แนวทางการพัฒนานวัตกรรมของโรงเรียน
สำหรับการเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมตามแนวทางโครงการ TSQP ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ด้านการลดความถดถอยในการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาสุขภาวะพื้นฐานของผู้เรียน เราจะใช้กระบวนการ PLC, Lesson Study และการสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมของโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง
“นวัตกรรม” เป็นการสร้างสรรค์ คิดค้น พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นสิ่งใหม่ เพื่อที่จะนำสิ่งนั้นไปใช้ในการปฏิบัติจริง เผยแพร่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ ในบริบทของการศึกษา จะอยู่ในเรื่องของการบริหารจัดการทางด้านการจัดการศึกษา และการประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ทั้งนี้ อาจไม่ได้หมายถึง ตัวผลิตภัณฑ์อย่างเดียว อาจจะเป็นวิธีการหรือรูปแบบของการดำเนินงาน กระบวนการก็ได้ ซึ่ง ดร.ชัยยศ เรืองสุวรรณ ได้มีการจัดแบ่งนวัตกรรมทางการศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้โรงเรียนสามารถพัฒนานวัตกรรมได้ตรงประเด็น และนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรือการบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม เช่น การพัฒนาหลักสูตร รูปแบบวิธีการในการจัดการเรียนการสอน เครื่องมือสื่อสำหรับครูและผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้ แนวทางหรือวิธีการในการวัดและประเมินผล และการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน
สำหรับกรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรม เป็นการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) สามารถแบ่งได้ 5 ขั้น ดังนี้
1) การทำเข้าใจกับปัญหา/ผู้ใช้ (Empathize) ว่าผู้ใช้มีความต้องการ สนใจหรือปัญหาอะไร
2) การกำหนดปัญหา (Define) อะไรคือสาเหตุของปัญหา และทำการกำหนดประเด็นที่จะแก้ไขให้ชัดเจน
3) การระดมความคิด (Ideate) ในการหาวิธีการ รูปแบบในการแก้ปัญหา โดยผ่านการมีส่วนร่วมของบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียน ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความจำเป็น ความต้องการของผู้ใช้จริง และความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม
4) การสร้างต้นแบบ (Prototype) เป็นการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเพื่อนำมาทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย
5) ทดสอบ (Test) เป็นการทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายจริง และทำการสะท้อนคิดเพื่อทำการปรับปรุงต้นแบบให้ดีขึ้น
การพัฒนานวัตกรรมของโรงเรียน ตามแนวทางการคิดเชิงออกแบบ
1. โรงเรียนจะต้องกำหนดประเด็นในการพัฒนาปัญหา หรือหัวข้อที่สนใจ (การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ การลดความถดถอยในการเรียนรู้ และการพัฒนาสุขภาวะพื้นฐานของผู้เรียน) ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ประเด็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน
2. พัฒนานวัตกรรมผ่านกระบวนการ PLC ภายในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมของครู บุคลากรในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ที่จะนำนวัตกรรมไปใช้ชั้นเรียน
3. การนำนวัตกรรมเข้าสู่ชั้นเรียน ซึ่งเป็นการออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยในตัวแผนการจัดการเรียนรู้ จะต้องมีการกำหนด Learning outcome (ตัวชี้วัด สมรรถนะ ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะต่างๆ) ให้มีความชัดเจน กำหนดรูปแบบในการวัดและประเมินผล การจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งเก็บหลักฐานที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนและจากที่ครูได้เก็บรวบรวม เพื่อนำไปสู่การสรุปผลการใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้
กรอบแนวคิดการสร้างนวัตกรรมในแต่ละด้าน
ด้านที่ 1 การพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เป็นส่วนที่ต้องทำความเข้าใจทั้งโรงเรียนในเรื่องของกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ หลักสูตรและนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ให้มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์โรงเรียน (School Concept) ในการส่งเสริมสมรรถนะหลักของผู้เรียน และสมรรถนะตามรายวิชา องค์ประกอบของนวัตกรรมมาจากกระบวนการ PLC และการใช้ Lesson Study สะท้อนผลการใช้นวัตกรรม โดยการมีส่วนร่วมทั้งฝ่ายวิชาการ กลุ่มสาระวิชา ชุมชน/เครือข่าย และผู้เชี่ยวชาญ/พี่เลี้ยง สำหรับขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรม ประกอบด้วย แนวทางในการกำหนดตัววัตถุประสงค์สมรรถนะ เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสะท้อนกลับสู่โรงเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็ก
ด้านที่ 2 การลดความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน กระบวนการพัฒนายังใช้กระบวนการ PLC และ Lesson Study ไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนอยู่ ผู้ที่มีส่วนร่วม/ผู้เกี่ยวข้องยังคงเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างจากการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ คือ โรงเรียนอาจจะต้องมีการจัดทำข้อมูลภูมิหลังของผู้เรียนที่ค่อนข้างเป็นระบบ สามารถที่จะดึงข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ความถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ และกำหนดแนวทาง นโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยผ่านการพัฒนาครู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเนื้อหาสาระ วิธีการสอน เทคโนโลยีและสื่อ เพื่อลดความถดถอย ทั้งนี้ รูปแบบนวัตกรรม อาจจะอยู่ในรูปแบบการสอนเสริม การสอนทางไกล ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการเรียนการสอนรายบุคคล และดูผลลัพธ์ว่า Effect Size และสะท้อนผลมายังฝ่ายวิชาการ โรงเรียน ตลอดจนนำผลสะท้อนกลับยังผู้ปกครอง
ด้านที่ 3 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสุขภาวะพื้นฐานของผู้เรียน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาตรฐานโรงเรียนปลอดภัย กฎหมายและหลักสิทธิเด็ก ด้านการออกแบบนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ หรือห้องเรียนแห่งความสุข โดยการพัฒนาสุขภาวะพื้นฐาน โรงเรียนสามารถที่จะเลือกด้านใดด้านหนึ่ง หรือมากกว่าได้ ในด้านสุขภาพกายและจิต สังคมและอารมณ์ ความฉลาดรู้ คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอาจถูกใช้ในหน่วยการเรียนรู้ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีในโรงเรียน และต้องมีการวัดผลเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ครูประจำชั้น/วิชาค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในการนำเครื่องมือสุขภาวะพื้นฐานไปใช้
เห็นได้ว่า ทั้ง 3 แนวทาง ใช้กระบวนการในการพัฒนานวัตกรรมผ่านกระบวนการ PLC ซึ่งในการทำ PLC นี้ เสนอแนะว่า ครูสามารถนำกระบวนการ STEAM Design Process เป็นตัวขับเคลื่อนได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการคิดเชิงออกแบบ ทั้ง 5 ขั้นตอน ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการทำ PLC เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย การสร้างนวัตกรรม การกำหนดกลุ่มผู้ใช้นวัตกรรม การอบรมครูเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมไปใช้งาน การวางแผนการนำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ การสร้างและออกแบบเครื่องมือในการวัดและประเมินผล การวางแผนการจัดการเรียนรู้ การสังเกตชั้นเรียน การสะท้อนผลการใช้นวัตกรรม การวิเคราะห์ขนาดของผล (Effect Size) และการทำบันทึกการสอนส่งฝ่ายวิชาการหรือสะท้อนในวง PLC จะเห็นว่าการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสอดคล้องกับการทำงานของครูได้
ในการนำต้นแบบนวัตกรรมไปทดลองใช้ในชั้นเรียน ผ่านกระบวนการ Lesson Study แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ
1) ขั้นวางแผนการสอน โดยการวิเคราะห์หลักสูตร การกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ และทำแผนการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ PLC
2) ขั้นปฏิบัติการ การนำแผนมาใช้ในการเรียนการสอน โดยมีเพื่อนครูที่ร่วมทำ PLC ทำการสังเกตการสอน
3) ขั้นสะท้อนผล เป็นขั้นตอนในการปรับปรุง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งก็จะสอดคล้องกับกระบวนการ STEAM Design Process ในการนำนวัตกรรมไปใช้ และเป็นกระบวนการในการช่วยพัฒนานวัตกรรม รวมถึงสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้
สำหรับการวิเคราะห์นวัตกรรมที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถที่จะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ Effect Size นำมาวิเคราะห์ผลการประเมินผู้เรียนเปรียบเทียบระหว่างก่อน-หลังเรียนได้ กรณีถ้าค่ามากกว่า 0.4 ขึ้นไป แสดงว่า เครื่องมือ วิธีการต่างๆ ที่เลือกมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ถ้าค่าอยู่ในระหว่าง 0.2 – 0.4 หมายความว่า อาจจะมีจุดอ่อนอยู่ ผู้เรียนบางคนอาจได้รับการพัฒนา หรือพัฒนาน้อยมาก ซึ่งจุดนี้ครูสามารถนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุงเครื่องมือ รูปแบบในการจัดการเรียนรู้ เลือกใช้/เปลี่ยนสื่อให้มีความเหมาะสม และค่าตั้งแต่ 0 – 0.2 หมายความว่า ผลของการจัดการเรียนรู้ และการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าผลติดลบ แสดงว่า วิธีการสอนหรือเครื่องมือให้ผลทางลบ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสน อาจจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องมือ/วิธีการสอนใหม่ หรืออาจจะต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนเสริม เป็นพิเศษ
จะเห็นได้ว่า ถ้าภาพรวมของโรงเรียน กรณีที่ไม่มีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ครูก็สามารถเลือกการจัดการเรียนการสอน เลือกรูปแบบการสอนเอามาใช้จัดการเรียนการสอน หรือกรณีที่มีการพัฒนานวัตกรรม สามารถเลือกใช้นวัตกรรมของโรงเรียนมาจัดการเรียนการสอน มีการวิเคราะห์ มีการบันทึกหลังการสอน มีการสะท้อนผลผ่านเครื่องมือต่างๆ และสะท้อนกลับมายังฝ่ายวิชาการ ครูผู้สอน ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการสามารถรวบรวมข้อมูลจากครูผู้สอนแต่ละคนเพื่อดูภาพรวมของโรงเรียนได้
บทความใกล้เคียง
กิจกรรม TSQP Kick Off, Leader Workshop และ Teacher Workshop โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ต่อเนื่องในปี 2564
การสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP Kick off ครั้งที่ 2
EDU Talk : Creative Classroom
Related Courses
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
การติดตาม ปรับปรุง และผลการสะท้อนกลับ
การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน เป็นการกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการ ...