เตรียมทักษะให้ลูกพร้อมสำหรับ Homeschool
ครอบครัวที่เลือกทำ Homeschool ก็เหมือนลงเรือลำเดียวกันทั้งพ่อแม่และลูก ทุกคนต่างมีหน้าที่ต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อนำการเรียนรู้ในครอบครัวไปสู่ความสำเร็จ หน้าที่ของพ่อแม่ นอกจากเป็นผู้จัดการศึกษา ก็ต้องพิจารณาดูว่าลูกของเรามีทักษะสำหรับการเรียนรู้แบบ Homeschool หรือไม่ ซึ่งทักษะสำคัญที่ช่วยให้การทำ Homeschool สำเร็จ พ่อแม่อาจช่วยให้ลูกๆ เตรียมพร้อมได้ค่ะ
รักการเรียนรู้
การทำ Homeschool จะประสบความสำเร็จได้ง่ายหากเด็กๆ รักการเรียนรู้ ซึ่งการรักการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องเรียนเก่ง เป็นที่หนึ่งทุกวิชา แต่หมายถึงเด็กๆ มีความกระหายใคร่รู้ในบทเรียน หรือสิ่งที่พบเห็น แล้วสามารถค้นคว้าหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เด็กๆ ที่รักการเรียนรู้ มักจะค้นพบสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นบทเรียนสอนเด็กๆ ได้ เช่น ลูกอาจสนใจเรื่องสีจากธรรมชาติ พ่อแม่อาจต่อยอด นำมาทดลองวิทยาศาสตร์ว่าจะทำให้สีที่ผสมแล้วอยู่คงทนนานที่สุดได้อย่างไร หรือสอนภาษาอังกฤษเกี่ยวกับชื่อเรียกสีต่างๆ ที่แบ่งย่อยตามเฉดสี เช่น สีแดง นอกจาก red ยังมี crimson, magenta, maroon เป็นต้น
การปลูกฝังให้ลูกรักการเรียนรู้ ทำได้ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย เต็มใจตอบคำถามของลูก ไม่แสดงท่าทีรำคาญ มีแหล่งค้นคว้าข้อมูลที่ลูกเข้าถึงได้ง่าย เช่น หนังสือ หรือสอนลูกใช้ search engine อย่างเหมาะสม การปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ เริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี และมีประโยชน์กับเด็กทุกคนไม่เฉพาะเด็ก Homeschool เท่านั้น
ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ
การเรียนรู้ไม่ว่ารูปแบบใด จะประสบความสำเร็จได้ ผู้เรียนต้องมีความมุ่งมั่น ยิ่งหากเป็นการเรียนแบบ Homeschool ที่ไม่มีครูหรือกฏเกณฑ์เหมือนในโรงเรียนคอยกำกับ ผู้เรียนจึงยิ่งต้องควบคุมตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ พ่อแม่ช่วยฝึกให้ลูกมีความมุ่งมั่นได้ โดยอาจแนะนำให้เด็กๆ ลองตั้งเป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายระยะยาว เช่น หากต้องการทำโครงงานออกมาให้ดี เป้าหมายระยะสั้นคือการศึกษาบทเรียนเกี่ยวกับโครงงานนัั้นๆ ให้จบสัปดาห์ละบท เป้าหมายระยะยาวคือ ทำโครงงานสำเร็จภายใน 3 เดือน เมื่อเด็กๆ บรรลุเป้าหมายระยะสั้นไปเรื่อยๆ ความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเองค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังใจไม่ย่อท้อ จนสามารถพิชิตเป้าหมายระยะยาวได้
มีวินัยควบคุมตนเองได้
การเรียนรู้แบบ Homeschool มักไม่ได้ใช้เวลาทั้งวันเหมือนการเรียนที่โรงเรียน ด้วยจำนวนผู้เรียนที่น้อยกว่า บางครอบครัว อาจมีผู้เรียนคนเดียว บางครอบครัวพี่น้องเรียนร่วมกัน 2-3 คน ดังนั้น ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจึงมีสมาธิจดจ่อการเรียนได้ง่ายกว่าอยู่ในห้องเรียนที่มีนักเรียนเยอะๆ ทำให้ในแต่ละวันเด็ก Homeschool มีเวลาว่างที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งในเวลาว่างเหล่านั้น พ่อแม่อาจจัดสรรกิจกรรมสร้างประสบการณ์ชีวิต ผ่านการทำงานบ้าน หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว เด็ก Homeschool จึงต้องดูแลตนเองมากกว่าเด็กในโรงเรียน เพราะไม่มีคาบเรียนและเวลาพัก ที่กำหนดตายตัว เด็กๆ จึงจำเป็นต้องมีวินัยในตนเอง ควบคุมตัวเองได้ว่าเวลาใดควรเรียน ควรทำกิจกรรม ทำงานบ้าน เด็กที่รับผิดชอบตัวเองได้ระดับหนึ่ง จะช่วยทำให้การเรียนการสอนแบบ Homeschool ราบรื่นยิ่งขึ้น
มี Growth Mindset
แนวคิดเรื่อง Growth Mindset คือการปลูกฝังให้คนๆ หนึ่ง เชื่อในความเป็นไปได้ต่างๆ มองว่าทุกอุปสรรคและปัญหาย่อมมีทางออก เด็กที่มี Growth Mindset เมื่อเผชิญความยากลำบาก ก็จะฝ่าฝันและหาวิธีเพื่อไปสู่เป้าหมาย ในทางกลับกัน เด็กที่มี Fixed Mindset เมื่อเผชิญปัญหา เด็กกลุ่มนี้มักคิดว่า ไม่ว่าจะพยายามเท่าไรก็คงแก้ปัญหาไม่ได้ และไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย จึงทำให้ถอดใจล้มเลิกสิ่งต่างๆ กลางคัน อย่างไรก็ตาม
มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า คนเรามีทั้ง Growth และ Fixed Mindset อยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการตอบสนองที่เคยได้รับในสถานการณ์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กๆ พยายามช่วยงานบ้านด้วยการพับผ้า แต่พับไม่เรียบร้อย และถูกตำหนิว่า “พับผ้าไม่เคยเท่ากันเลยนะ ไม่ได้เรื่อง” คำพูดที่ผู้ใหญ่ไม่คิดอะไร แต่อาจฝังใจจนเด็กๆ เชื่อว่าพวกเขาไม่มีความสามารถพับผ้าให้เรียบร้อยได้ ขณะที่เด็กคนเดียวกัน ช่วยแม่ทำอาหาร และได้รับคำชมว่า อาหารอร่อย เด็กก็จะเกิดความมั่นใจในการทำอาหารและกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ
จะเห็นว่าการพูดและวิธีตอบสนองของพ่อแม่มีผลต่อการสร้าง Growth Mindset ให้กับเด็กๆ ค่ะ เมื่อลูกพยายามทำบางสิ่ง แม้ผลลัพธ์อาจยังไม่ดีนัก ควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์เชิงลบ แต่ควรชื่นชมที่ความพยายามของลูก เช่น “แม่เห็นว่าลูกตั้งใจพับผ้า ขอบใจมากนะ ครั้งหน้าลองพับแบบนี้ไหมเผื่อจะง่ายขึ้น” ชื่นชมความพยายามและน้ำใจของลูก และให้คำแนะนำที่เหมาะสมหากทำได้ แทนการตำหนิ วิจารณ์ ตัดสิน ก็จะช่วยสร้าง Growth Mindset ให้เด็กๆ ได้ค่ะ
มีความฉลาดทางดิจิทัล
DQ (Digital Intelligence) ความฉลาดทางดิจิทัล คือ องค์ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ เพราะการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล ยิ่งหากเป็นการเรียนรู้แบบ Homeschool แล้ว เด็กๆ จำเป็นต้องค้นคว้าข้อมูล และทำการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าการเรียนในโรงเรียน ความฉลาดทางดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เด็ก Homeschool เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
DQ ที่เด็กๆ จำเป็นต้องมี คือ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อเท็จจริง ท่ามกลางข้อมูลมากมายที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ สามารถอ้างอิงถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้เหมาะสม รวมทั้งมีความเข้าใจเรื่อง Digital Footprint ว่า ทุกข้อความ คำพูด รูปภาพ ที่นำเข้าสู่โลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าเราจะลบไปแล้วก็ตาม ดังนั้นการใช้งานโลกออนไลน์จึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องเข้าใจเรื่องการเก็บข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย
Homeschool คือ การเรียนการสอนที่เชื่อในศักยภาพของเด็กแต่ละคน เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง อย่างเหมาะสม การสร้างทักษะสู่การเป็นเด็ก Homeschool จะช่วยให้การเรียนรู้โดยครอบครัว เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น Happy Homeschooling นะคะ
Related Courses
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
DIY กระถางต้นไม้ทำมือ
การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น อีกทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย กระถางต้นไม้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกต้นไม้ มาฝึกทำกระ ...