Homeschool เตรียมความพร้อม วันเจ้าหน้าที่ประเมินจบการศึกษา
ขั้นตอนประเมินจบการศึกษาของครอบครัวโฮมสคูล เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กๆ บ้านเรียน กังวลและตื่นเต้นไม่น้อย เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบว่า สิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ตลอดทั้งปี โดยมีพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษานั้นผ่านเกณฑ์หรือไม่ สำหรับครอบครัวไหนที่กำลังกังวลถึงการประเมินจบการศึกษา เรามีข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวให้พร้อมมาฝากค่ะ
ประเมินผลการจัดการศึกษาคืออะไร?
การประเมินจัดการศึกษาโดยครอบครัว ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งซึ่งทุกครอบครัวที่จดทะเบียนบ้านเรียนกับเขตการศึกษาฯ ต้องทำในแต่ละปีค่ะ โดยอาจเรียนจนครบ 1 ปีแล้วประเมิน 1 ครั้ง บางครอบครัวอาจจะตกลงกับเขตการศึกษาที่สังกัดว่า ขอประเมินโดยแบ่งเป็น 2 เทอม ก็จะประเมินปีละ 2 ครั้ง ก็ได้
สำหรับขั้นตอนการประเมินนั้น อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตการศึกษา แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกครอบครัวต้องทำรายงานคุณภาพชั้นเรียนรายปี SAR (Self Assessment Report) และต้องส่งร่องรอยการเรียนรู้ที่เก็บรวบรวมไว้ตลอดทั้งปีให้กับเขตการศึกษาฯ ที่เราสังกัด
โดยรูปแบบการประเมินของแต่ละเขตการศึกษา อาจมีหลายรูปแบบ เช่น
- ให้ครอบครัวส่งรายงานฯ และร่องรอยการเรียนรู้ แล้วจึงนัดพบเด็กและครอบครัว เพื่อทดสอบเด็กว่าได้เรียนรู้ครบตามแผนการศึกษาที่เขียนส่งตั้งแต่ต้นปีการศึกษาหรือไม่
- ส่งรายงานฯ แล้วนัดครอบครัวให้จัดนิทรรศการแสดงร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เขตการศึกษา โดยมีเจ้าหน้าที่เดินชมผลงานของแต่ละครอบครัว พูดคุยกับเด็กๆ เพื่อทำการประเมิน
- ส่งรายงานพร้อมร่องรอยการเรียนรู้ภายในวัน และเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องทดสอบ (รูปแบบนี้ใช้กับระดับอนุบาลโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19)
โดยทั่วไป หากครอบครัวจัดการเรียนการสอนตรงตามแผนการศึกษาที่ส่งให้กับเขตฯ และเด็กๆ เรียนรู้ได้ดีตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ
รายงานการประเมินผลฯ คืออะไร เขียนยังไง?
หลังจากผ่านขั้นตอนการเขียนแผนจัดการศึกษามาแล้ว เมื่อจัดการเรียนการสอนครบปี ก็ถึงเวลาที่พ่อแม่ ต้องงัดแผนจัดการศึกษาฯ นั้นขึ้นมาดูอีกครั้ง เพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนรายงานประเมินการศึกษาประจำปีค่ะ
การเขียนรายงานประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว SAR (Self Assessment Report) เป็นรายงานที่ประเมินโดยพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้จัดการศึกษา ทั้งนี้เขตการศึกษาฯ จะส่งตัวอย่างและแบบฟอร์มมาให้ทางอีเมล์ เพื่อให้พ่อแม่ศึกษา และทำรายงานส่งภายในวันเวลาที่กำหนดค่ะ ซึ่งแบบประเมินนี้จะใช้แบบเดียวกันทุกระดับชั้น แต่ในรายละเอียดอาจแตกต่างกันตามแต่ละครอบครัว ขึ้นอยู่กับแผนจัดการศึกษาฯ ที่เคยส่งไปก่อนหน้านี้
การประเมินสำหรับระดับปฐมวัย หรืออนุบาลจะไม่ได้ประเมินตามกลุ่ม 8 สาระ แต่จะประเมินจากทักษะ 4 ด้านคือ ร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และด้านสติปัญญา หากมีด้านอื่นๆ เพิ่มเติมในแผนการศึกษาก็ต้องนำมาเขียนประเมินด้วยนะคะ ส่วนระดับประถม และมัธยม ต้องประเมินโดยยึด 8 กลุ่มสาระ และเพิ่มเติมตามกลุ่มประสบการณ์ได้
ครอบครัวไหนที่กังวลกับการเขียนรายงานประเมินผลฯ ขอให้สูดลมหายใจลึกๆ และลองลงมือทำดูก่อนค่ะ เพราะเพียงแค่อ่าน หรือดูตัวอย่างฟอร์มที่เขตฯ ส่งมาให้ อาจรู้สึกว่าทำไมดูยุ่งยาก ตารางอะไรเต็มไปหมด จริงๆ แล้ว ตารางเหล่านี้ ก็คือตารางเดียวกับตอนที่เราเขียนแผนฯ นั่นเองค่ะ แต่ในครั้งนี้ เราต้องมาให้คะแนนว่าเด็กๆ บ้านเรียนทำได้ตามเกณฑ์จากตารางที่ตั้งไว้หรือเปล่า มีอะไรควรปรับปรุงก็ใส่ข้อมูลลงไปตามจริงได้เลยค่ะ
รวบรวมร่องรอยการเรียนรู้
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในขั้นตอนประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ก็คือร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กๆ ค่ะ ซึ่งร่องรอยการเรียนรู้ มีทั้ง ภาพถ่ายขณะทำกิจกรรม ชิ้นงาน แบบฝึกหัดต่างๆ คลิปวิดีโอขณะเรียนรู้ทำกิจกรรม สิ่งเหล่านี้ต้องรวบรวม และส่งให้กับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อประกอบการประเมินผลด้วย
ระหว่างปีการศึกษา หากครอบครัวมีการจัดเก็บร่องรอยอย่างเป็นระบบ แยกตามรายวิชา หรือประเภทกิจกรรม ก็จะช่วยให้นำมาใช้ได้ง่าย เพราะแรกๆ อาจดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีร่องรอยการเรียนรู้เท่าไร แต่เมื่อจัดการศึกษาไปเรื่อยๆ จะพบว่าเด็กๆ มีชิ้นงาน แบบฝึกหัด รวมทั้งภาพถ่ายกิจกรรมขณะเรียนรู้ มากมายไปหมด หากจัดระเบียบให้ดีตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลาต้องนำมาใช้ประกอบการประเมินฯ ก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้มากเลยค่ะ
เตรียมตัวพบเจ้าหน้าที่ประเมินผลฯ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า รูปแบบการประเมินฯ ของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา อาจแตกต่างกันไป บางเขตฯ อาจนัดพบแต่ละครอบครัวที่บ้าน บางเขตอาจนัดให้ครอบครัวในสังกัด มาจัดนิทรรศการโชว์ผลงานที่เขตการศึกษาพร้อมๆ กัน หรือบางเขตฯ อาจให้ส่งรายงานและร่องรอย โดยไม่ต้องพบเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาด การประเมินผลฯ จึงมีอาจการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม
การเตรียมตัวเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่เขตฯ เพียงพ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูก ตามแผนการศึกษาฯ เด็กๆ ก็จะพร้อมสำหรับการประเมินฯ ได้ระดับหนึ่ง เพราะโดยทั่วไปเจ้าหน้าที่เขตฯ ก็มักทำการทดสอบตามแผนการศึกษาที่ครอบครัวได้ยื่นไว้อยู่แล้ว หากครอบครัวคิดว่าการประเมินฯ ใช้แบบทดสอบที่ไม่ตรงกับแผนการศึกษา ก็อาจพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เขตฯ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้
Related Courses
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
How to สอบอย่างไรให้เด็กสนุก ไม่มีลืม
การทดสอบเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ว่าเรามีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากน้อยแค่ไหน และการสอบนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่ ...
การติดตาม ปรับปรุง และผลการสะท้อนกลับ
การติดตามเพื่อพัฒนา ประเมินความก้าวหน้า และสะท้อนผลที่เกิดขึ้นรวมกัน เป็นการกำหนดวิธีในการติดตามผลจากการจัดกิจกรรมการ ...
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ และเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินวิทยฐานะ (PA)