งานเสวนา : โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ “ปิด GAP ห้องเรียนในยุคโควิด-19”
Starfish Education ได้ดำเนินการทั้งด้านนวัตกรรมและการมีภาคีเครือข่ายทำงานในพื้นที่ ในเรื่องของ Learning Losses เชิงพื้นที่ เห็นอะไรบ้าง
ในที่นี้ขอเปิดประเด็นในสิ่งที่เรามองเห็น และสิ่งที่เป็นสัญญาณ อย่างเช่น ช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมานาน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดที่เป็นวิกฤติซ้ำซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนหรือนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง
ทางโรงเรียนบ้านปลาดาวและมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ ได้พยายามทำให้ช่องว่างในการเรียนรู้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของการทำ Remote Learning ด้วยวิธีการต่างๆ การประเมินการเรียนรู้ ตลอดจนการดำเนินการทั้งในด้านเชิงวิชาการ เชิงทฤษฎี และในด้านการปฏิบัติ ทั้งนี้ ถ้าจะพูดถึงคำจำกัดความ Learning Losses หรือการเรียนรู้ที่ถดถอย ในมุมมองของ Starfish สิ่งที่จะต้องควรระวังในผู้เรียนมี 3 เรื่อง คือ ด้านวิชาการ ด้านพัฒนาการ และด้านสังคม เนื่องจากที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน สิ่งที่หายไปก็คือเรื่องของพัฒนาการ เพราะฉะนั้น ในการเปิดเทอมที่จะถึงนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องมองถึงปัจจัยเหล่านี้
ในภาพของการจัดการศึกษาทั้งประเทศ อยากจะให้คำนึงว่าสิ่งที่เด็กไม่ได้เรียนรู้ หรือว่าสิ่งที่ขาดหายไปในระหว่างที่ไม่ได้เรียน On-site มีอะไรบ้าง โดยทาง Starfish ได้วางมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยทั้ง 5 ด้าน ดังนี้ คือ
1) การประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ ว่าเด็กมีการเรียนรู้ถดถอยหรือไม่ เด็กมีพัฒนาการเป็นอย่างไร การต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนการสนับสนุนต่างๆ จากครู โรงเรียนและผู้ปกครองในการเติมเต็มช่องว่างให้กับเด็กในรูปแบบใด
2) การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อที่จะช่วยฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็กอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน การตั้งทีมคณะทำงาน ทรัพยากร งบประมาณ ระยะเวลาต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้แผนที่วางไว้ในการช่วยฟื้นฟูถูกดำเนินการไปได้อย่างดี
3) การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อที่ครูสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนได้ถูกในการช่วยเหลือเด็กได้ถูกต้อง รวมถึงการสร้างสื่อช่วยเหลือในด้านของการพัฒนาครู เพราะฉะนั้น การเตรียมความพร้อมตรงนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเป็นแรงสนับสนุนให้กับครูในการที่จะทำงาน
4) การช่วยเหลือนักเรียน คือ การออกแบบที่มองเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอน การเรียนส่วนบุคคล การฝึกฝน อุปกรณ์การเรียน การสนับสนุนด้านสุขภาวะ การช่วยเหลือทางครอบครัว
5) การติดตาม ปรับปรุงและผลสะท้อนกลับ ที่ต้องเฝ้าสังเกตและประเมินรวมถึงการปรับรูปแบบในการทำงานเป็นทีมของโรงเรียน รูปแบบในการพัฒนาครู รูปแบบในส่วนของการแทรกแซงที่ทำกับผู้เรียนและใช้ระยะเวลาสั้น ซึ่งทั้ง 5 มาตรการ เป็นกรอบที่โรงเรียนบ้านปลาดาวได้ดำเนินการที่จะช่วยเหลือเด็ก ช่วยให้เด็กกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้อย่างมีความสุข สามารถที่จะก้าวหน้าแล้วเดินทางในการศึกษาของเขาต่อไปได้
ในฐานะของคนที่มีประสบการณ์การปิดช่องว่างของห้องเรียนในยุคโควิด – 19 มีเครื่องมือหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไร สำหรับครูในพื้นที่อื่นๆ หรือว่าโรงเรียนอื่นๆ ที่อยากจะฟื้นฟูการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องวิชาการ
จริงๆ แล้วมีหลายอย่างที่อาจจะต้องคำนึงถึง คือ
1) การเช็คสุขภาวะกายและใจของผู้เรียน ว่าเด็กที่เข้ามาในวันเปิดเทอมเป็นอย่างไร มีการประเมินสถานการณ์ครอบครัวเป็นรายบุคคล
2) ไม่เร่งอัดความรู้ในทันที เช่น การติวหรือการให้งานเพิ่มทันที บางครั้งการติวถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการช่วยเสริม แต่อยากให้พึงระวังการใช้ให้ถูกจังหวะและเวลา ตลอดจนคอยมองหาวิธีการเติมเต็มแบบไหนในการช่วยเหลือเด็ก
3) การวางแผนพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล เพื่อดูว่านักเรียนแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือจากครูส่วนไหนเป็นพิเศษ
4) เน้นทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เช่น ทักษะการดูแลตนเอง การมีวินัยในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
5) ประเมินผลบ่อยขึ้นและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่แต่วิธีการสอบแต่อาจจะใช้การสังเกตพฤติกรรมเป็นการประเมินดูว่าเด็กที่เข้ามาด้วยสภาพแบบไหนที่เราจะช่วยเหลือได้
6) การสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ การสื่อสารกับผู้ปกครองที่หลายโรงเรียนทำได้ดีมากอยู่แล้วอยากให้ทำต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้ผู้ปกครองได้ช่วยกันทำงานกับครูในการแก้ไขปัญหา
7) การยืดหยุ่นต่อการทำงาน พร้อมปรับเปลี่ยนแผนร่วมกับทีมโรงเรียนได้เสมอ
ทั้งนี้ ขอเพิ่มเติมในส่วนของการวิเคราะห์ Learning Losses มากน้อยแค่ไหน ทางโรงเรียนบ้านปลาดาวได้ดำเนินการแล้ว เห็นได้ว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ถดถอยที่แตกต่างกัน เมื่อวิเคราะห์จากผลทดสอบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 โดยใช้ข้อสอบ NT จากชุดที่นักเรียนเคยทำ พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ลดลงมากกว่าด้านภาษา และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5มีความสามารถด้านภาษาลดลงมากกว่าด้านคณิตศาสตร์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กกลุ่มเก่งมีความรู้ถดถอยมากกว่ากลุ่มอ่อนทั้ง 2 ระดับชั้น แต่ในการประเมินเป็นผลการประเมินแค่ครั้งเดียว อาจจะต้องมีการปรับอยู่ สำหรับเครื่องมือการวัดการเรียนรู้ที่ถดถอยด้านวิชาการ สิ่งที่ได้พัฒนาแนวทางในการวัดว่าเด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถดถอยอย่างไร คือ การดึงประเด็นในข้อสอบ NT หรือ O-Net จากชุดที่เด็กเคยทำ โดยวิเคราะห์จากสิ่งที่เด็กต้องรู้จากตัวชี้วัดรายวิชาในข้อสอบ และนำมาจัดเป็นชุดข้อสอบใหม่ ซึ่งในการหนุนเสริมต่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย คือ การใช้ขนาดอิทธิพล (Effect Size) เป็นเครื่องมือในการวัด โดยการที่ครูใส่คะแนน Intervention สิ่งที่ทำหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนไป มีการประเมินก่อน-หลังทำ และทำการวิเคราะห์ผล Effect Size ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้ หรือเป็นแนวทางในการวัดได้
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร
นักการศึกษานวัตกรรมใหม่ CEO ของ Starfish Education
Related Courses
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...