ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต ร่วมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
TEP FORUM 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต ร่วมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย"
โจทย์ที่ 4 : Learning Recovery เปิดเรียนใหม่ การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม
จากการสะท้อนปัญหาในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการจัดการศึกษาไทยจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่าน และตัวแทนจากผู้ปกครอง ครู และนักเรียน เป็นการนำเสนอข้อสรุปจากโจทย์สำคัญในหัวข้อ “Learning Recovery เปิดเรียนใหม่ การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม” จะมีวิธีการปรับเปลี่ยนอย่างไร สิ่งที่ต้องการรับความช่วยเหลือ สนับสนุนคืออะไร จากการพูดคุยร่วมกันทำให้เห็นแนวทางและบทสรุป ดังนี้
ครูอับดุลยามีน หะยีขาเดร์ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี – จากสภาพบริบททางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักเรียนมีความหลากหลายทางด้านศาสนา วัฒนธรรมและการใช้ภาษา โรงเรียนมีทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะ และกศน. สำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะใช้รูปแบบ Online ผ่าน Google Meet, On-Demand, On-Air, On-Hand และ On-Site ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และทำการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของครู โดยการจัด PLC ทุกสัปดาห์ จากการใช้โจทย์ 3 ข้อ คือ เจอปัญหาอะไรบ้าง ความคาดหวังที่ครูอยากให้เกิด และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร
จากปัญหาที่พบในการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ พบว่า นักเรียนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์ อีกทั้งเด็กมีทักษะทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก ดังนั้น ครูจึงได้สร้าง platform ที่สามารถเอื้อให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ โดยการสร้างเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล คลิปสั้นๆ คลิปวิดีโอบันทึกหลังการสอนให้สามารถดูย้อนหลังได้ ใบงาน การใช้แอปพลิเคชั่น Tiktok รวมไปถึงการสร้าง หรือพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดการเรียนการสอน และการจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน สำหรับข้อเสนอที่อยากได้รับการสนับสนุน คือ การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและคุณครูในการนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้
คุณจรรยา รักใจ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ – จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้บทบาทหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนที่ต้องมีเวลาให้มากที่สุดในการเข้าเรียนร่วมกับลูก การเสริมความรู้เพิ่มเติม โดยการหากิจกรรมทำร่วมกัน ตลอดจนการหาหนังสือเพิ่มเติมความรู้ในด้านต่างๆ สำหรับข้อเสนอที่อยากให้เกิดการพัฒนา คือ การใช้บุคคลที่หลากหลายนอกเหนือจากครูผู้สอนในการสอนแต่ละรายวิชา หรืออาจเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถมาร่วมสอนเด็ก ๆ ได้
คุณกัลยาณี ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา จ.กาญจนบุรี - จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับตัว ต้องมีความกระตือรือร้นและติดตามข่าวสารตลอดเวลา จากอุปสรรคปัญหาที่พบ คือ ความไม่พร้อมทางด้านอุปกรณ์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือจากทางโรงเรียน โดยการเรียนในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ของโรงเรียน รูปแบบ On-Demand และใบงาน สำหรับข้อเสนอที่อยากได้รับการพัฒนา คือ
1) จัดให้มีการประเมินการสอนระหว่างครูกับนักเรียนสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้น
2) การให้งาน/ใบงานที่ส่งเสริมทักษะการคิดมากขึ้น
3) ลดคาบเรียนและวิชาที่ไม่จำเป็น โดยเน้นแต่เนื้อหาที่สำคัญ
ดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ Education Officer, Education Section UNICEF Thailand Country Office UNICEF - สำหรับภาพรวมทั่วโลกในขณะนี้ จากการเก็บข้อมูล 150 ประเทศ ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ ทีวี โทรศัพท์ radio และเรียนที่บ้าน เป็นลักษณะของการผสมผสานกัน แต่สิ่งที่เกิดในประเทศไทยคือ การปรับในเรื่องของการสอบ O-Net, A-Net, NT และการปรับในด้านการวัดผลสัมฤทธิ์ ในขณะเดียวกันบางประเทศยังไม่มีการยกเลิกการสอบ ซึ่งการแก้ปัญหาจากสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบเหล่านี้ในแต่ละประเทศยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน สำหรับข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน คือ การสร้างความเข้าใจและเห็นว่าทุกฝ่ายมีความสำคัญ รวมไปถึงควรมีการกำหนดเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา - จากสถานการณ์ที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กในหลายมิติ เช่น ความรู้ที่อาจจะสูญหายไปจากการที่เด็กไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ การขาดอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงการเรียนรู้ ผลทางจิตใจ จากการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และ เด็กเล็กช่วงอายุ 6-7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่สำคัญในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ และช่วงโควิดมีปรากฏการณ์ที่ผู้ปกครองเอาลูกออกจากศูนย์เด็กเล็ก และเด็กที่ขาดการศึกษาช่วงปฐมวัย ซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคต ถ้าหากเด็กขาดการปูพื้นฐานที่เหมาะสมนอกจากนั้น อาจส่งผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กลดลง โดยเฉพาะเด็กยากจนหรือยากจนพิเศษมีโอกาสเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบมากขึ้น และจากสถิติช่วงภาคเรียนที่ผ่านมา พบว่า เด็กในช่วงรอยต่อประมาณ 40,000- 50,000 คน หลุดออกจากนอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่จะต้องติดตามมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทำงานร่วมกันในลักษณะของเครือข่ายทางการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้การศึกษาสามารถก้าวหน้าต่อไปได้
ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education – การฟื้นฟู ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก วางแผนการทำงานร่วมกัน ดังนี้
1) โรงเรียนจะต้องวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบในเรื่องฟื้นฟูการถดถอยเป็นหลัก และการเปลี่ยนชั้นเรียนจะทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น การวางแผนอย่างเป็นระบบในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
2) การสนับสนุนครูและโรงเรียนในด้านเทคโนโลยีหรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาวะที่ดีของครู เป็นต้น รวมไปถึงการจัดการเรียนสอนแบบ Hybrid หรือ Remote ที่จะต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น
3) การทำงานกับนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น โรงเรียนจะต้องทำให้เด็กเห็นว่าการเรียนมีความหมายกับเด็กอย่างไร เพื่อที่จะให้เด็กหลุดออกจากระบบน้อยลง
4) ด้านชุมชนและผู้ปกครอง เกิดมิติใหม่ในการสอนและการสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชน โรงเรียนจะต้องมีความต่อเนื่องต่อไป
5) ด้านนโยบาย อาจจะต้องมีการปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้ความสำคัญกับชุมชน พื้นที่ให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับบริบทได้
การปรับหลักสูตรให้มีความเหมาะสม และเป็นสิ่งที่เด็กสามารถเรียนรู้และใช้ได้จริง และงบประมาณ ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ และการพัฒนาครูเป็นเรื่องหลัก ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น ฉะนั้น อยากให้มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสในการทำงานร่วมกัน และนำจุดแข็งมาทำงานและสานต่อไป จึงได้มีข้อเสนอดังนี้ การสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูการเรียนให้กับเด็กอย่างไร ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนใน 2 ระยะ คือ ทำได้เลยในบทบาทของตนเอง และการมองในระยะยาวได้มากขึ้น ทำอย่างไรถึงจะมีรากฐานที่ก้าวพ้นและยืดหยุ่นมากพอที่ไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เนื่องจากมีระบบที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้
ดร.สุนิสา คงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนพุดซา จ.พระนครศรีอยุธยา – จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนได้มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูการเรียนทั้งระยะสั้น และระยะยาว สำหรับโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ดังนี้
1) สำหรับโรงเรียน ได้มีการกำหนด School Concept คือ การพัฒนาทักษะอาชีพ โดยใช้กระบวนการ STEAM DESIGN PROCESS ทั้งนี้ ได้มีแผนระยะสั้น และระยะยาวโดยการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการจัดการในสถานศึกษา ประกาศนโยบายในการช่วยเหลือ ติดตาม สนับสนุนงบประมาณ ลดขั้นตอนการทำงาน และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ ความชัดเจนการบริหารงานโรงเรียนที่ไม่มีผู้บริหาร การแต่งตั้งโยกย้าย ระยะเวลา 6 เดือนนานเกินไปสำหรับโอกาสที่จะพัฒนาระบบงานภายในสถานศึกษา การพัฒนาผู้บริหารที่เป็นกลุ่มโรงเรียนเดียวกัน และกสนนิเทศ ให้คำปรึกษา เปิดวง PLC โดยมีทีม/ Timeline ที่รับผิดชอบชัดเจน
2) สำหรับครู มาตรการช่วยเหลือระยะสั้น คือ การเตรียมครูให้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้ และการเตรียมให้ครูจัดการเรียนรู้ แบบ AL (Active Learning) ระยะยาว คือ ครูต้องกลับมาวางแผน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของตัวเอง ออกแบบนวัตกรรม อนุทินการสอน 1 ภาคเรียน ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะอาชีพด้ายกระบวนการของ STEAM โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ จำนวนครูครบชั้นหรือครบวิชาเอกตามแผนที่ตั้งไว้ให้ได้ การย้าย/บรรจุ ให้มีระยะเวลาที่เร็วขึ้น มีองค์การพัฒนาครูตามระดับชั้น ชั้น/วิชา และขนาดของโรงเรียนที่ประจำอยู่ ในการสอน AL หรือ อื่น ๆ และการกำหนดวง PLC โดยมีทีมรับผิดชอบ และ Timeline ที่ชัดเจน
3) สำหรับนักเรียน มาตรการช่วยเหลือระยะสั้น คือ เด็กเรียนรู้ตามรูปแบบที่ครูกำหนดให้ เด็กมีการสะท้อนผลการเรียนรู้จากแบบที่ครูกำหนดให้ และมีผลงานชิ้นงานของตนเอง ระยะยาว คือ ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการ STEAM ทุกวัน เกิดการพัฒนาทักษะอาชีพใหม่เพื่อให้เหมาะกับวันตนเอง และมีการฝึกการเรียนรู้แบบ AL อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ สนับสนุนงบประมาณ สื่อการสอนหรือวัสดุฝึกขั้นพื้นที่ของแต่ละรายวิชาตามบริบทของโรงเรียน และมีช่องทางการเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้เด็กทุกคนที่เข้าถึง เช่น มีรหัส Username / Password ของตนเอง
4) สำหรับผู้ปกครอง มาตรการช่วยเหลือระยะสั้น คือ ตกลงให้ความร่วมมือกับโรงเรียน เพื่อรับ
ความช่วยเหลือ ดูผลพัฒนาการ รับส่งบุตรหลานเข้าโครงการ และการติดต่อสื่อผ่านไลน์กลุ่ม ระยะยาว คือ การใช้ App Q-parent ในการตรวจสอบพฤติกรรม เวลาเรียน ผลการเรียนแบบ Real time และการใช้แอปพลิเคชั่น Starfish class เพื่อร่วมประเมินเด็ก โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ การช่วยเหลือเด็กรายจนหรือผู้ปกครองที่มีปัญหาเศรษฐกิจ และยกย่อง สนับสนุนให้ผู้ปกครองได้ดูแลช่วยเหลือบุตรหลานตนเองและชุมชน
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย คือ ผู้อำนวยการดำเนินการตามนโยบาย โดยการมีคนคอยช่วยเหลือในการทำตามนโยบาย เช่น การมีโค้ชจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บทความใกล้เคียง
“ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” นำเสนอผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
กิจกรรม TSQP Kick Off กลุ่มที่ 1 การเก็บหลักฐานและจัดการข้อมูล (ครูวิชาการ)
อัปเดตใหม่ 2564 แผนหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้านจากศธ. ที่คุณครูต้องรู้
Related Courses
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...