หลักสูตรฐานสมรรถนะในต่างประเทศเป็นอย่างไร? ชวนดูหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สำเร็จในต่างแดน
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถอย่างน้อยด้านหนึ่งแฝงอยู่ในตัวเอง และความสามารถแต่ละด้านล้วนสนับสนุนให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในด้านนั้น ๆ หากผู้มีความสามารถได้รับการส่งเสริมอย่างถูกวิธีผ่านระบบการศึกษา
ถึงแม้ความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ภาษา ตรรกะ มนุษยสัมพันธ์ มิติสัมพันธ์ ฯลฯ จะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและดูเป็นไปได้ยากที่คน ๆ หนึ่งจะถนัดหลายด้าน เช่น เก่งทั้งภาษาและคณิตศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนต้องยอมรับก็คือ แค่ความสามารถอย่างเดียวไม่อาจทำให้คนเราแสดงความโดดเด่นในด้านนั้น ๆ ออกมาได้ โดยไม่อาศัยคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมนี้เรียกว่า “สมรรถนะ”
หลายประเทศได้มีแนวคิดในการส่งเสริมสมรรถนะของประชาชนผ่านระบบการศึกษา โดยจะเห็นว่ามีการใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” อย่างแพร่หลาย โดยสำหรับประเทศไทยหลักสูตรชนิดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การวัดผลแบบสมรรถนะ หรือการวัดผลจากความสามารถของผู้เรียนในการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้แทนการท่องจำเนื้อหา และตั้งอยู่บนฐานคิดหลัก 4 ฐาน ได้แก่
1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของหรือศูนย์กลางของการเรียนรู้
2. พัฒนาให้ผู้เรียนมีสุขภาวะที่ดีรอบด้านอย่างเสมอภาค
3. พัฒนาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม
4. พัฒนาให้ผู้เรียนเท่าทันและสามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิทยาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงตอนนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วหลักสูตรฐานสมรรถนะในต่างประเทศเป็นอย่างไร เมื่อนำมาใช้แล้วเกิดผลลัพธ์อย่างไรกับผู้เรียน เพื่อเป็นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่ามานี้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับหลักสูตรชนิดนี้ของ 3 ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่ง 2 ใน 3 ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป และอีกหนึ่งตั้งอยู่ในทวีปเอเชียกัน
ประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย จากการจัดอันดับคุณภาพการศึกษา ในระดับนานาชาติหลายครั้ง การศึกษาของฟินแลนด์มักเป็น 1 ใน 3 ลำดับแรก (Top 3) ของโลกเสมอ หลักสูตรฐานสมรรถนะของฟินแลนด์ตั้งอยู่บนฐานคิดหลัก 2 ฐาน ได้แก่
1. การให้ผู้เรียนเป็น “ศูนย์กลาง” ของการศึกษา และ
2. การให้ผู้เรียนเป็น “ผู้เล่น” อย่างเต็มที่
ฐานคิดแรกของหลักสูตรฐานสมรรถนะฟินแลนด์ มุ่งเน้นความเข้าใจในเนื้อหาต่าง ๆ ของผู้เรียนโดยไม่เน้นการท่องจำทฤษฎี และมองว่าผู้เรียนแต่ละคนต่างมีสมรรถนะคนละด้าน ดังนั้น จึงไม่เน้นการใช้ข้อสอบเป็นเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่ผู้สอนและผู้เรียนจะร่วมกันออกแบบเครื่องมือวัดผลชนิดอื่นที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ส่วนฐานคิดอีกฐานหนึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนชั้นปฐมวัย (Early childhood) เรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะต้องการให้ระบบการศึกษาส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและสุขภาพมากกว่าวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ยังเอื้อให้ผู้สอนมีอิสระและความยืดหยุ่นในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง
ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในกลุ่มเบเนลักซ์ (ซึ่งประกอบด้วยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ของทวีปยุโรป ระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงจากการที่องค์การ UNICEF ได้เคยระบุในรายงานประจำปีฉบับหนึ่งว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กชาวดัตช์มีความสุขที่สุดในโลก หลักสูตรฐานสมรรถนะของเนเธอร์แลนด์มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ทางเลือกและความเท่าเทียม
2. ระบบติดตามความก้าวหน้าและการวัดผล และ
3. วันหยุด
หลักสูตรฐานสมรรถนะดัตช์ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีตัวเลือกที่หลากหลาย เเละตรงตามความสามารถ ไม่ต้องถูกจำกัดให้เลือกเรียนสายวิชาบางสายเพียงเพราะมีโอกาสในการเรียนต่อหรือทำงานมากกว่า อีกทั้งโรงเรียนต่าง ๆ ยังมีคุณภาพมาตรฐานสูงใกล้เคียงกัน และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ดังนั้น ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับระบบประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่สร้างความกดดันไม่น้อยให้แก่ผู้เรียนในหลายประเทศ แต่ในเนเธอร์แลนด์มันคือการทดสอบความถนัดรายบุคคลของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าชั้นเรียนประเภทใดในระดับมัธยมศึกษาเหมาะสมกับตัวเองที่สุด โดยไม่ว่าผู้เรียนจะเลือกชั้นเรียนประเภทใด ทางเลือกต่าง ๆ ทั้งการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพก็ยังเปิดกว้างให้พวกเขาเสมอ
ลักษณะเด่นสุดท้ายของหลักสูตรฐานสมรรถนะของเนเธอร์แลนด์คือวันหยุด วันหยุดหรือปิดเทอมของผู้เรียนชาวดัตช์จะไม่ได้หยุดพร้อมกันทั้งประเทศ แต่จะกระจายกันหยุดตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดความแออัด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โดยเฉลี่ยแล้วผู้เรียนแต่ละคนจะได้หยุดเรียนถึง 9 สัปดาห์ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีเวลาเพียงพอในการศึกษาหาความรู้ตามความสนใจ และความถนัดของตัวเอง อีกทั้งเพื่อเพิ่มพูนทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากทักษะทางวิชาการด้วย
สำหรับประเทศสุดท้ายคือประเทศสิงคโปร์ ประเทศนี้ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวกับประเทศไทย แม้สิงคโปร์จะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ระบบการศึกษามีคุณภาพสูง แต่ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาท้องถิ่นก่อให้เกิดความเครียดแก่ผู้เรียนพอสมควร ต่างจากสองประเทศแรก ลักษณะของหลักสูตรฐานสมรรถนะสิงคโปร์สะท้อนหลักคิด 3 หลัก ได้แก่
1. “Thinking Schools, Learning Nation”
2. “Teach Less, Learn More (TLLM)” และ
3. “Thinking Global, Staying Connected To Singapore”
หลักคิดแรกสะท้อนให้เห็นมุมมองของภาครัฐสิงคโปร์ต่อระบบการศึกษา นั่นคือ เน้นการสร้างชาติโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง โดยการเรียนการสอนจะให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการท่องจำ หลักคิดต่อมามุ่งเน้นการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมมากกว่าการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบ สำหรับหลักคิดสุดท้ายคือ การสร้างชาติให้เป็นเมืองระดับโลกโดยที่ประชากรยังรู้สึกผูกพัน และมองว่าสิงคโปร์เป็นบ้านของตัวเอง
จะเห็นว่า แม้หลักสูตรฐานสมรรถนะในต่างประเทศจะมีแนวคิดที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่ลักษณะสำคัญที่หลักสูตรของประเทศทั้งหลายเหล่านี้มีคือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และเน้นการประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มากกว่าการท่องจำ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อหลักสูตรฐานสมรรถนะ 2565 ของสพฐ. ได้ถูกนำไปอย่างเต็มรูปแบบแล้วอนาคตของการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด และจะช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหรือไม่ เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป
Sources
บทความใกล้เคียง
ยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ด้วย 3 นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จาก Starfish Education
กิจกรรมฐานสมรรถนะกับห้องเรียนออนไลน์
Active Teacher ตอน แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ขยายขอบเขตการเรียนรู้อย่างไม่จำกัดด้วย Starfish Labz
Related Courses
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
เทคนิคและวิธีการสอนสมัยใหม่
การใช้คำถาม เครื่องมือ การนำเสนอ ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้วิธีการถาม กา ...