“ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” นำเสนอผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
TEP FORUM 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” นำเสนอผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
จากการระดมปัญหา และถกปัญหาถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการจัดการศึกษาไทยจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่าน เป็นการนำเสนอทั้งบทสรุปและข้อสรุปจาก 5 โจทย์สำคัญในการระดมสมองเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย ซึ่งรับมอบโจทย์โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และจากการพูดคุยร่วมกัน ทำให้เห็นแนวทางและบทสรุป ดังนี้
โจทย์ที่ 1 โรงเรียนพลังบวก – ความหวังปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่ โดย คุณวิชัย จันทร์ส่อง ผอ.รร.วัดตาขัน จากการระดมความคิดโดยผู้เข้าร่วมจากโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดอื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนใน 8 พื้นที่โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม โรงเรียนนอกพื้นที่นวัตกรรม และศูนย์การเรียนชุมชน ได้ร่วมกันสกัดเป็นแนวคิด ความท้าทายและสิ่งที่อยากจะเห็น ดังนี้
1) กระทรวงศึกษาธิการควรเน้นให้สถานศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนที่ชัดเจนและจริงจัง
2) เปิดโอกาสให้สถานศึกษา และจังหวัดมีอิสรภาพในการบริหารการศึกษาด้วยตนเอง
3) ให้อิสระสถานศึกษาในการบริหารหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญโดยการบูรณาการองค์ความรู้ในท้องถิ่น
4) สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการปฏิรูป โดยการปรับกฎ ระเบียบ และระบบวัดผลประเมินผล ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของครู ผู้บริหาร และสถานศึกษา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดกับนักเรียน
5) กลไกระดับจังหวัด ทั้งศึกษานิเทศก์ เขตพื้นที่ และศึกษาธิการร่วมกันสนับสนุนสถานศึกษาให้มีอิสระในการจัดการตนเอง
โจทย์ที่ 2 สร้าง / คัด / พัฒนาครูแบบไหน ให้ตอบโจทย์เด็กไทยทุกคน โดย คุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จากการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ได้มีตัวแทนเข้าร่วมจากมหาวิทยาลัย กสศ. และครูที่สะท้อนความต้องการของโรงเรียน ความท้าทายของการพัฒนาครู ดังนี้ ด้านปัญหาพบว่าการสร้างครูไม่เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งอาจทำให้การสอนของครูไม่ตอบโจทย์ การคัดเลือกครูผู้สอนยังอยู่ในระบบที่มีข้อสอบเหมือนกันทั้งประเทศ ทำให้ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน พื้นที่และชุมชน และ การพัฒนามีอุปสรรคด้วยภาระงานที่มากทำให้ครูไม่มีเวลาพัฒนาตนเอง หรือแม้กระทั่งครูไม่สามารถเลือกสิ่งที่อยากจะพัฒนาได้ ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายได้ สำหรับข้อเสนอ ดังนี้
1) การสร้าง ให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการติดตาม ประเมินผล และการสะท้อนผลกลับเพื่อให้เกิดการปรับหลักสูตร
2) การคัดเลือก โดยการให้โรงเรียนได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการในการคัดเลือก เพื่อให้โรงเรียนได้สะท้อนความต้องการมากขึ้น
3) การพัฒนา โรงเรียนควรมีการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา มี School Concept เพื่อให้สามารถออกแบบการพัฒนาได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
โจทย์ที่ 3 Beyond Schooling การเรียนรู้แบบใหม่ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน โดย คุณวรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้ก่อตั้งเพจ Deschooling Game ความสนุกปลุกการเรียนรู้ จากการพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้ที่ทำงานอยู่ในการเรียนรู้นอกระบบ จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้นอกระบบจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนทักษะบางอย่างที่การเรียนรู้ในระบบทำไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างของระบบการศึกษาค่อนข้างใหญ่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการขับเคลื่อน แต่ด้วยการศึกษานอกระบบหรือการเรียนรู้นอกระบบมีความยืดหยุ่น มีความเป็นเอกชนและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายในการให้ทั้งสองฝ่ายสามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกันได้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอ ดังนี้ สิ่งแรกคือ การผลักดันให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานหรือขับเคลื่อนร่วมกันได้ ประการที่2 การสนับสนุนการเรียนรู้นอกระบบ โดยการให้โรงเรียน สถานศึกษาเข้ามาสนับสนุนและใช้ความยืดหยุ่นของหลักสูตรที่การเรียนรู้นอกระบบสามารถทำได้ จะช่วยทำให้การทำงานร่วมกันในอนาคตง่ายและดีขึ้น และสุดท้าย การได้รับความสนับสนุนหรือออกแบบการสนับสนุนร่วมกันในหลายๆ ด้านจากภาครัฐ
โจทย์ที่ 4 Learning recovery เปิดเรียนใหม่ การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม โดย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสรีบุตร CEO Starfish Education สำหรับการพูดคุยหลักๆ เป็นเรื่องการจัดการศึกษาหลังโควิดส่งผลกระทบอย่างไร และควรปรับตัวอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้แทนจาก UNICEF และกสศ. พบว่า ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนลดน้อยลง ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการถดถอยการเรียนรู้ของเด็ก (Learning Loss) ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบหรือเป็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงช่องว่างที่กว้างขึ้นในการเรียนรู้ของเด็ก และการเข้าถึงสื่อ อุปกรณ์ต่างๆ โดยจะนำไปสู่ข้อเสนอดังนี้
1) การช่วยเหลือเด็กให้สามารถที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยการสร้างความตระหนักในการปรับวิธีการเรียนแบบใหม่อย่างไรในสภาพแวดล้อมที่มีอยู่
2) การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) การสร้างเครือข่ายการศึกษาการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอน
4) การเชื่อมโยงการทำงานของครู
5) การปรับหลักสูตรเพื่อลดสิ่งที่ไม่จำเป็นในการเรียนรู้
6) การพัฒนาครูในด้านทักษะใหม่ๆ ในการสอนเด็กๆ ในรูปแบบของ Hybrid หรือ Online หรือการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
โจทย์ที่ 5 พ.ร.บ.พอหรือไม่ : กติกานโยบายแบบไหน จะพาการศึกษาไทยไปสู่อนาคต โดย คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อค้นพบ 3 ข้อในด้านความท้าทายการจัดการศึกษาในปัจจุบันดังนี้
1) การมีกติกาจำนวนมากในการกำกับ ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนหนึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการ อีกทั้งเกิดจากความไม่ไว้วางใจในการทำงานของครูและโรงเรียน
2) การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ใช้ระยะเวลานาน ซึ่งทำให้ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในปัจจุบัน
3) กติกาอาจมีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย สำหรับข้อเสนอดังนี้
- 3.1) การกระจายอำนาจ เพิ่มอิสระให้ทุกระดับมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น จะทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป
- 3.2) การออกแบบกติกาทางการศึกษาในอนาคต มุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและรับรองสิทธิสวัสดิภาพของผู้เรียนมากขึ้น
- 3.3) ควรมีการอนุญาตให้ทำการทดลองเชิงนโยบาย
- 3.4) ควรให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบ Hybrid และมีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างครู
- 3.5) การออกแบบกติกาที่ดีที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ตลอดจนการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู โรงเรียน และข้ามเส้นแบ่งไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชน นานาชาติ การเรียนรู้นอกหรือในห้องเรียน การทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้ระบบการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
บทความใกล้เคียง
ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต ร่วมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย Starfish Education
“การลดปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย”
Related Courses
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...