวิชา เพื่อไปสู่เป้าหมายของผู้เรียน” ทั้งนี้ ได้มีการคิดทำโปรเจคทดลองโดยใช้กระบวนการคิด Design Thinking (1 ห้องเรียน 4 สายการเรียน) ของนายร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ซึ่งเป็นโปรเจคเชิงไอเดียที่ “สนับสนุนความหลากหลาย” พบว่า เด็กค้นพบความชอบมากขึ้น มีเพื่อนที่หลากหลาย มีการเรียนรู้สังคมมากขึ้น คิดว่าเมื่อมีการปรับหลักสูตรฯ น่าจะส่งผลที่ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ ผู้ปกครองและนักเรียนย่อมมีความคาดหวังต่อหลักสูตรสมรรถนะ โดยนางสาวกัลยลักษณ์ ขำพิศ ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนวัดไตรรัตนาราม (ชื่นชูใจราษฎร์อุทิศ) “คาดหวังจากโรงเรียนในการลงมือการปฏิบัติ โดยปรับให้มีความยืดหยุ่นตามบริบทของแต่ละโรงเรียน” ทั้งนี้ การทำงานอยากให้ครู ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนและการ Coaching เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เด็กได้ค้นพบแนวทางของตัวเอง ทั้งนี้นางเอกกมล ทรัพย์ธนะอุดม นักวิจัย มูลนิธิ ศาสตรจารย์ ดร.สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธุ เพื่อการพัฒนาการศึกษาและวิจัย มองว่า “มีความไม่แน่ใจที่เยาวชนจะสามารถพัฒนาตนเอง และทำตามสมรรถนะทั้ง 6 ด้านได้” เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำหนดในการวัดและประเมินผลสมรรถนะ ว่าการวัดสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากน้อยอย่างไร เพราะปลายทางของสมรรถนะคือการนำไปใช้จริง เพราะฉะนั้น การประเมินคือสิ่งที่เราต้องคำนึง ด้านนายปราณนต์ โชติสิน นักเรียนชั้น ม.6/1 โรงเรียนงิ้วรายบุญมีรังสฤษดิ์ มีความคาดหวังการสนับสนุนความหลากหลายทางด้านการเรียน เนื่องจากเด็กมีความแตกต่างกัน และตัวนักเรียนจะได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองสนใจ การเรียนรู้ที่สนุกสนาน มีความสุข เพื่อค้นพบเส้นทางในการดำเนินชีวิต และความเท่าเทียมในส่วนของการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และนางสาวทัศนารีย์ วิเศษรจนา นศ.ชั้นปีที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิจัยสังคมวิทยาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ “คิดว่าปัญหาเกิดจากผล
กระทบทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีทำให้เกิดการจ้างงานน้อยลง” ที่สำคัญคือ หลักสูตรไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานและตัวผู้เรียนเอง และคาดหวังว่า หลักสูตรจะมีส่วนช่วยในด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ดีมากยิ่งขึ้น
เห็นได้ว่า ในการพัฒนาหลักสูตรยังคงต้องมีการปรับ เปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ การจัดการเรียนรู้ที่เกิดประสิทธิผล สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ www.edusandbox.com/brainstorming-arena-watch-back/?fbclid=IwAR3sVzA33E9iv0f_RMRebtjgesPX_b2tAE9Pb15xqPmIcf8WSk0undYms_E
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...