เรื่องต้องรู้ของมือใหม่ Homeschool
หลังจากเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์มาพักใหญ่ๆ หลายครอบครัว อาจเริ่มมองเห็นศักยภาพว่า ครอบครัวเราก็น่าจะจัดการเรียนรู้แบบ Homeschool ให้กับลูกได้ แต่พอจะลงมือจริงๆ อาจยังงงๆ ไม่รู้ว่าควรเริ่มตรงไหน และมีอะไรบ้างที่มือใหม่ Homeschool ควรรู้ บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ
Homeschool ต้องการเวลา
Homeschool เป็นการเรียนรู้ที่ต้องร่วมมือกันทั้งครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากการส่งลูกเข้าโรงเรียนทั่วไป ที่พ่อแม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบค่าเล่าเรียน จัดหาอุปกรณ์การเรียน รับส่งลูกไปโรงเรียน แต่สำหรับการจัดการศึกษาแบบ Homeschool พ่อแม่มีหน้าที่เพิ่มขึ้นมา คือ ต้องเป็นผู้จัดการการศึกษา วางแผนเรื่องการเรียนการสอน รวมทั้งยังต้องจัดการเรื่องเอกสาร เก็บร่องรอยการเรียนรู้ต่างๆ ของลูกด้วย เมื่อตัดสินใจทำ Homeschool ครอบครัวจึงต้องมีความพร้อมลงแรง ลงเวลา มากกว่าการศึกษาทั่วไป
สำหรับเด็กๆ ที่เรียนในระบบ Homeschool ควรต้องรับผิดชอบตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง มีวินัย สามารถจัดแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจต้องสังเกตบุคลิกของลูกด้วย เช่น หากลูกชอบเข้าสังคม ชอบทำงานกลุ่ม เรียนรู้ได้ดีหากมีเพื่อนคอยช่วย หากเลือกทำ Homeschool ก็อาจจัดการศึกษาแบบกลุ่มครอบครัวเรียนรู้ร่วมกัน เข้าร่วมเครือข่าย Homeschool เพื่อให้เหมาะสมกับบุคลิกของลูก
ครอบครัวมีสิทธิจัดการศึกษาตามกฏหมาย
Homeschool ถูกกฏหมายหรือเปล่า? ไม่ส่งลูกไปโรงเรียนตำรวจไม่จับเหรอ? คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่พ่อแม่ Homeschool อาจต้องเจอค่ะ เพราะฉะนั้นเตรียมคำตอบให้พร้อม อย่าให้คำถามเหล่านี้ ทำให้จิตใจหวั่นไหวในหนทางที่เลือกเดิน เพราะการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็น สิทธิที่ครอบครัวสามารถกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 มาตรา 12 ระบุว่า ให้สิทธิครอบครัวจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับบุตรของตนเองได้ โดยต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จดทะเบียนกับโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนที่มีโครงการบ้านเรียน ลงทะเบียนเรียนกับหลักสูตรต่างประเทศ เรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกล และเรียนกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน (กศน.)
Homeschool ไม่ได้มีแบบเดียว
สำหรับมือใหม่ Homeschool อาจเข้าใจว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว จำกัดอยู่เพียงการเรียนรู้ที่บ้านเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว Homeschool สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย เช่น หากจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ่อแม่อาจสอนลูกเองในบางวิชา และหาครูหรือผู้เชี่ยวชาญวิชาอื่นๆ มาสอนลูกด้วยก็ได้ หรือพาลูกไปร่วมเรียนรู้กับเครือข่ายบ้านเรียนต่างๆ หรือสำหรับผู้ที่จดทะเบียนกับศูนย์การเรียน เด็กๆ จะมีโอกาสได้เข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในศูนย์การเรียน ดังนั้น คำว่า Homeschool จึงไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องเรียนอยู่ที่บ้านอย่างเดียว ครอบครัวสามารถเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตและบุคลิกการเรียนรู้ของลูกได้
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคืออะไร
มือใหม่ Homeschool เมื่อค้นคว้าหาข้อมูลการทำบ้านเรียน มักจะพบคำว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอยู่บ่อยครั้ง และอาจเข้าใจว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น ก็คือสำนักงานเขตที่เราอาศัยอยู่ หากคุณกำลังคิดเช่นนั้น อยากบอกว่า คุณเข้าใจผิดค่ะ แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่สับสน พ่อแม่ Homeschool มือใหม่จำนวนหนึ่งก็สับสนระหว่างสำนักงานเขต กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเช่นกัน
จริงๆ แล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นคนละแห่งกับ สำนักงานเขต ที่เราไปติดต่อทำบัตรประชาชน โดยสิ้นเชิงค่ะ โดยเขตพื้นที่การศึกษา เป็นระบบการจัดแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาการปกครองที่จัดแบ่งโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อจัดระบบและกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในประเทศไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา โดยการจดทะเบียน Homeschool กับเขตพื้นที่การศึกษา ต้องจดกับเขตพื้นที่ที่เราพำนักอาศัยอยู่เท่านั้น
จดทะเบียนกับศูนย์การเรียนคืออะไร
การจดทะเบียนกับศูนย์การเรียนหรือโรงเรียนที่มีโครงการบ้านเรียน คือการพาเด็กๆ เข้าฝากชื่อเป็นนักเรียนของโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนนั้นๆ โดยใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองตามกฏหมาย ที่ออกโดยโรงเรียนหรือศูนย์การเรียน แต่เด็กๆ อาจไม่ต้องเข้าเรียนเต็มเวลาเหมือนการเรียนทั่วไป ศูนย์การเรียนบางแห่งอาจให้เด็กๆ เรียนอยู่ที่บ้าน แต่ต้องเก็บร่องรอยการเรียนรู้ส่งให้ทางโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนเป็นผู้ประเมิน หรือบางแห่งอาจกำหนดให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งรายละเอียดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละศูนย์การเรียนรู้เอง ซึ่งข้อดีของการจดทะเบียนหรือฝากชื่อกับโรงเรียนที่มีโครงการบ้านเรียน คือ ครอบครัวไม่ต้องกังวลเรื่องการเขียนแผนฯ ไม่ต้องกังวลเรื่องหลักสูตร เพราะศูนย์การเรียนเป็นผู้ดูแลให้
ร่องรอยการเรียนรู้คืออะไร ทำไมต้องเก็บ
สำหรับเด็กๆ ที่อยู่ในระบบโรงเรียน การประเมินผ่านเกณฑ์แต่ละชั้น มักทำผ่านการสอบเก็บคะแนน แต่สำหรับเด็ก Homeschool เราใช้วิธีเก็บร่องรอยการเรียนรู้ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี กิจกรรม การเรียนทุกอย่างที่ลูกทำ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานต่างๆ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ผลงานการประดิษฐ์ ฯลฯ เพื่อเป็นหลักฐานการเรียนรู้ในปีนั้นๆ ของลูก ครอบครัวที่จดทะเบียนกับเขตการศึกษา เมื่อครบปี จะต้องทำรายงานการจัดการศึกษา และรายงานการประเมินที่จำเป็นต้องแนบร่องรอยการเรียนรู้ของลูกประกอบด้วย
การเก็บร่องรอยการเรียนรู้ แนะนำว่าควรทำอย่างเป็นระบบ เช่น ร่องรอยการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล เช่นรูปภาพ คลิป ควรแยกโฟลเดอร์แต่ละกิจกรรม หรือแต่ละรายวิชาชัดเจน ตั้งชื่อไฟล์ใส่วันที่ สำหรับร่องรอยการศึกษาที่เป็น Hard Copy เช่น ชีทการเรียน แบบฝึกหัด สมุดบันทึก รายงานต่างๆ ก็เก็บแยกไว้ตามรายวิชา เมื่อจะนำมาใช้ประกอบการประเมินสิ้นสุดปีการศึกษา ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
Check list สิ่งที่ต้องทำ สำหรับมือใหม่ Homeschool
มาถึงบรรทัดนี้ หากใครยังงงๆ ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนยังไงดี ลองดูเชคลิสต์สิ่งที่ต้องทำ น่าจะช่วยให้การเริ่มต้นของคุณง่ายขึ้นค่ะ
- ตกลงร่วมกันในครอบครัวว่าจะเข้าสู่การทำ Homeschool
- เขียนเป้าหมายและเหตุผลที่ต้องการทำ Homeschool
- วางแผนคร่าวๆ ว่าจะจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้อย่างไร
- พิจารณารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับครอบครัว
- หาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรียนในประเทศไทย
- ตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดการศึกษา
- หาข้อมูล เบอร์ติดต่อ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดของเรา
- หาข้อมูลโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนที่สนใจ
- โทรขอคำแนะนำจาก สนง.เขตพื้นที่การศึกษา หรือศูนย์การเรียน
การทำ Homeschool อาจไม่ได้เป็นเพียงการจัดการศึกษาให้กับเด็กๆ เท่านั้น แต่อาจกลายเป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับทุกๆ กิจกรรมในครอบครัว พ่อแม่ลูก อาจต้องเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ข้อดีของการทำ Homeschool คือ ความยืดหยุ่น ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ จนกว่าจะพบสิ่งที่เหมาะสมกับครอบครัวของเราได้ สำหรับมือใหม่ Homeschool ค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก รับรองว่าไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ
Related Courses
การติดตาม ปรับปรุง และผลการสะท้อนกลับ
การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน เป็นการกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
หากคุณเป็นคนชอบวาดรูป ชอบการขีดเขียน หรือการจดบันทึก อยากลองทำ Visual Note แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรดี คอร์สเ ...
เริ่มต้นทำ Visual Note อย่างง่ายใครๆ ก็ทำได้
ต้องใช้ 50 เหรียญ
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...