ทำอาชีพเสริมอย่างไรไม่กระทบการเรียน
ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กๆ มีช่องทางและโอกาสสร้างรายได้มากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ วัยรุ่นหลายๆ คนจึงมองหาวิธีสร้างรายได้ ไม่ว่าจะผ่านโลกออนไลน์ อย่างเช่น การเป็นยูทูปเบอร์ แคสเกมส์ สร้างคอนเทนต์ต่างๆ หรือออฟไลน์ เช่น ทำงานร้านกาแฟ ขายสินค้าแฮนด์เมด เป็นติวเตอร์สอนหนังสือ แม้ว่าการมีอาชีพเสริมในวัยเรียน จะช่วยให้เด็กๆ มีประสบการณ์และทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ มักจะอดเป็นห่วงไม่ได้คือ ทำอย่างไรไม่ให้อาชีพเสริมมากระทบการเรียนของลูก
ลูกพร้อมไหม...ทำงานในวัยเรียน?
ธรรมชาติของวัยรุ่น คือ ความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ชอบให้ใครออกคำสั่ง หากวันหนึ่ง ลูกเดินมาบอกว่า อยากมีอาชีพเสริม หารายได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ แทนที่จะรีบตอบสนองลูก คุณอาจต้องหยุดคิดสักนิด และค่อยถามคำถามเหล่านี้เพื่อประเมินว่าลูกมีความพร้อมหรือไม่
- ถามสาเหตุว่าทำไมลูกถึงต้องการมีอาชีพเสริม เช่น เป็นการวางแผนเพื่อการทำงานในอนาคตหรือเปล่า หรืออยากหาเพื่อนใหม่ หรือเป็นเพราะเรื่องเงิน?
- อธิบายเรื่องหน้าที่หลักของลูก นั่นก็คือการเรียน ส่วนอาชีพเสริม เป็นส่วนที่เสริมเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะอย่างไรการเรียนย่อมมาก่อน
- ถามถึงแผนคร่าวๆ ของลูกว่าจะทำอาชีพเสริมอะไร สมัครที่ไหน และทำงานเวลาใดบ้าง
เมื่อได้คำตอบทั้ง 3 ข้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าลูกๆ เตรียมตัวมาดีกว่าที่คิด ขณะที่เด็กบางคนอาจไม่มีไอเดียเลยว่า การทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วยคืออะไร หากลูกของคุณอยู่ในกลุ่มที่เตรียมตัวมาดี พอเข้าใจว่าการทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง คุณอาจไม่ต้องให้คำแนะนำมากนัก แต่หากคุณรู้สึกว่าลูกยังไม่เข้าใจการทำงานในวัยเรียน ก็อาจอธิบายให้ลูกเห็นภาพกว้างๆ เช่น ลูกจะมีเวลาว่างน้อยลง ต้องรับผิดชอบมากขึ้น หากลูกพร้อมจะเผชิญสิ่งเหล่านี้ การให้เขามีประสบการณ์ทำงานสักครั้งก็อาจไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
เลือกงานอะไรดี ที่ไม่กระทบการเรียน
เพราะการเรียนยังเป็นหน้าที่หลัก หากเด็กๆ ต้องการทำอาชีพเสริม ก็ควรเลือกอาชีพที่ใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์ หากเลือกได้อาจเลือกทำงาน 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีเวลาเหลือสำหรับทบทวนบทเรียน ทำการบ้าน รายงาน และมีเวลาส่วนตัวสำหรับการพักผ่อน โดยอาจแบ่งอาชีพเสริมสำหรับวัยเรียนได้เป็น 3 ประเภทคือ งานที่กำหนดเวลาทำงานได้เอง งานรับจ้างพาร์ทไทม์แบบประจำ และงานฟรีแลนซ์
งานที่กำหนดเวลาทำงานได้เอง เช่น ขายสินค้าออนไลน์ หรือขายสินค้าที่ตลาดนัด โดยอาจรับสินค้ามาขายต่อ หรือขายผลงานของตัวเอง เช่น ของแฮนด์เมด หรือกระทั่งอาหารต่างๆ นอกจากนี้ การสร้างเพจ สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ ก็อาจจัดเป็นงานที่ลูกกำหนดเวลาทำงานได้เอง แต่รายได้อาจไม่แน่นอน
งานรับจ้างพาร์ทไทม์แบบประจำ เช่น พนักงานร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมักทำงานเป็นกะ ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน ตามตกลงกัน ข้อเสียของงานประเภทนี้คือ เวลาการทำงานอาจไม่ค่อยยืดหยุ่น อาจส่งผลกระทบต่อเวลาเรียนได้
งานฟรีแลนซ์ เป็นงานรับจ้างที่จบเป็นจ๊อบๆ โดยใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทาง เช่น รับจ้างเป็นติวเตอร์ รับจ้างถ่ายภาพ รับจ้างวาดรูป เขียนบทความ ฯ รายได้ขึ้นอยู่กับการตกลงแต่ละชิ้นงาน ข้อดีคือ บริหารเวลาได้เอง แต่รายได้อาจไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นมีคนจ้างงานหรือไม่
ทักษะทำงาน ไม่ให้กระทบการเรียน
บริหารเวลา : หากลูกมีพื้นฐานการบริหารเวลาได้ดีอยู่แล้ว คือ ตื่นเช้าไปโรงเรียนทันเวลา รับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหน้าได้เสร็จตามกำหนด การทำอาชีพเสริม ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนมากนัก แต่สำหรับเด็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องการบริหารเวลา ไปโรงเรียนสายเป็นประจำ ผิดนัด ทำงานส่งไม่เคยทัน พ่อแม่อาจต้องคอยให้คำแนะนำในช่วงแรกๆ และอาจให้ลูกทำอาชีพเสริมเพียง 1-2 วันต่อสัปดาห์ เพื่อค่อยๆ ปรับตัว
ทักษะการสื่อสาร : ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน เขียน หรือกระทั่งการรับ-ส่งข้อความ ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะในฐานะนักเรียนหรือคนทำงาน ทักษะการสื่อสารที่ดีเสริมให้เด็กๆ มีความมั่นใจ ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้ต้องทำงานซ้ำซ้อน ต้องแก้ไขงาน จนส่งผลกระทบต่อเวลาเรียนได้
รับผิดชอบ : การทำงานส่วนใหญ่ มักต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หากเด็กๆ ขาดความรับผิดชอบ ก็อาจทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบ ก่อนที่ลูกจะเริ่มทำอาชีพเสริม พ่อแม่ควรมั่นใจก่อนว่าลูกรับผิดชอบสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะหากยังไม่สามารถรับผิดชอบเรื่องเรียนได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่จากการทำงานได้ด้วย
สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจว่า จะให้ลูกทำอาชีพเสริมไปพร้อมๆ กับการเรียนหรือไม่นั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องยอมรับว่า อาชีพเสริมในวัยเรียนอาจไม่เหมาะกับเด็กทุกคน พ่อแม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าลูกของเรามีทักษะการบริหารเวลาหรือไม่ มีความเป็นผู้ใหญ่มากเพียงใด และมีความทุ่มเทรับผิดชอบเรื่องงานและเรื่องเรียนพร้อมกันได้หรือไม่ หากคุณยังไม่แน่ใจ อาจให้ลูกลองทำงานในช่วงปิดเทอมก่อน หากเด็กๆ สามารถปรับตัว บริหารเวลาได้ดี ก็อาจค่อยๆ เพิ่มเวลาทำงานมากขึ้นได้
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ สร้างอาชีพเสริมจากสิ่งจากที่ชอบ วิธีการสร้าง concept ของแบรนด์ให้น่าสนใจ รวมไปถึงช่องทาง ...
ทักษะการเขียน Resume ให้ปัง
สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหรือผู้ที่กำลังมองหางานใหม่ เมื่อพูดถึงการเขียน Resume นั้น หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า ประสบก ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 50 เหรียญ