มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย Starfish Education
5 มาตรการฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอยในเด็ก (Learning Loss) โดย ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education พร้อมกรณีศึกษาจากโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่ออกแบบการเรียนรู้ควบคู่กับการเรียนออนไลน์ในวิกฤตการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมของเด็กๆ
โรงเรียนบ้านปลาดาว คือหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบที่นำ 5 มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็กมาใช้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ผ่าน Learning Box โดยจัดทำและจัดส่งไปที่บ้านของนักเรียน พร้อมกับส่งครูลงพื้นที่ไปยังชุมชน เพื่อทำงานร่วมกับอาสาชุมชน เช่น ผู้ปกครอง และรุ่นพี่อาสา เพื่ออธิบายการใช้งาน และออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยให้เด็กๆ เรียนที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และติดตามแก้ไขปัญหาที่พบในแต่ละบ้านได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กต้องได้รับความเอาใจใส่ คอยช่วยเหลือจากผู้ปกครองเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกอยู่เสมอ ส่วนเด็กโตก็เรียนออนไลน์ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมร่วมด้วย และต่อไปนี้ คือ 5 มาตรการ ดังกล่าว
“ทำความเข้าใจปัญหา ประเมินสถานการณ์ และบริบทแวดล้อมรอบตัวเด็ก”
มาตรการที่ 1. ประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ (Landscape Assessment)
- ทำข้อสอบวัดความรู้เพื่อทดสอบว่าเด็กมีความรู้ที่ถดถอยลงหรือไม่
- ออกสำรวจพื้นเพของแต่ละครอบครัว โดยครูจัดทำตารางเยี่ยมตามบ้าน
- ทำแบบสำรวจประเมินความพร้อมเรียนออนไลน์ ว่าแต่ละครอบครัวสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และการบริการอินเทอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน
“นัดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียนประชุมหารือกันเพื่อวางแผนรับมือ”
มาตรการที่ 2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Planning) เพื่อสร้างความพร้อมและความมั่นใจให้แก่บุคลากรของโรงเรียน
โรงเรียนกำหนดบทบาทหน้าที่ของครู
- ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละระดับชั้นและรายวิชา
- วางมาตรการความปลอดภัยในการดำเนินงาน
- วางแผนบริหารจัดการทรัพยากร
- วางแผนบริหารจัดการงบประมาณ
- ขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง
โรงเรียนกำหนดระยะเวลาและสถานที่เรียนทางไกลที่เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น ใน 1 วันนักเรียนควรเรียนออนไลน์เพียงวันละ 3 คาบ คาบละ 40-50 นาที และระหว่างวันจะต้องสอดแทรกกิจกรรมที่หลากหลายควบคู่ไปกับการเรียนผ่านหน้าจอด้วย โดยจะต้องกำชับผู้ปกครองให้คอยตรวจสอบดูแล เป็นต้น
“ออกแบบเนื้อหาใหม่สำหรับเรียนออนไลน์ให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย”
มาตรการที่ 3. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู (Professional Development Support for Teachers)
- ช่องว่างระหว่างการเรียนรู้ คือ จัดอบรมครูให้เข้าใจปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนเกิดอุปสรรคทางการเรียนรู้
- หลักสูตร จัดอบรมครูเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย
- เครื่องมือครู จัดสรรเครื่องมือและอุปกรณ์การสอนให้แก่ครู เพื่อเตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนทุกรูปแบบ ทั้ง online, on-hand, และ on-site
นี่เป็นเรื่องใหม่ที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างตอบโจทย์ Starfish Education เห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาครู จึงได้มีการจัดอบรมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์อยู่เสมอ ยกตัวอย่างหัวข้อการอบรม เช่น เรื่องการสร้างสื่อการสอน และการให้เทคนิคการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ให้น่าสนใจ
“คอยหาทางช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้นักเรียนที่เรียนตามเพื่อนไม่ทัน”
มาตรการที่ 4. การช่วยเหลือเด็กเรียนรายบุคคล (Intervention and Support for Students) เป็นมาตรการที่ Starfish Education ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ประกอบไปด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ดังนี้
- การวางแผนการเรียนรายบุคคล: คุณครูวางแผนการเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคล เพราะเด็กมีการเรียนรู้ถดถอยที่แตกต่างกันทั้งสภาพแวดล้อมและสภาพครอบครัว หากไม่สามารถทำเป็นรายบุคคลได้ อย่างน้อยคุณครูจะต้องช่วยเป็นรายกลุ่ม ต้องช่วยกันดูแลทั้งที่บ้าน และในส่วนของโรงเรียนเองจะต้องคำนึงถึงการออกแบบกิจกรรม ที่จะต้องตอบโจทย์นักเรียนรายบุคคล
- อุปกรณ์การเรียน และการสนับสนุนด้านสุขภาวะ : โรงเรียนบ้านปลาดาวได้สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ และนวัตกรรมการเรียนรู้ อย่าง Learning Box (กล่องการเรียนรู้) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ และทักษะที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการสอนแบบออนไลน์ได้ ซึ่งในกล่อง Learning Box จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัย Booklet /3R กิจกรรม Makerspace/ กิจกรรมทักษะชีวิต แตกต่างตามช่วงวัย ได้แก่ ชั้นปฐมวัย และประถมศึกษา ร่วมถึงในกล่องมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะของเด็กนักเรียน (Well-being) จากสมุด ‘Fun Activities’ ที่รวบรวม 10 กิจกรรมสร้างความสุข / 10 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกาย / 10 กิจกรรมสร้างความเป็นเด็กดี ให้เด็ก ๆ สามารถฝึกได้ที่บ้าน นอกจากนี้โรงเรียนบ้านปลาดาวยังมีกิจกรรมชื่อว่า ‘นักจิตวิทยาแวะมาเล่น’ เดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที เพื่อพูดคุยและทำกิจกรรมกับนักเรียนระดับชั้นป.4-6 เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ
- การช่วยเหลือทางครอบครัว : โรงเรียนบ้านปลาดาวส่งครูลงพื้นที่เพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแลนักเรียนในชุมชน โดยได้ประสานงานร่วมกับผู้ปกครองอาสา รุ่นพี่อาสาในชุมชน เพื่อช่วยเหลือ และอธิบายการใช้งานกล่องการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่สามารถสอนหนังสือนักเรียนเองได้ โดยจัดให้มีทีมลงพื้นที่ 2 สาย โดยแต่ละสายจะมีทั้งครูอนุบาล และครูประถมศึกษาลงพื้นที่ไปด้วยกัน หากพื้นที่ใดไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เราก็จะมีผู้ปกครองอาสาที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เข้าไปทำหน้าที่แทน
“ติดตามพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่องแล้วนำมาพัฒนาการสอนอยู่เสมอ”
มาตรการที่ 5. (การติดตามปรับปรุงและผลสะท้อนกลับ (Monitoring and Intervention Redesign)
- การพัฒนา
- ผลตอบรับ
- การประเมิน
เพื่อให้ทิศทางการวัดผลของโรงเรียนปลาดาวมีความเป็นระบบ จะต้องติดตาม ประเมิน และนำมาปรับรูปแบบการทำงานร่วมกับทีมอยู่เสมอ เพื่อการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา
Starfish Education หวังว่ากรณีศึกษาจากโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่ได้ดำเนินการนำ 5 มาตรการฟื้นฟูความรู้ถดถอยในเด็ก มาเป็นกรอบตั้งต้นและเป็นกลยุทธ์ในการทำงานกับสถานการณ์เช่นนี้ จะช่วยทำให้ผู้อำนวยการ คุณครู หรือนักการศึกษาได้ไอเดียและต้นแบบในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อคุณครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนจะรับประโยชน์จากการปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนในชีวิตวิถีใหม่ให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็กๆ ได้ดีขึ้นนะคะ
Related Courses
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอย
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ เรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ส่ง ...
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...