เมื่อลูกมีคำถามเรื่อง "ศาสนา" เรามาชวนพ่อแม่หาคำตอบ
เรื่องของศาสนากับลูก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เรียกได้ว่ามาแรงในช่วงนี้ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเมืองเลย วันนี้เรามาชวนคุยเรื่องนี้กันค่ะ ว่าเมื่อเด็กๆ อยากเปลี่ยนศาสนา หรือไม่อยากมีศาสนาอีกต่อไป พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?
ในสมัยก่อนเรามักได้ยินได้ฟังกันมาว่า ถ้าอยากจะชวนใครคุย ขอให้งด 2 เรื่อง คือเรื่อง
“ศาสนา” กับ “การเมือง” แต่เรามาชวนให้เห็นต่างค่ะ เราเชื่อว่าทั้ง 2 เรื่องนี้พูดคุยกันได้ และควรจะคุยกันด้วย เพื่อเปิดมุมมองที่บางครั้งเราก็มองไม่เห็น และสร้างความเข้าใจกันที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
เมื่อเด็กๆ อยากเปลี่ยนศาสนา พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?
ก่อนอื่นเราอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติก่อน บางคนอาจจะโกรธ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงคิดแบบนี้ ขอให้เชื่อเถอะค่ะว่าโมโหแล้วบ่นด่าลูกไป ก็ไม่ช่วยอะไรหรอกค่ะ รังแต่จะสร้างความขัดแย้งมากกว่า สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วลองทำตามนี้ดูค่ะ
- สอบถามถึงสาเหตุ
เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดทุกอย่างนั้นมีเหตุผลค่ะ เรื่องการเปลี่ยนศาสนาก็เช่นกัน ลองพูดคุยกันดูค่ะว่าเหตุผลนั้นคืออะไร? เช่น ลูกอาจจะเห็นว่าศาสนาอื่นน่าสนใจกว่า? มีคำสอนที่ถูกจริตเขามากกว่า มีเหตุมีผลที่น่าเชื่อมากกว่า? หรือมีกิจกรรมที่โดนใจเค้ามากกว่า หรือลูกได้รับอิทธิพลจากศาสนาอื่นจากสิ่งแวดล้อม เช่น มีเพื่อนนับถือเยอะ หรืออยู่โรงเรียนที่สอนศาสนานั้นๆ
- ค้นคว้าข้อสงสัย ตามหาคำตอบ
เรานับถือศาสนาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนื่ยวทางจิตใจ แต่เมื่อมีปัญหาแล้วศาสนานั้นไม่สามารถให้คำตอบเขาได้ จากศรัทธาจะกลายเป็นความสงสัย และเมื่อไม่มีคำตอบที่อธิบายได้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะหาคำตอบจากศาสนาอื่น ซึ่งถ้าบางครั้งคำตอบที่ได้จากศาสนาอื่นมันคลิกกับความคิดเขามากกว่า ก็เป็นไปได้ที่เขาจะเลือกเปลี่ยนไปนับถือศาสนานั้นเพราะเข้าใจเขามากกว่า
- ให้ลูกได้เลือก
เราต้องวางความคิดที่ว่าลูกถูกชักจูงลงก่อน เปลี่ยนมาให้เหตุผล และเปิดโอกาสให้เขาได้เลือกดีกว่าค่ะ เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่มองว่าการนับถือศาสนา ก็เป็นเรื่องของ
“สิทธิ์” ที่ลูกสามารถเลือกได้ เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ
ลองกำหนดช่วงเวลาเขาได้ศึกษาศาสนาใหม่ เช่น จะเปลี่ยนได้แต่ขอให้บรรลุนิติภาวะก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้เข้าใจศาสนานั้นๆ อย่างชัดเจนจริงๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องให้คำตอบในเรื่องที่ลูกสงสัยในศาสนาที่เขานับถือในปัจจุบันด้วย เพราะก่อนที่เขาจะก้าวออกไป เขาต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาเคยอยู่ด้วยเช่นกัน
เมื่อเด็กๆ ไม่อยากนับถือศาสนาอีกต่อไป พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?
ปัญหานี้ก็เป็นอีกเรื่องที่มาแรงเช่นกัน เรามีข้อมูลมาให้คุณพ่อคุณแม่ลองขบคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้กันค่ะ
- การไม่มีศาสนาเป็นเรื่องแปลกไหม?
เรามีข้อมูล *จากผลสำรวจองค์กรพิว (The Pew Forum on Religion & Public Life) พบว่าจำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนา (Irreligious Persons) ทั่วโลก เพิ่มมากขึ้นสูงถึง 1,100 ล้านคน มากเป็นอันดับสาม รองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม โดยประเทศที่มีผู้ไม่นับถือศาสนามากที่สุดคือประเทศจีน 700 ล้านคน รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น 72 ล้านคน และสหรัฐอเมริกากว่า 51 ล้านคน
- การไม่นับถือศาสนาเป็นเรื่องผิดไหม?
เราจะไม่ฟันธงว่าผิดหรือถูก แต่เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำลายมายาคติที่ว่าเราจำเป็นต้องมีศาสนาออกก่อน จากสถิติทั่วโลกเราเห็นแล้วว่ามีคนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่มีศาสนา และใช้ชีวิตอยู่ได้ เราขอมองว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของสิทธิ์ มากกว่า
เพราะถ้าเรามีสิทธิ์เลือกที่จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ ก็ไม่แปลกถ้าเราจะมีสิทธิ์เลือกว่าจะไม่นับถืออะไรเลยก็ได้เช่นกัน
หลายคนคงคิดว่าโลกเราเปลี่ยนไปไกลมาก จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะนึกไม่ถึงว่าจะต้องมานั่งคุยประเด็นนี้ ที่คนรุ่นเราไม่กล้าแม้แต่จะคิด แต่นี่ล่ะค่ะ สุดท้ายแล้วอนาคตคือพื้นที่ของลูกค่ะ ไม่ใช่พื้นที่เราอีกต่อไป ดังนั้นลองนั่งขบคิดและพูดคุยค่ะ เรามองว่าทุกเรื่องย่อมต้องมีทางออกเสมอ
ที่มา : ผิดหรือที่จะไม่นับถือศาสนา? เมื่อความเชื่อและความไม่เชื่อต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
สุขภาพเด็กวัยเรียนสำคัญอย่างไร
การเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กในวัยเรียนที่ครูและผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก ในด้านก ...