ส่งลูกวัยมหา'ลัยไปให้ไกลถึงฝัน ต้องตั้งเป้าหมายไว้สูงแค่ไหนถึงจะพอดี
เมื่อวัยรุ่นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย พ่อแม่ก็อดห่วงและคาดหวังในตัวลูกไม่ได้ เพราะในช่วงเวลานี้เป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของลูกในวัยทำงานว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าชีวิตเป็นของลูก พ่อแม่ควรคอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ไม่ควรก้าวก่าย และใส่ความคาดหวังสูงเกินไป
ลองมาดูแนวทางการให้คำแนะนำลูกจาก Starfish Labz ที่จะไม่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกอึดอัดหรือกดดัน แต่เป็นกำลังใจผลักดันให้ลูกไปถึงเป้าหมายได้อย่างที่หวังกันค่ะ
เรื่องควรรู้ก่อนเลือกคณะ
คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยลูกเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกคณะ ซึ่งก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนอะไรในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เด็กๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ควรมีคำตอบสำหรับสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ก่อนค่ะ
- รู้ความชอบของตัวเอง
ในระดับมัธยมปลาย เด็กๆ อาจจะค้นพบตัวตนในระดับหนึ่งแล้วว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไรจากสายที่เรียน ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์ หรือสายศิลป์ บางคนเมื่อเรียนสายวิทย์แล้ว แต่ค้นพบว่าชอบด้านภาษามากกว่า ซึ่งเป็นแนวทางของเด็กสายศิลป์ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ตราบเท่าที่ชัดเจน และมั่นใจในความชอบของตัวเอง ก็จะทำให้เลือกคณะได้ง่ายขึ้น
คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้ลูกค้นพบความชอบของตัวเองได้ ด้วยการให้ลูกมีโอกาสสัมผัสอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะจากคนรู้จัก พูดคุยกับรุ่นพี่ หรือพาลูกไปทดลองเรียนเสริมในสายงานที่ลูกสนใจ เป็นต้น
- รู้คะแนน และการเปิดรับ
บางคณะแม้จะชอบ อยากเข้าไปเรียน แต่คะแนนการสอบเข้าสูงเกินกว่าคะแนนที่ลูกทำได้ การเลือกคณะนั้นๆ ก็อาจทำให้เสียโอกาสไปฟรีๆ หรือบางคณะเปิดรับไม่มาก ทั้งยังคะแนนสูง ก็ต้องชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบคะแนนดูว่าพร้อมเสี่ยงหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้คำแนะนำ โดยการวางแผนเปรียบเทียบคะแนนสูงต่ำแต่ละคณะ จำนวนที่เปิดรับ และคะแนนของลูก อาจทำตารางเปรียบเทียบออกมาให้เห็นชัดๆ เพื่อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
- สถานที่เรียน
บางมหาวิทยาลัย อาจมีแคมปัสอยู่ในจังหวัดต่างๆ ก่อนเลือกควรศึกษาข้อมูลว่าคณะที่เราเลือกนั้นต้องไปเรียนที่ไหน อย่างไร เพราะการต้องอยู่หอพัก อาจหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ ขณะที่เด็กๆ ก็ต้องเตรียมตัวที่จะออกไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง แต่หากไม่พร้อม ก็อาจต้องเปลี่ยนไปเลือกคณะอื่นๆ แทน
- ความพร้อมของครอบครัว
การเลือกเรียนแต่ละคณะก็มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป อีกทั้งบางคณะยังอาจต้องใช้ระยะเวลาเรียนนานกว่า เช่น คณะแพทย์ฯ พ่อแม่จึงควรพูดคุยกับลูกถึงความพร้อมในข้อนี้ด้วย
หากคณะที่ลูกเลือก มีค่าใช้จ่ายสูง ที่พ่อแม่อาจสู้ไม่ไหว ควรบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา แล้วลองดูว่าคณะดังกล่าวสามารถขอทุนได้หรือไม่ หากไม่ได้ควรทำอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนในครอบครัวต้องหารือรวมกัน
เมื่อคณะที่ใช่ ไม่ถูกใจพ่อแม่
การตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนอะไรในขั้นมหาวิทยาลัยนั้น เปรียบเหมือนการกำหนดชะตาชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะคณะที่เลือกจะกลายเป็นอาชีพของลูกในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่จึงอดเป็นห่วงไม่ได้
แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดของลูกกับพ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ตรงกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพบกันครึ่งทางอย่างไรดี
สำหรับพ่อแม่ หากคณะที่ลูกเลือกไม่ตรงกับใจเรา ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเราถึงไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของลูก พ่อแม่บางคน อาจคาดหวังให้ลูกเป็นหมอ เป็นวิศวะ เพราะเป็นอาชีพในฝันของพ่อแม่ หรือเป็นอาชีพของตระกูล เช่น คุณปู่ คุณพ่อ พี่ ป้า น้า อา เป็นหมอกันหมด ก็เลยคาดหวังให้ลูกเป็นหมอด้วย หากเป็นเช่นนี้ ก็อาจต้องยอมรับว่าพ่อแม่กำลังนำความคาดหวังของตัวเองไปวางไว้บนบ่าของลูก ซึ่งอาจทำให้ลูกกดดัน และไม่มีความสุข
แต่หากไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าคณะที่ลูกเลือก อาจไม่มีงานรองรับในอนาคต ก็ควรมานั่งคุยกับกับลูก เปิดใจฟังว่าเด็กๆ เตรียมความพร้อมอย่างไร หากเลือกคณะนี้ วางแผนการทำงานในอนาคตไว้อย่างไร ไม่แน่ว่าลูกอาจเตรียมตัวและวางแผนชีวิตไว้ดีกว่าที่พ่อแม่คิดก็เป็นได้
ช่วงเวลานี้ พ่อแม่ลูกควรพูดคุยและเปิดใจรับฟังกันให้มาก ควรยึดถือว่าทุกคนเป็นทีมเดียวกัน พ่อแม่คือโค้ช ที่ชี้แนะแนวทาง ส่วนลูกคือผู้เล่นที่ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการตัดสินใจเองว่าจะเลือกเส้นทางไหน พ่อแม่อาจแนะนำลูกได้ว่าแต่ละอาชีพมีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร แต่หากเป็นอาชีพสมัยใหม่ที่พ่อแม่ก็อาจไม่คุ้นเคย เช่น อาชีพในสายงานดิจิตอล ก็อาจชวนลูกมาหาข้อมูลด้วยกัน เพราะยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ก็อาจทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้นเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว การเลือกคณะเพื่อให้ไปถึงเส้นทางที่ลูกฝันนั้น จำเป็นต้องพิจารณาหลายส่วนประกอบกัน ซึ่งหากเตรียมตัวมาพร้อมและมีข้อมูลมากเท่าไร ก็น่าจะยิ่งช่วยให้ชัดเจนในความต้องการ และทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น การพูดคุยกันภายในครอบครัว คือ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกก้าวผ่านขั้นตอนนี้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเลือกได้ ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนนะคะ
Related Courses
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...